xs
xsm
sm
md
lg

ดักทาง เศรษฐา-พท. ยืมมือศาลคว่ำแจกเงินดิจิทัล !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน - จุลพันธ์  อมรวิวัฒน์
เมืองไทย 360 องศา

กลับมาพูดถึงอื้ออึงอีกครั้ง สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต คนละหนึ่งหมื่นบาท หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบคำถามของฝ่ายรัฐบาลว่าสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ โดยเนื้อหาสำคัญที่เป็นคำตอบ ก็คือ เป็นคำตอบในแบบกว้างๆ นั่นคือ สามารถดำเนินการได้ หากอยู่ในกรอบและเงื่อนไขทางกฎหมาย

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวเมื่อวันที่ 8 มกราคม ถึงความคืบหน้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับข้อกฎหมายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า โครงการสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยมีข้อสังเกตว่าต้องเป็นไปตามกฎหมาย คือ ต้องเป็นสถานกาณ์ที่เศรษฐกิจวิกฤต ตามมาตรา 57, ความคุ้มค่าของโครงการ และการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน หลังจากนี้ต้องดูว่าจะดำเนินการการรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างไร

เขากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เป็นเพียงการพูดคุยกันเบื้องต้น คาดว่า จะมีการประชุมเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตภายในสัปดาห์หน้า และเมื่อประชุมเสร็จ เลขาฯ คณะกรรมการกฤษฎีกา จะช่วยตีความ และสรุปว่า ต้องมีข้อสังเกตและแนวทางต่อไปอย่างไร โดยขณะนี้ ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เกือบเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่า ใช้เวลาอีกไม่นาน ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ ร่าง พ.ร.บ. จะเสร็จ โดยในเนื้อหาก็เป็นไปตามกฎหมาย

จากนั้น เขาก็ได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าวิกฤต พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน หลายฝ่ายมองตรงกันว่า ควรดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว และจะพยายามให้ถึงที่สุด เพื่อให้เงินถึงมีประชาชนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ หลังจากนี้ ก็เดินหน้าตามวันที่และขั้นตอน พร้อมย้ำว่า ผมมั่นใจในโครงการนี้มาตลอด

นายจุลพันธ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สามารถออก พ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาทได้ แต่มีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะมาด้วย ในเรื่องของให้ปฏิบัติตาม มาตรา 53 และมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.วินัย ในเรื่องของความคุ้มค่า เพราะจะต้องมีการประเมินผลได้ทั้งก่อนและหลังโครงการ ในเรื่องของกลไกที่จะเป็นไปตามข้อกฎหมายตาม มาตรา 53 คือ ต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต จนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ ซึ่งก็เป็นภาระหน้าที่ของทางกระทรวงการคลัง แล้วก็เป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย จะดำเนินการให้ครบถ้วน

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ซึ่งก็คงจะต้องพิจารณาสิ่งที่จะเกิดต่อจากนี้ และคงจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการนโยบาย เพื่อเชิญทุกฝ่ายมา รวมถึงเลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการให้นำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนทราบถึงคำตอบ สรุปความเห็น และควรจะดำเนินการต่ออย่างไร จากนั้นคณะกรรมการก็จะต้องมีมติว่า จะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ที่ทำได้ โดยยังพยายามยืนยันว่า กรอบเวลาจะต้องเป็นไปตามกรอบเดิม คือ เป้าหมายเดิมในเดือน พ.ค. ณ ขณะนี้ ยังไม่มีเหตุให้เลื่อน

เมื่อถามว่า โครงการดังกล่าวจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กลไกของดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่โครงการสงเคราะห์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยกลับไปสู่ระดับการเติบโตที่เต็มศักยภาพ นี่คือ จุดมุ่งหมายของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาคำตอบของกฤษฎีกาอย่างละเอียดแล้ว ยังมองไม่เห็นตรงไหนที่บอกว่าให้สามารถดำเนินได้ เห็นแต่บอกว่า “ทำได้หากอยู่ในกรอบกฎหมาย และเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด” อะไรประมาณนั้น ไม่ใช่บอกว่า ให้ออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทได้เลย

ทีนี้ เมื่อพิจารณาเงื่อนไขทางกฎหมายที่ว่านั้น ก็ต้องบอกว่ารัฐบาลนั้น “รอดยาก” โอกาสฝ่าด่านไปได้แทบไม่มี โดยเฉพาะ มาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ตอนหนึ่งระบุไว้ชัดว่า

“เฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน”

คำถามก็คือ เวลานี้บ้านเมืองเกิด “วิกฤต” หรือไม่ และสอง “ไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน” หรือไม่

คำตอบแรก หากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้วเวลานี้บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตอย่างแน่นอน ทุกอย่างกำลังฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ หลังจากผ่านวิกฤตโควิดมาเมื่อสองสามปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน ล่าสุด ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ก็เพิ่งแถลงว่า จีดีพีปีนี้คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.1 ด้วยซ้ำไป แม้ว่าอาจะต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 3.6 แต่ก็ถือว่าโตขึ้นกว่าปีที่แล้ว

อีกคำถามก็คือ ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทันนั้น ก็ไม่น่าจะใช่อีก เพราะอายุรัฐบาลนี้เข้ามา 4-5 เดือนแล้ว และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ก็เพิ่งผ่านสภาวาระแรกไปเมื่อสองสามวันก่อนนี่เอง ก็ไม่ปรากฏการตั้งงบประมาณในส่วนนี้แต่อย่างใด และหากบอกว่าวิกฤต แล้วทำไมไม่ออกเป็น พ.ร.ก.ก่อนหน้านี้ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

เอาเป็นว่า นโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” หัวละหมื่นบาทของรัฐบาลที่ นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทยน่าจะ “แท้ง” แน่ เพราะดูแล้วไม่ว่ามองมุมไหนยังมองไม่ออกว่าจะไปต่อได้อย่างไร เนื่องจากติดเงื่อนไขทางกฎหมายอย่างชัดแจ้ง แต่หากยังดึงดันต่อไปมันก็ “เสี่ยงคุก” กันทั้งคณะ จะกล้าเสี่ยงกันหรือไม่

สำหรับสามด่านหลักที่ต้องฝ่าออกไป เริ่มจากมติคณะรัฐมนตรี ที่หากเห็นชอบก็ต้องรับผิดชอบคุกร่วมกัน จากนั้นก็เป็นด่านรัฐสภา ที่ต้องมีส.ว.ร่วมพิจารณาด้วย และเชื่อว่าระหว่างนั้นจะต้องมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยแน่นอน และเชื่อว่า ถึงตอนนั้นยังเชื่อว่าศาลฯ น่าจะวินิจฉัยออกมาทางลบมากกว่าบวก

ดังนั้น หากมองในอีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนกับว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหวัง “ยืมมือศาลรัฐธรรมนูญ” ในการล้มโครงการแจกเงินดิจิทัลหรือเปล่า เพราะเหมือนรู้อยู่แล้วว่าปลายทางจะออกมาแบบไหน โดยที่สามารถอ้างกับประชาชน และฐานเสียงของตัวเองได้อีกว่า “ทำเต็มที่แล้ว” แต่ถูกสกัดทุกทาง จนต้องล้มไปในที่สุด จะมาไม้นี้หรือเปล่า !!


กำลังโหลดความคิดเห็น