หนุ่มเมืองจันท์ หรือ ตุ้ม สรกล อดุลยานนท์ เพื่อนของผมเพิ่งโพสต์เฟซบุ๊กว่า “แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน” อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น-BBL แชมป์ มีคนแชร์ไปหลายพันคน
เนื้อหาโดยสรุปคือ แบงก์ได้กำไรมหาศาลในขณะที่ประชาชนย่ำแย่จากวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทำให้แบงก์พาณิชย์ได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างเงินฝากกับเงินกู้เยอะ โพสต์นั้นตั้งใจตำหนิแบงก์ชาติโดยตรงว่าทำไมไม่ตระหนักในเรื่องนี้ปล่อยให้มีเรื่องอย่างนี้ได้อย่างไร แบงก์รวยอื้อซ่าแต่ประชาชนย่ำแย่
ตุ้มเพื่อนผมเป็นสื่อคนดังอยู่แล้วเขียนหรือโพสต์อะไรก็เป็นเงินเป็นทอง เรื่องนี้จึงกลายเป็นไวรัลมาก จนกระทั่งตอนดึก 4 ทุ่มคืนวันอาทิตย์เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาโพสต์อัดแบงก์ชาติว่า จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้นไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยและ SME อีกด้วย
ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสมเพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ
เป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีฉะแบงก์ชาติผ่านโซเชียลมีเดีย
คนที่รู้เรื่องนี้ดีบอกมองอย่างนั้นไม่ได้ บรรยง พงษ์พานิช กูรูเศรษฐกิจบอกว่า บทความของหนุ่มเมืองจันท์เข้าใจผิดเยอะเลยครับ…ยกตัวอย่าง BBL ถ้ากำไร 42,000 ล้านใช้ทุน 530,000 ล้าน ROE<8% มูลค่าตลาดแต่ <300,000 ล้าน price to book <0.6 นับว่าแย่มากๆ เท่ากับตลาดกำลังบอกว่ามึงเลิกกิจการเถอะชำระบัญชีแล้วเอาเงินมาแบ่งให้ผู้ถือหุ้นดีกว่าเยอะ
เพจที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้อย่างลงทุนแมนก็อธิบายว่าธนาคารไม่ได้มีอัตรากำไรดีอย่างที่คิด..- ธนาคารใหญ่มีส่วนทุนของธนาคารประมาณ 5 แสนล้านบาทกำไรปีละ 4 หมื่นล้านบาทคิดเป็น ROE หรือ return on equity ปีละไม่ถึง 10% ด้วยอัตรานี้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมหรือบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย
แต่ผมรู้ว่า เป้าหมายที่หนุ่มเมืองจันท์ “ชง” เพื่อให้เศรษฐา “ตบ” ก็คือ เพื่อบอกว่าตอนนี้เศรษฐกิจกำลังแย่ เพื่อจะปูทางไปสู่การออกให้เข้าเงื่อนไขในการกู้มาแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้
สื่อเคยนำเสนอโดยอ้างแหล่งข่าวจากแบงก์ชาติเอาไว้ว่า จากตัวบ่งชี้หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจไทยที่สำคัญยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งจากรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มยังฟื้นตัวต่อเนื่องและไตรมาส 3 ปี 2566 เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 ปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นเดียวกับตัวเลขการจ้างงานที่พบว่าตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวต่อเนื่องสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เพิ่มขึ้น
“มองว่ามีความจำเป็นน้อยโดยเฉพาะการกู้เงินเพื่อแจกยิ่งไม่จำเป็นเพราะภาคการบริโภคก็ยังขยายตัวอัตราการว่างงานก็ต่ำไม่ใช่วิกฤตแน่นอนวิกฤตคือมี shock ยิ่งใหญ่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงเช่นปี 2541 จีดีพีต่ำสุดในช่วงวิกฤตติดลบ 7.6% ธุรกิจล้มละลายกว้างขวางคนตกงานมากมายต่างชาติหอบเงินกลับค่าเงินตกต่ำฮวบฮาบระบบสถาบันการเงินอ่อนแอไม่ฟังก์ชัน เป็นต้น” แหล่งข่าวจากแบงก์ชาติเคยให้ความเห็นผ่านสื่อเอาไว้ก่อนหน้านี้
