xs
xsm
sm
md
lg

การสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระบวรอัฐิ และพระอัฐิในพระบรมราชจักรีวงศ์ในพระราชพิธีสงกรานต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สำหรับชาวบ้านประชาชน วันสงกรานต์ วันปีใหม่ของไทย เรามีธรรมเนียมประเพณีทำบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เชิญโกศกระดูกบรรพบุรุษมาบูชาและทำบุญให้ นอกจากนี้ก็ยังมีการสรงน้ำเถ้ากระดูกบรรพบุรุษด้วยน้ำอบน้ำปรุง

ธรรมเนียมของพระบรมราชจักรีวงศ์ในวันสงกรานต์ก็มิได้แตกต่างจากชาวบ้านประชาชนทั่วไป คือการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าและพระราชบุรพการีในราชวงศ์จักรี

พระราชพิธีสงกรานต์เริ่มต้นจากการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอพระสุลาลัยพิมาน หรือหอพระเจ้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวังก่อน

หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสรงน้ำพระบรมอัฐิและพระอัฐิที่หอพระธาตุมณเฑียร ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

ถัดไปมีพระราชพิธีสดับปกรณ์และทรงทอดผ้าคู่ถวายพระบรมอัฐิและพระอัฐิสองที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานในพระบรมมหาราชวัง

ถัดไปจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูลรายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชายังปูชนียสถานทั่วประเทศแล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าพระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระสัมพุทธพรรณี (พระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงหล่อขึ้น ณ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เมื่อทรงพระผนวชเป็นวชิรญาณภิกขุ) พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และพระพุทธเลิศหล้านภาไลย (พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเครื่องขนาดใหญ่สององค์ เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญ ปูชนียวัตถุและพระเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินหอพระนากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสดับปกรณ์และทรงทอดผ้าคู่ถวายพระบวรอัฐิ และพระอัฐิ พระราชบุรพการีสายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า

ในพระราชพิธีสดับปกรณ์ทั้งที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานในพระบรมมหาราชวังและที่หอพระนากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าคู่ มีธูปเทียนแพวางด้านบนผ้าคู่ พร้อม ขวดบรรจุน้ำปรุง ถวายพระสงฆ์ พร้อมสลากระบุพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชบุรพการีที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายทับธูปเทียนแพ ผ้าคู่นั้นเป็นผ้าขาวสองผืน ประกอบด้วยผ้านุ่งหนึ่งผืนและผ้าห่มหนึ่งผืน (โดยปกติในพระราชพิธีทางพุทธศาสนาพระเจ้าอยู่หัวจะถวายผ้าไตร) การถวายน้ำปรุงพระสงฆ์นั้นเปรียบเสมือนพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสรงน้ำพระบรมอัฐิและพระอัฐิของพระบรมราชบุรพการีด้วยพระองค์เองแล้ว

หลายคนอาจจะสงสัยว่าน้ำปรุงคืออะไร น้ำปรุงคือน้ำหอมแบบไทย ต่างจากน้ำอบไทยตรงที่เข้มข้นกว่ากลิ่นหอมติดทนนานกว่าและไม่เจือแป้งหินดินสอพอง

ส่วนการที่ถวายน้ำปรุงแต่พระสงฆ์จะทำให้พระสงฆ์ผิดศีลหรือไม่ เพราะศีลข้อเจ็ดในศีลแปดนั้นระบุไว้มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี มาลา ห้ามพระสงห์ลูบไล้เครื่องหอม ของหอม ควันอบต่างๆ ข้อนี้ยกเว้นสำหรับการใช้เพื่อเป็นยา และพระสงฆ์สามารถสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยน้ำอบน้ำปรุงถวายเป็นพุทธบูชาได้จึงมิใช่ปัญหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ธรรมเนียมในการเชิญพระสงฆ์สดับปกรณ์ในพระราชพิธีสงกรานต์ยังผิดแผกจากพระราชพิธีอื่นๆ ทั่วไป เพราะโดยปกติคณะสงฆ์จะนั่งเรียงลำดับตามสมณศักดิ์เป็นหลัก สมเด็จพระสังฆราชทรงนั่งในลำดับก่อนสมเด็จพระราชาคณะ ถัดไปจึงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง ไปตามลำดับ แต่ในพระราชพิธีสงกรานต์ พระสงฆ์ที่ทรงเชิญมาในพิธีสดับปกรณ์จะมีความเกี่ยวข้องกับพระบรมอัฐิ พระบวรอัฐิ และพระอัฐิในพระราชบุรพการี เช่น พระสงฆ์จากวัดประจำรัชกาล พระสงฆ์จากวัดที่ประดิษฐานพระอัฐิ พระสงฆ์จากวัดที่พระราชบุรพการีทรงสร้าง ปฏิสังขรณ์ หรืออุปถัมภ์ เป็นต้น

