xs
xsm
sm
md
lg

ศรัทธาที่ไม่ปัญญา : ที่มาของความงมงาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ศรัทธาหรือความเชื่อเป็นมูลเหตุแห่งความสนใจ และเรียนรู้ศาสตร์สาขาต่างๆ โดยเฉพาะคำสอนศาสนา ปรัชญา และศาสตร์ลี้ลับต่างๆ ซึ่งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้น และผลที่เกิดขึ้นจากที่ต่างๆ ที่ว่านี้มีทั้งจริงและไม่จริง จึงทำให้ยากต่อการยอมรับ โดยไม่มีเงื่อนไขและในขณะเดียวกัน ก็ยากที่จะปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าไม่จริง

ในบรรดาศาสตร์ลี้ลับต่างๆ เหล่านี้ โหราศาสตร์และศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการพยากรณ์ในทำนองเดียวกับโหราศาสตร์ได้เกิดและดำรงอยู่ได้ยาวนานนับพันปีก็ด้วยแรงแห่งศรัทธาของผู้ที่มีศรัทธาและศึกษาเรียนรู้แล้วนำมาใช้บริการพยากรณ์แก่ผู้สนใจสืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลายาวนานหลายพันปีต่อเนื่องกันมา

ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่าศาสตร์เหล่านี้มีประโยชน์แก่ผู้คนในสังคม และยังเป็นที่ต้องการของผู้คนในสังคมปัจจุบัน มิฉะนั้นศาสตร์ที่ว่านี้คงหายสาบสูญไปนานแล้ว

ถึงแม้ว่าศาสตร์ที่ว่านี้เป็นที่ต้องการของผู้คนในสังคม และมีคนส่วนหนึ่งเชื่อถือศรัทธา แต่ก็มีคนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา และมองดูคนที่เชื่อศรัทธาว่างมงาย กลายเป็นเหยื่อของกระบวนการต้มตุ๋นหลอกลวง

ดังนั้น เมื่อใดที่คนสองกลุ่มนี้ขัดแย้งทางความคิดออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกัน ก็จะเกิดความขัดแย้งกัน ดังที่เกิดขึ้นกับคนสองฝ่ายเกี่ยวกับปีชง การสะเดาะเคราะห์ และการถือฤกษ์ยามซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ปรากฏทางสื่อต่างๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งดังกล่าว ผู้เขียนในฐานะเป็นชาวพุทธและเป็นโหรสมัครเล่ม มีความเห็นว่าทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยขัดแย้งกันเพราะมองสิ่งเดียวกัน แต่เห็นต่างมุมกัน โดยที่ฝ่ายที่มีความศรัทธาในศาสตร์หมอดูมองว่าพิธีกรรมที่นำมาใช้ตามกระบวนการของศาสตร์เป็นการช่วยบรรเทาทุกข์ และคลายความกังวลให้กับผู้ที่ดวงไม่ดี หรือชะตาตกอับเป็นการทำดีเพื่อช่วยคน ส่วนผลตอบแทนที่ได้รับจากการทำพิธีกรรมเกิดจากความสมัครใจมิได้บังคับ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นการหลอกลวงแสวงหาประโยชน์จากการมอมเมา ทำให้คนโง่และหาประโยชน์จากความโง่ของคน

ถ้าฟังจากความคิดเห็นของทั้งสองฝ่าย จะเห็นได้ว่าแต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นจากความเชื่อของตนคือ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองทำถูกต้อง และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็เชื่อว่าความคิดของตนเองที่ว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ถูกต้องเป็นสิ่งถูกต้อง โดยสรุปไม่มีฝ่ายใดพูดผิดไปจากความเชื่อของตน แต่จะถูกตามความเป็นจริงหรือไม่เป็นคนละเรื่องกัน

ผู้เขียนไม่มีความรู้เกี่ยวกับโหราศาสตร์จีน แต่พอจะมีความรู้โหราศาสตร์ไทย จึงพอจะแยกแยะได้ว่าส่วนไหนเป็นตำรา ส่วนไหนแฝงเข้ามา

โหราศาสตร์ไทยแบ่งออกเป็น 2 ภาคคือ

1. ภาคคำนวณ ซึ่งว่าด้วยดวงดาวและการโคจรของดาวแต่ละดวง แต่กฎเกณฑ์ในโหราศาสตร์ไม่ตรงกับดาราศาสตร์ยุคใหม่ ในส่วนของศูนย์กลาง (จักรวาลในประเด็นที่ว่า โหราศาสตร์ถือว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาลดาวทุกดวง แม้กระทั่งดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก ในขณะที่ดาราศาสตร์ถือว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล แต่ลักษณะการโคจรและอัตราการโคจรคล้ายคลึงกัน

2. ภาคพยากรณ์ ว่าด้วยความหมายของดาวและอิทธิพลของดาวแต่ละดวง ซึ่งกระทบต่อบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคน ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมสถิติโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างการโคจรของดวงดาว และการเกิดขึ้นของคนแล้วนำมาเป็นข้อมูลในการพยากรณ์

นอกจากนี้ โหราศาสตร์ภาคพยากรณ์ได้นำเอาวิชาทักษะพยากรณ์จากประเทศศรีลังกา เข้ามาประยุกต์ใช้กับการพยากรณ์ด้วย

ส่วยพิธีกรรมมิได้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาโหราศาสตร์โดยตรง แต่ถูกนำเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์อันเกิดจากความวิตกกังวลของเจ้าชะตาที่มีเคราะห์กรรม เพื่อให้เกิดความสบายใจ ส่วนจะแก้ได้จริงหรือไม่รับประกันได้ยาก และถ้ามองในแง่ของกฎแห่งกรรมด้วยแล้วบอกได้เลยว่าแก้ให้ดำเป็นขาว ขาวเป็นดำไม่ได้ แต่ทำให้เจือจางหรือเบาลงได้ ในทำนองเดียวกันกับเอาน้ำมาละลายเกลือหรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ทำความดีเพื่อชะลอการให้ผลของกรรมชั่วนั่นเอง

โดยนัยนี้ถ้าการแก้ดวงชะตาโดยการทำดีเพิ่มขึ้น และทำให้กรรมชั่วมีโอกาสให้ผลน้อยลงก็ยอมรับได้ แต่ถ้าการแก้ดวงโดยการทำอกุศลกรรมก็ไม่น่าจะมีผลในทางบวกแก่เจ้าชะตา ถ้าจะมีก็แค่คนแก้ดวงเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น