xs
xsm
sm
md
lg

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินผู้เสียสละ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ประชาชนมักมีภาพจำเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระปรีชาสามารถโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าขาย จนทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่าเจ้าสัว โปรดสร้างวัด และมีพระราชนิยมศิลปะแบบจีน ดังปรากฎให้เราเห็นมาจนปัจจุบัน

ในอีกด้านหนึ่งที่ประชาชนไม่ค่อยรับทราบคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเสียสละเป็นอย่างยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระทัยเด็ดขาดเที่ยงธรรม และทรงเสียสละประโยชน์สุขของส่วนพระองค์และของครอบครัวเพื่อแผ่นดินและสถาบันพระมหากษัตริย์

การที่ได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแม้พระราชมารดาจะเป็นเพียงเจ้าจอมมารดาเรียม มิได้เป็นพระภรรยาเจ้า ก็เพราะอเนกนิกรสโมสรสมมติ ด้วยความเหมาะสมแก่บ้านเมืองในเวลานั้น ด้วยทรงพระปรีชาสามารถรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เต็มที่ ได้ราชการ เป็นคุณแก่แผ่นดิน

การที่จะได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ก็เป็นไปด้วยความเหมาะสม และเสียงเป็นเอกฉันท์ของบรรดา เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ ก็ประชุมกันลงมติกราบบังคมทูลเชิญเสด็จเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็พระราชทานพระเกียรติและทรงดำรงพระองค์อย่างรอบคอบ เพื่อให้พระราชอนุชาคือเจ้าฟ้ามงกุฎหรือวชิรญาณภิกขุได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อจากพระองค์ ดังนี้

ประการแรก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงยอมมีพระภรรยาเจ้าเลยแม้สักองค์เดียว มีแต่เจ้าจอมมารดาที่เป็นสามัญชนรับราชการถวาย อันทำให้พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอิสริยศักดิ์เพียงชั้นพระองค์เจ้า ซึ่งต่ำกว่าชั้นเจ้าฟ้า เช่น เจ้าฟ้ามงกุฎพระราชอนุชา ที่มีพระราชประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น

ประการสอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงค้าสำเภา ได้กำไรก็ทรงเก็บไว้ในพระคลังข้างที่ เรียกว่าเงินถุงแดง ไม่พระราชทานมรดกให้พระราชโอรส พระราชธิดา (อันเป็นเหตุในเชื้อสายราชสกุลในรัชกาลที่ 3 มีฐานะทางเศรษฐกิจแค่พอพยุงฐานะได้ ไม่ได้ร่ำรวย) แต่ทรงเก็บเงินเหล่านี้เอาไว้เป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำเงินนี้มากู้ชาติบ้านเมืองเมื่อคราววิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนมากว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นแก่ชาติบ้านเมืองมากกว่าครอบครัวของพระองค์เอง

ประการสาม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแสดงพระราชปรารภใดๆ ในเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ แต่การที่ทรงสร้างวัดถวายวชิรญาณภิกขุและพระราชทานนามว่าวัดบวรนิเวศวิหารนั้นก็บ่งชัดถึงพระราชประสงค์ เพราะคำว่า บวร นั้นมีนัยยะหมายถึงบวรสถานมงคลหรือวังหน้าได้ เมื่อสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเกิดเหตุการณ์เอนกนิกรสโมสรสมมติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อบรรดาเจ้านาย ขุนนาง นำโดยขุนนางในสายราชินิกูลบุนนาค ได้ประชุมกันลงมติให้กราบบังคมทูลเชิญวชิรญาณภิกขุให้ทรงลาพระผนวชมาเสวยสิริราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4

แม้ก่อนจะสวรรคต ก็พระราชทานปัจฉิมโอวาทเตือนสติด้วยความทรงห่วงในชาติบ้านเมืองเอาไว้ว่า

“การต่อไปภายหน้า การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

ขอจงชาวไทยร่วมกันรำลึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 31 มีนาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น