ในพระราชพิธีสงกรานต์ วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๗ ได้ทรงสดับปกรณ์และทรงทอดผ้าคู่ ประหนึ่งทรงสรงน้ำถวายพระบรมอัฐิ พระบวรอัฐิ และพระอัฐิ ถวายอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระราชบุรพการี ดังนี้

พระแท่นเศวตฉัตรชุดที่ 1 ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
ประดิษฐานพระบรมอัฐิและพระอัฐิ 18 พระองค์ ดังนี้


1. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระนามเดิมทองด้วง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ 1
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1

2. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระนามเดิม ฉิม รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี
วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2
3. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายทับ
วัดราชโอรสาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3

4. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระนามเดิม เจ้าฟ้ามงกุฎ
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4

5. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระนามเดิม เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5

6. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระนามเดิม เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ ไม่มีวัดประจำรัชกาล เพราะโปรดให้สร้างโรงเรียนแทน

7. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระนามเดิม เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7

8. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหดิล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระนามเดิม พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8

9. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระนามเดิม พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9

10. สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
พระนามเดิมทองดี ทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดประจำพระองค์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก

11. สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
พระนามเดิม ท่านผู้หญิงนาค จากราชินิกุล ณ บางช้าง พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
วัดรัชฎาธิษฐาน แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวง

12. สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
พระนามเดิม เจ้าฟ้าบุญรอด ทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และทรงเป็นพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรีเป็นวัดที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีทรงบริจาคพระราชทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์

13. สมเด็จพระศรีสุลาลัย
พระนามเดิมเจ้าจอมมารดาเรียม จากราชินิกุลศิริสัมพันธ์และ ณ พัทลุง พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรีเป็นนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระศรีสุลาลัย

14. สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
พระนามเดิม หม่อมเจ้าหญิงรำเพย ศิริวงศ์ พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดเทพศิรินทราวาสเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างถวายเป็นเครื่องบูชาพระคุณพระราชมารดา

15. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระนามเดิม พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชาธิวาส ภายใต้พุทธบัลลังก์ในพระอุโบสถ บรรจุพระบรมราชสรีรังคาร ทั้งยังมีตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งเดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ย้ายมาจากพระราชวังพญาไทมาทั้งหลังทรงอุทิศเป็นพุทธบูชาและพระราชกุศลถวายพระบรมราชชนนี เมื่อ พ.ศ. 2475

16. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
พระนามเดิม พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ย่า) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหดิล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระปัยยิกา (ย่าทวด) ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชาธิวาสมีพระสัมพุทธวัฒโนภาส ในพระอุโบสถ พระประธานองค์เดิมของวัด ใต้พุทธบัลลังก์บรรจุพระบรมราชสรีรังคาร

17. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
พระนามเดิม หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในพระอุโบสถมีพระพุทธอังคีรสเป็นพระประธานบรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคียงข้างพระราชสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

18. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
พระนามเดิม เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหดิล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย
วัดปทุมวนารามเป็นวัดประจำราชสกุลมหิดล พระราชสรีรางคาร ประดิษฐาน ณ สถูป ข้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม

พระแท่นเศวตฉัตรที่ 2 ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
ประดิษฐานพระอัฐิ 18 พระองค์


19. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระนามเดิม สังวาลย์ ทรงเป็นนักเรียนพยาบาลผู้ได้รับพระราชทานทุนจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าให้ไปทรงศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหดิล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาแห่งการพยาบาลไทย
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคาร ณ อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา สุสานหลวง

20. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระนามเดิม หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล พระธิดาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหดิล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชมาตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาแห่งการดนตรีคลาสสิคไทย
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคาร ณ อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา สุสานหลวง

21. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี
พระนามเดิม หยก พระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกและพระอัครชายา (หยก) เป็นพระโสทรเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นพระกุลเชษฐ์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรี
วัดระฆังโฆสิตาราม มีตำหนักแดงที่กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (วังหลังในรัชกาลที่ 1) พระราชโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ทรงถวาย นอกจากนี้ยังมีหอระฆังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างร่วมกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ถวายเป็นพุทธบูชา

22. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
พระนามเดิม แก้ว พระธิดาพระองค์ที่สองในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกและพระอัครชายา (หยก) พระชนนีในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด) ผู้ทรงเป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) เป็นวัดที่สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์

23. สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี
สันนิษฐานว่าพระนามเดิม สั้น หรือ มาก จากราชินิกุล ณ บางช้าง พระราชชนนีในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (ภรรยาหลวงของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) พระสัสสุ (แม่ยาย) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระอัยกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดอัมพวันเจติยาราม ที่อัมพวา สมุทรสงคราม เป็นนิวาสสถานเดิมที่ทรงอุทิศให้เป็นวัด

24. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่
พระนามเดิม เจ้าครอกฉิมใหญ่ หรือ หวาน ต่อมาทรงรับราชการเป็น เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ พระสนมเอกในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สิ้นพระชนม์ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงน่าจะอนุโลมเชิญพระสงฆ์จากวัดนี้มาในพระราชพิธีสดับปกรณ์

25. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ
พระนามเดิม แจ่ม พระราชธิดาพระองค์ที่ 5 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดดุสิดารามวรวิหาร แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่ทรงสถาปนาขึ้น

26. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี
พระนามเดิม เอี้ยง พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 เนื่องจากทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงน่าจะอนุโลมเชิญพระสงฆ์จากวัดนี้มาในพระราชพิธีสดับปกรณ์

27. สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
พระนามเดิม หม่อมเจ้าศิริวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาทรัพย์ พระราชชนกในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชปัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นราชสกุลศิริวงศ์
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เจริญพระชนม์ออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวัง โดยประทับที่วังท้ายวัดพระเชตุพนฯ (ซึ่งมี 5 วังด้วยกัน)

28. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
พระนามเดิม พระองค์เจ้าละม่อม พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ทรงเลี้ยงดูเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งทรงเป็นลูกกำพร้าแม่เนื่องจากสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องเรียก เสด็จยาย และทรงแต่งขาวถวายให้เมื่อคราวเสด็จยายเสด็จสวรรคต (ธรรมเนียมไทยแต่โบราณจะแต่งขาวไว้ทุกข์ให้เฉพาะญาติผู้ใหญ่หรือผู้มีพระคุณเท่านั้น) ทรงถือว่าเป็นผู้มีพระคุณเสมอเสมือนด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

29. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระโสทรกนิษฐภคินีเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุเพียง 8 พระชันษาด้วยอหิวาตกโรค
วัดมกุฏกษัตริยาราม สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์

30. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
พระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระโสทรานุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นราชสกุลจักรพันธุ์
วัดเทพศิรินทราวาส เป็นที่ตั้งของ “จาตุรนตอนุสสารี” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์

31. สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นพระโสทรานุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์
วัดเทพศิรินทราวาส เป็นที่ตั้งของ “ภาณุรังสีอนุสสร” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

32. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระโสทรเชษฐาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระปิตุลาธิบดี (ลุง) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (วัดสลัก) หรือวัดนิพพานาราม โปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในการบูรณะและพระราชทานนามว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”

33. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
พระราชธิดาพระองค์ที่ 24 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารใน “เสาวภาประดิษฐาน” สุสานหลวง

34. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเชษฐาธิราชในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นราชสกุลจักรพงษ์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารใน “เสาวภาประดิษฐาน” สุสานหลวง

35. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
มีพระนามลำลองว่า "เอียดเล็ก" พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

36. สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระโสทรกนิษฐภคินีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มกุฎราชกุมารพระองค์แรกของสยาม และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชปิตุจฉา (ป้า) ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

พระแท่นเศวตฉัตรที่ 3 ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
ประดิษฐานพระอัฐิ ประดิษฐานพระอัฐิ 18 พระองค์


37. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชาชนทั่วไปรู้จักในพระนาม พระนางเรือล่ม
วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

38. สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระสนมเอก (สกุลเดิม บุนนาค) พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นราชสกุลบริพัตร) พระปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

39. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี มีพระโสทรานุชาพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม มีศาลาบัณณรศภาคที่สร้างโดยทุนของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพรัตน์ร่วมกันกับพระราชโอรส พระราชธิดา เจ้าจอม และพระญาติ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม 15 ราย

40. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ต้นราชสกุลบริพัตร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารใน “สุขุมาลนฤมิตร์” สุสานหลวง

41. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารใน “สุนันทานุสาวรีย์” สุสานหลวง

42. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระโสทรานุชา (น้องชายร่วมอุทร) ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระโสทรเชษฐภาดา (พี่ชายร่วมอุทร) ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชปิตุลา (ลุง) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารใน “รังษีวัฒนา” สุสานหลวง

43. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารใน “รังษีวัฒนา” สุสานหลวง

44. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัววัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารใน “เสาวภาประดิษฐาน” สุสานหลวง

45. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระโสทรานุชา (น้องชายร่วมอุทร) ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระโสทรเชษฐภาดา (พี่ชายร่วมอุทร) ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชปิตุลา (ลุง) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรวัดเบญจมบพิตร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารใน “รังษีวัฒนา” สุสานหลวง

46. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชอนุชาร่วมพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารใน “เสาวภาประดิษฐาน” สุสานหลวง

47. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
วัดเบญจมบพิตรเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ

48. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นต้นราชสกุลจุฑาธุช
วัดเบญจมบพิตรเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

49. สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระราขภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและเป็นพระปิตุจฉาเธอในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารใน “เสาวภาประดิษฐาน” สุสานหลวง

50. พระชนก (เจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน) ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
เจ้าขรัวเงิน แซ่ตันเป็นพระภัสดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระโสทรเชษฐภคินีพระองค์รองในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) พระสัสสุ (พ่อตา) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชอัยกา (ตา) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดเขมาภิรตารามเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน

51. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาอ่วม (พิศลยบุตร) พระอัยกา (ปู่) ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชปัยกาฝ่ายพระบรมราชชนนี (ตาทวด) ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นราชสกุลกิติยากร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม บรรจุพระสรีรางคารพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ในอนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาอ่วมในรัชกาลที่ 5 ณ สุสานหลวง

52. พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ
พระนามเดิมหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ กับหม่อมเจ้าอับศรสมาน กิติยากร (ราชสกุลเดิม เทวกุล) พระราชชนกในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามบรรจุพระสรีรางคารพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ในอนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาอ่วมในรัชกาลที่ 5 ณ สุสานหลวง

53. หม่อมหลวงบัว กิติยากร พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ธิดาของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นหม่อมในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี (ยาย) ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดนรนาถสุนทริการามเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

54. สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
พระนามเดิม เปี่ยม จากราชินิกุล สุจริตกุล พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชนนีของพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 สามพระองค์คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี (ยาย) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปัยยิกา (ยายทวด) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วัดราชาธิวาส เป็นที่ตั้งของศาลาสุจริตกุล ประดิษฐานพระสรีรางคารของสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

พระแท่นเศวตฉัตรที่ 4 ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
ประดิษฐานพระอัฐิ 18 พระองค์


55. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
วัดโสมนัสวิหารเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส

56. สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
พระนามเดิม หม่อมเจ้าโสมนัส พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับเจ้าจอมมารดางิ้ว พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดโสมนัสวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเป็นพระราชอุทิศ

57. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย พระโสทรเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา

58. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พระนามเดิม พระองค์เจ้าจิตรเจริญ พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ทรงเป็นต้นราชสกุลจิตรพงศ์ ทรงเป็นสมเด็จครู นายช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

59. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์
วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์

60. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัลยา
วัดเทพศิรินทราวาส เป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี

61. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
พระราชโอรสพระองค์ที่ 44 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระปัยกา (ทวด) ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเป็นต้นราชสกุลยุคล
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีพระปรางค์สามยอดแบบลพบุรี บรรจุพระสรีรางคาร ในสุสานหลวง

62. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีพระปรางค์สามยอดแบบลพบุรี บรรจุพระสรีรางคาร ในสุสานหลวง

63. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีพระปรางค์สามยอดแบบลพบุรี บรรจุพระสรีรางคาร ในสุสานหลวง

64. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีพระปรางค์สามยอดแบบลพบุรี บรรจุพระสรีรางคาร ในสุสานหลวง

65. พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
พระนามเดิม หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์ เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน และเป็นพระอรรคชายาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีพระปรางค์สามยอดแบบลพบุรี บรรจุพระอังคาร ในสุสานหลวง

66. พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์
พระนามเดิม หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ พระธิดาพระองค์รองในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีพระปรางค์สามยอดแบบลพบุรี บรรจุพระอังคาร ในสุสานหลวง

67. พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี และเจ้าจอมมารดาจีน เข้ารับราชการฝ่ายในเป็นพระอรรคชายาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระนามเป็นพระวิมาดาเธอ แปลว่า แม่เลี้ยง ส่วนพระนามกรม "ปดิวรัดา" แปลว่า ภริยาที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม "วิมาดา" มีพระปรางค์สามยอดแบบลพบุรี บรรจุพระอังคาร ในสุสานหลวง

68. หม่อมน้อย ศิริวงศ์ ณ อยุธยา พระชนนีในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
หม่อมในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระราชชนนีในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระอัยยิกา (ยาย) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชปัยยิกา (ยายทวด) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดเทพศิรินทราวาสเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับหม่อมน้อย ศิริวงศ์ ณ อยุธยา พระชนนีในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

69. พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) พระชนกในสมเด็จพระศรีสุลาลัย
นามเดิม บุญจัน พระชนกของเจ้าจอมมารดาเรียม หรือสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าเมืองนนทบุรี
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) พระชนกในสมเด็จพระศรีสุลาลัย

70. คุณหญิงเพ็ง นนทบุรีศรีมหาอุทยาน พระชนนีในสมเด็จพระศรีสุลาลัย
คุณหญิงเพ็ง สืบเชื้อสายมุสลิมจากสุลต่านสุลัยมาน ชาห์แห่งสงขลา มาจากราชินิกุลศิริสัมพันธ์และ ณ พัทลุง พระชนนีของเจ้าจอมมารดาเรียม หรือสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับคุณหญิงเพ็ง นนทบุรีศรีมหาอุทยาน พระชนนีในสมเด็จพระศรีสุลาลัย

71. พระชนกชูในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
มีอาชีพเป็นช่างทอง เป็นบุตรชายของคหบดี ชื่อ ชุ่ม แต่ไม่ทราบนามของมารดา ท่านชุ่มมีเชื้อสายสืบมาจากผู้ดีเก่าแถวตึกขาว มีนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดอนงคาราม

72. พระชนนีคำในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระชนนีคำในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อาจจะสืบเชื้อสายมาจากลาว เพราะตามที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงสันนิษฐาน เพราะชอบกินข้าวเหนียวมีนิวาสสถานเดิมใกล้วัดอนงคาราม

ลำดับพระสงฆ์สดับปกรณ์ที่หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

73. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
พระนามเดิม บุญมา พระอนุชาธิราชร่วมพระราชชนกและพระราชชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดชนะสงคราม หรือวัดตองปุ เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงบูรณะปฏิสังขรณ์

74. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์
พระนามเดิม จุ้ย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดบวรมงคลราชวรวิหาร (วัดลิงขบ) แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์

75. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอรุโณทัย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ธิดาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดไพชยนต์พลเสพ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงสร้าง

76. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามพระองค์ที่สอง
วัดหงส์รัตนาราม เป็นวัดประจำพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเคยประทับที่วัดนี้เมื่อทรงผนวชและทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ด้วย

77. กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
พระนามเดิม พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ มาจากพระนามยอร์ช วอชิงตันที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียก พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าคุณจอมมารดาเอม กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นกรมพระราชวังบวรพระองค์สุดท้าย
วัดราชผาติการาม (วัดส้มเกลี้ยง) เชิงสะพานซังฮี้หรือสะพานกรุงธนบุรี เป็นวัดที่ทรงสร้างโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

นอกจากนี้ ในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงสดับปกรณ์ถวายพระอัฐิพระบวรราชวงศ์ (เจ้านายสายวังหน้า) อีก 40 พระองค์ โดยเป็นพระสงฆ์จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 8 รูป วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 7 รูป วัดสุทัศนเทพวราราม 7 รูป วัดบวรนิเวศวิหาร 6 รูป วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 6 รูป และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 6 รูป

ดังนั้นในพระราชพิธีสงกรานต์ปีนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระบวรอัฐิ และพระอัฐิ พระราชบุรพการีในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์รวมทั้งสิ้น 117 พระองค์

ปีนี้เป็นปีรัตนโกสินทร์ศก 243 อันเป็นปีที่ 243 นับจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 การพระราชพิธีสงกรานต์ ทรงสดับปกรณ์ ทรงทอดผ้าคู่ ถวายน้ำปรุงพระสงฆ์ นั้นจัดขึ้นเพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระราชบุรพการีในวาระดิถีขึ้นศกใหม่ของไทยจึงเป็นอุดมมงคลฤกษ์ และเป็นการแสดงเครื่องหมายแห่งกตัญญุตาธรรมที่ทรงรักษาไว้มั่นคงสืบไป




แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1. เพจพิกุลบรรณศาลา https://www.facebook.com/Pikullibrary/posts/pfbid026WnAaB6toDQRwBcka1th9J1a1XM7LtHtXFTgC83ppdBs1281pHRaufdbeeLYSAial
2. หนังสือศาสนพิธีในพระราชพิธี เล่ม 2 เขียนโดยกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2550 พิมพ์ที่โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร
3. หนังสือราชสกุลวงศ์ เขียนโดยกรมศิลปากร พ.ศ. 2554 พิมพ์ที่โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร