“วัดมหาธาตุ” เป็นชื่อวัดที่มีอยู่มากที่สุดในเมืองไทย ซึ่งหลายต่อหลายวัดต่างก็มีของดีที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป
สำหรับ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร” หรือ ที่หลายคนนิยมเรียกกันว่า “วัดมหาธาตุท่าพระจันทร์” ถือเป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญคู่เมืองหลวง กรุงเทพมหานคร
ย้อนรอยวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ เดิมชื่อว่า “วัดสลัก” สันนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท (พระอนุชาธิราชของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑) มาพบวัดนี้ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ สร้างถาวรวัตถุขึ้นมาใหม่ และสถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็น “พระอารามหลวงแห่งแรก” ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงขอพระราชทานพระอารามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า “วัดนิพพานนานาม”
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนิพพานาราม จึงโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์” จากนั้นพระองค์ทรงประชุมพระราชาคณะให้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม และจัดให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมที่วัดแห่งนี้ จึงโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร” ตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า
เมื่อ พ.ศ.2346 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้เรียกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหารว่า “วัดมหาธาตุ” ด้วยเหตุว่านามวัดดังกล่าวเป็นหลักของพระนครที่มีทุกราชาธานีในประเทศนี้ จึงควรต้องมีในพระนครอมรรัตนโกสินทร์ อีกทั้งพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระมณฑป ซึ่งเป็นพระศรีรัตนมหาธาตุก็มีอยู่ในพระอาราม และเป็นพระอารามที่สถิตสมเด็จพระสังฆราชเหมือนวัดมหาธาตุที่กรุงเก่า จึงพระราชทานนามพระอารามแห่งนี้ใหม่ในรัชสมัยของพระองค์ว่า “วัดมหาธาตุ”
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เพื่อปฎิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงโปรดให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”
9 จุดไฮไลต์ไม่ควรพลาด
ปัจจุบันวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และของดีหลากหลายให้กราบสักการะและเที่ยวชมกัน
และนี่ก็คือ 9 จุดไฮไลต์แห่งวัดมหาธาตุท่าพระจันทร์ที่ผู้มาเยือนวัดแห่งนี้ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
1.“พระมณฑป” สถาปัตยกรรมที่กรมพระราชวังบวรฯ สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประธานของวัด โดยพระองค์ได้นำเครื่องไม้ที่จะใช้สร้างปราสาทในวังหน้ามาสร้างพระมณฑปแห่งนี้ แต่ต่อมาถูกไฟไหม้ พระองค์จึงให้สร้างพระมณฑปใหม่ให้เป็นหลังคาทรงโรงอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
2.”พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ” ประดิษฐานอยู่ในพระมณฑป ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระอัฐิ พระบรมราชชนก และพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท การมีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีความหมายว่า “วัดนี้คือวัดมหาธาตุ เป็นวัดสำคัญประจำเมือง”
3.”พระอุโบสถ” ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นพระอุโบสถใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยฐานสูง หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ใบเสมาสลักเป็นภาพนารายณ์ทรงสุบรรณ อยู่ด้านในพระอุโบสถ ส่วนด้านนอกตามมุมทั้ง 4 สลักเป็นภาพครุฑยุดนาค
4.”พระศรีสรรเพชญ์” พระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ทรงให้พระยาเทพรังสรรค์ปั้น แม้เคยถูกอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ก็ได้รับการบูรณะปิด ทองใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3
5.”หลวงพ่อหิน” ประดิษฐานในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปหินศิลาแลงเก่าแก่ เคยเป็นพระประธานองค์เดิม เมื่อครั้งยังชื่อวัดสลัก ครั้นเมื่อสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ก็ได้อัญเชิญจากโบสถ์เก่า มาประดิษฐานยังพระวิหารหลวง
6.”แผ่นศิลาจารึกดวงชะตา” (พิชัยสงคราม) อยู่ในพระวิหาร เป็นอักษรสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นหลักฐานสำคัญเก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีหลักฐานปรากฏปีที่สร้าง พศ.2228 เป็นเครื่องแสดงว่าปีนี้ (2566) วัดมหาธาตุฯ มีอายุ 338 ปี แต่เดิมติดอยู่ที่ฐานพระประธาน ต่อมาได้ถูกอัญเชิญไปไว้ในสระทิพยนิภาเป็นเวลาประมาณ 33 ปี และนำมาเก็บไว้ในพระวิหารมาจนถึงปัจจุบัน
7.”พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท” มีขนาดเท่าครึ่ง อยู่ในลักษณะประทับยืนบนเกย ภายในฐานบรรจุเนื้อดินซึ่งเก็บจากแผ่นดินที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จกรีธาทัพเข้ามาทั้งสิ้น 28 แห่ง
8.“ต้นพระศรีมหาโพธิ์” หรือ “โพธิ์ลังกา” มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี สมณทูตไทยนำมาจากอนุราธปุระ ศรีลังกา เมื่อ พ.ศ.2357 ในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นหน่อพระศรีมหาโพธิ์ จากต้นเดิมครั้งพุทธกาล ในวันสำคัญทางศาสนา จะมีพิธีห่มผ้าโพธิ์ลังกาต้นนี้
9.“วิหารโพธิ์ลังกา” เป็นพระวิหารน้อย สร้างในสมัยรัชกาลที่๔ และเคยเป็นตำหนักที่ประทับเมื่อครั้งทรงพระผนวช
นอกจากนี้วัดมหาธาตุท่าพระจันทร์ยังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ อีก อาทิ พระแท่นบรรทมสมเด็จพระบวรฯ พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ได้ทำการสังคายนาในสมัยรัชกาลที่ ๑ (พศ.2331) และ ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ ภายในพระวิหาร, เจดีย์ พระปรางค์ และพระพุทธรูปเรียงราย ในเขตพระระเบียง เป็นต้น
จัดใหญ่งานสมโภชน์ 338 ปี
วันนี้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ มีอายุครบ 338 ปี ทางวัดมหาธาตุฯ จึงร่วมมือกับหลายภาคส่วน จัดงาน “บุญสมโภชครบรอบ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์พระอารามหลวง กรุงเทพฯ” ขึ้น ในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 66 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 เวลา 07.00 – 22.00 น. เพื่อบูรณปฎิสังขรณ์วัดและพระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระปฐมบรมราชชนก คือพระราชบิดาของรัชกาลที่ 1 และพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาทฯ หรือวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ ผู้ทรงสถาปนาวัด
ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ พิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชพระอารามและถวายเพล, การบรรยายและเสวนาพระธรรมทูต, พิธีเจริญจิตตภาวนา สวดมนต์ข้ามปี (31 ธ.ค.66-1 ม.ค.67), นิทรรศการพิเศษ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ, การประดับไฟ แสง สี ตระการตาภายใต้แนวคิด “การเดินทางด้วยแสงแห่งปัญญา : JOURNEYING THROUGH LIGHT OF WISDOM”, การแสดงดนตรีไทยร่วมสมัยประกอบแสงไฟ, การแสดงทางวัฒนธรรม อย่างเช่นดนตรีไทย, โขน, รำไทย, ลิเก
กิจกรรม ตลาดวันวาน ย่านวังหน้า ร.ศ.241, กิจกรรมคิดถึงวันวาน ย่านวังหน้า : ลิ้มรสอาหารอร่อยแบบไทยโบราณ, แพทย์แผนไทย นวดบำบัด ตำรับยาโบราณ พยากรณ์ดวงชะตา เลือกซื้อของเก่าของสะสม Workshop & DIY และสอยกัลปพฤกษ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ทางวัดมหาธาตุฯ ยังเปิดให้ร่วมบริจาคทรัพย์ 339 บาท รับพระสมเด็จอรหัง 1 องค์ พระสำคัญสุดยอดความศักดิ์สิทธิ์แห่งสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ สนามหลวง โดยสมเด็จพระสังฆราชสุก (สุกไก่ เถื่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 4 ในรัชกาลที่ 1 เป็นผู้ริเริ่มสร้างเมื่อกว่าร้อยปีก่อน เป็นที่ระลึกเพื่อการบูชา (จัดส่งถึงบ้าน) ทุกบาทมีค่า เป็นมหากุศล ร่วมบุญได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมโภชพระอาราม เลขที่บัญชี 905-0-22750-4