การออกมาโจมตีแบงก์ชาติแบบขานรับกันของสื่อคนดังและนายกรัฐมนตรีสอดคล้องกับช่วงเวลาที่กฤษฎีกาส่งความเห็นกลับมา ซึ่งจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังพยายามสื่อออกมาให้เข้าใจว่ากฤษฎีกาไฟเขียว โดยบอกว่า กฤษฎีกายืนยันรัฐบาลสามารถออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านเพื่อมาแจกคนละ 10,000 ได้
แต่ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกาบอกว่ากฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าไฟเขียว แต่บอกว่าออก พ.ร.บ.ได้ถ้าอยู่ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2563 มาตรา 53 และ 57
มาตรา 53 ระบุว่าการกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะให้กระทรวงการคลังกระทำได้โดยต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงินระยะเวลาในการกู้เงินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น
เงินที่ได้รับจากการกู้เงินให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลังเว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ส่วนมาตรา 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ระบุว่าการกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคมและเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว
เมื่ออ่านสาระสำคัญในมาตรา 53 คือกู้ได้ในกรณีเร่งด่วนจำเป็น โดยไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ทันเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศมาตรา 57 บอกว่าทำได้เฉพาะที่ใช้จ่ายตามแผนงานและโครงการที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ขณะที่การก่อหนี้ใดๆ ของรัฐบาลเพื่อการใช้จ่ายที่มีคุณภาพมีประโยชน์คุ้มค่าซึ่งตามมาตรา 7 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐที่ระบุไว้ว่าการกู้เงินการลงทุนการตรากฎหมายการออกกฎหรือการดําเนินการใดๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐต้องพิจารณาความคุ้มค่าต้นทุนและผลประโยชน์เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วยซึ่งกรณีก็มองว่าไม่เข้าข่ายแน่นอน
รัฐบาลเพิ่งเอางบประมาณเข้าสภาฯ ไปก่อนหน้านี้จะบอกว่าไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ทันหรือ
ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจจนจำเป็นเร่งด่วนขอออก พ.ร.บ.เงินกู้หรือไม่รัฐบาลนี้ก็พยายามบอกว่าวิกฤตเพื่อให้เข้าเงื่อนไขมาตรา 53 แต่แบงก์ชาติกลับบอกว่ายังไม่วิกฤตเศรษฐาก็เลยออกมาฉะแบงก์ชาติเรื่องขึ้นดอกเบี้ยข่มไว้อย่าให้ซ่า
แต่คำถามคือถ้าวิกฤตและเร่งด่วนจริงทำไมรัฐบาลไม่ออกเป็น พ.ร.ก.ล่ะจะออกเป็น พ.ร.บ.ที่ต้องผ่านสภาฯ ทำไมรัฐบาลไม่กล้าออก พ.ร.ก.ด้วยตัวเอง แต่โยนเรื่องนี้ไปให้สภาฯ ในการผ่านร่าง พ.ร.บ.เพราะรู้ว่าเรื่องนี้มีความเสี่ยงใช่หรือไม่
อย่างไรเรื่องนี้ทำได้ไม่ง่ายอย่างที่รัฐบาลคาดหรอกเพราะสุดท้ายผมเชื่อว่าจะไม่ผ่านด่านวุฒิสภาหรือถ้าผ่านไปได้ก็เจอด่านต่อไปศาลรัฐธรรมนูญแน่ๆ
แต่ถึงตอนนี้เชื่อว่า รัฐบาลจะเดินหน้าลุยถั่วไปจนสุดทาง ถ้าสุดท้ายตกม้าตายที่วุฒิสภาหรือที่ศาลรัฐธรรมนูญรัฐบาลก็บอกว่าได้ทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้แล้ว วุฒิสภาหรือไม่ศาลรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชนไป
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan