“สมชัย” ชี้ กฤษฎีกาตีตรา “ลับ” ไม่ฟันธงเงินกู้ 5 แสน ล. กู้ได้หรือไม่ได้ ใครเจื้อยแจ้วทำได้ทำต่อ อาจเจอคุก “ทิดศรี” ฮึ่ม! ระวังไม่มีแผ่นดินอยู่ ยกมาตรา 53 ชี้ชัด แจกเงินดิจิทัล ผิดกฎหมาย หากขืนดันทุรังมีทางเดียว คือ เจอกันที่ศาล
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (8 ม.ค. 67) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า
“สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า หนังสือตอบจาก กฤษฎีกา ไปยัง กระทรวงการคลัง เรื่อง พ.ร.บ. เงินกู้ 500,000 ล้านบาท มีการตีตรา “ลับ”
“ลับ” แปลว่าอะไร ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการ เอกสารลับ หมายถึงเอกสารใดก็ตามที่ “เปิดเผยทั้งหมดหรือบางส่วนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์แห่งรัฐ”
ดังนั้น เรื่องนี้ แม้บางคนรู้ บางคนมีสำเนาเอกสารในมือ ก็เอามาเปิดเผยไม่ได้ ต้องรอ กระทรวงการคลัง หรือ รมว.คลัง มาแถลงเอง
แต่ถ้า กฤษฎีกา เขาบอกเพียงอธิบายข้อขัดข้อง ตาม มาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัย การเงินการคลัง ไม่ได้ฟันธงว่ากู้ได้หรือไม่ได้ แล้วมีคนมาเจื้อยแจ้วว่า ไม่มีอะไรขัดข้อง ทำได้ ทำอยู่ ทำต่อ ระวังเจอข้อหา Fake News จำคุก 5 ปี หรือ ปรับ 100,000 บาท ตามที่โฆษกรัฐบาล คุณชัย ขู่ฟอดๆ เมื่อวันก่อนนะครับ”
ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
“แม้กฤษฎีกาก็ไม่น่าจะกล้าให้ความเห็นไปอย่างอื่นได้ เพราะมาตรา 53 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เขียนไว้ชัด
“มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหาร หนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน
กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงาน หรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น
เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมาย บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
อย่าคิดว่ามีอำนาจรัฐ แล้วคิดจะทำอะไรก็ได้ เดี๋ยวจะไม่มีแผ่นดินอยู่นะครับ
แจกเงินดิจิทัล 5 แสนล้าน ผิดกฎหมาย หากยังดันทุรัง มีทางเดียว คือ เจอกันที่ศาลเท่านั้น”
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งหนังสือตอบกลับมาแล้ว โดยยืนยันว่า สามารถออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ โดยเป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าวมาใช้ในโครงการ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตั้งข้อสังเกตในบางประเด็น เช่น การออกกฎหมายกู้เงิน จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 และมาตรา 57 รวมทั้งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งประเด็นนี้ได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป
ทั้งนี้ คาดว่า สัปดาห์หน้าจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณาข้อหารือในประเด็นกฎหมายดังกล่าว โดยจะมีตัวแทนเลขาธิการกฤษฎีกาที่ร่วมเป็นคณะกรรมการ มาพิจารณาตรวจข้อกฎหมาย สรุปข้อประชุม และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ามีข้อสังเกต และแนวทางการดำเนินการอย่างไร
“เมื่อมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ แล้ว ก็จะมีการสรุปความชัดเจนว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนั้น กระทรวงการคลัง ได้ยกร่างไปบางส่วนแล้วในเบื้องต้น เรื่องนี้ ดำเนินการไม่ช้า" นายจุลพันธ์ กล่าว
ขณะที่ประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น รมช.คลัง กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเพียงแต่พิจารณาว่าขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังหรือไม่ และข้อสังเกตว่าต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤตจนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ รวมทั้งความคุ้มค่าของโครงการ ต้องมีการประเมินผลก่อนและหลัง และรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านที่ต้องดูว่าจะมีกลไกอย่างไร เพื่อให้ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หรือหน่วยงานใดเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมการชุดใหญ่ต้องพิจารณาต่อ