เมืองไทย 360 องศา
หลังจาก “กลืนน้ำลาย” จากเคยยืนยัน “จะไม่กู้สักบาท” ใช้วิธีบริหารเงินงบประมาณ เปลี่ยนมาเป็น ออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแจกประชาชนราว 50 ล้านคน พร้อมกับมีเงื่อนไขหลายอย่าง เรียกว่า “ไม่ตรงปก” ไปไกลมาก อย่างไรก็ดี การกู้เงินดังกล่าวมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเสี่ยงผิดกฎหมาย ทำให้ “เสี่ยงคุก”กันระนาว ตั้งแต่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปจนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ หากร่วมลงมติเห็นชอบให้ออกกฎหมายดังกล่าว
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากเหตุผลในการออกกฎหมายกู้เงินจำนวนมากดังกล่าว ถือว่าสุ่มเสี่ยงมาก โดยเฉพาะหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมไม่อยู่ในภาวะ “วิกฤต” ก็ทำให้มีคำถามว่า จะทำได้หรือไม่ เนื่องจากมีกฎหมายห้ามไว้อย่างเข้มงวด ตัวอย่างก็คือ
การกู้เงินเป็นไปตามมาตรา ๕๓ ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑
"พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ" หมวดว่าด้วย "การก่อหนี้และการบริหารหนี้" มาตรา ๔๙, ๕๒ และ ๕๓ ระบุว่า
มาตรา ๔๙ การก่อหนี้และการบริหารหนี้สาธารณะ และหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและอยู่ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ และอํานาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐผู้กู้
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประเทศและของหน่วยงานของรัฐ
โดยต้องกระทําด้วยความรอบคอบ และคํานึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชําระหนี้ การกระจายภาระการชําระหนี้ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศและของหน่วยงานของรัฐผู้กู้
มาตรา ๕๒ การกู้เงินของรัฐบาล และการค้ำประกันการชําระหนี้ของหน่วยงานของรัฐโดยรัฐบาล ให้ปฏิบัติตามที่บัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะโดยเคร่งครัด
การก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่เป็นไปตาม มาตรา ๔๙ รัฐบาลจะค้ำประกันการชําระหนี้นั้น ไม่ได้
มาตรา ๕๓ การกู้เงินของรัฐบาล นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ
ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ
และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน
กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดําเนินแผนงาน หรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น
เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้ โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
นี่คือหนึ่งใน “ด่านหิน” ที่เสี่ยงถึงขั้น “ติดคุก” กันเลยทีเดียว เพราะหากพิจารณาตาม มาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ปี 2561 ที่กำหนดเอาไว้ว่า “กรณีต้องมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหา “วิกฤตของประเทศ”
แต่คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ ตอนนี้ประเทศกำลัง “เกิดวิกฤต” หรือไม่ หากวิกฤตจำเป็นเร่งด่วน ทำไมไม่ออกเป็น “พระราชกำหนด” ทำไมต้องรอออกเป็นพระราชบัญญัติ และรอเวลาถึงเดือน“พฤษภาคม” ปีหน้า
อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้ หากสังเกตจะเห็นว่าคนสำคัญในรัฐบาลตั้งแต่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่างเน้นย้ำให้เห็นว่า “ประเทศกำลังเกิดวิกฤต จำเป็นต้องกระตุ้น”
“มีคำถามว่าตอนนี้เราอยู่ในวิกฤต หรือไม่ได้อยู่ในวิกฤต มีวิกฤตและความจำเป็นที่ต้องทำหรือไม่ ถ้าบอกว่ามีวิกฤตและความจำเป็นคือ เรามีจีดีพีติดลบ แบบนั้นคงไม่ต้องทำ เพราะจีดีพี ยังไม่ติดลบ แต่ 9-10 ปี ที่ผ่านมา จีดีพีแค่ 1.9 %ต่อปี เราไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศอื่นโตกว่าเรา 2 เท่า คู่แข่งของไทยทั้งประเทศเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีการเติบโต สมัยก่อนอาจจะอยู่ในโลกของเราคนเดียวได้ แต่ปัจจุบันอยู่ในโลกการแข่งขัน ถ้าไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ วันหนึ่งอาจไม่มีใครอยากมาลงทุนที่ไทย รัฐบาลเชื่อว่า เราอยู่ในวิกฤตที่ต้องการการกระตุ้น แม้คนอื่นจะบอกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องใช้เงินขนาดนี้ กระตุ้นแค่คนจนที่มีรายต่ำจริงๆก็พอ หากเถียงกันไปอย่างนี้ก็ไม่จบ”
นั่นเป็นคำพูดบางช่วงบางตอนของ นายเศรษฐา ทวีสิน ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมเอเปกที่นั่น พร้อมๆกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการนายกรัฐมนตรี ในเวลานี้ ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว กับคำถามที่ว่าเวลานี้ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ ก็น่าจะมีคำตอบตรงกันว่า “ไม่น่าจะใช่” หากเทียบเคียงกับกรณีที่วิกฤตที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีน้ำท่วมในปี 54 สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยมีการออก พ.ร.ก.กู้เงินมาแล้ว หรือล่าสุดก็ “วิกฤตโควิด” ที่ถือว่าเป็นวิกฤตระดับโลก ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เพราะทุกอย่าง“หยุดนิ่งสนิท” จำเป็นต้องกู้มาเยียวยา คลี่คลายบรรเทาทุกข์ แต่หากเทียบกับในปัจจุบันนี้ ที่ทุกอย่างเริ่มฟื้นตัว อัตราภาวะเศรษฐกิจ ก็ขยายตัว ตามตัวเลขที่ นายเศรษฐา นำมาอ้างก็ขยายตัวปีละร้อยละ 1.8-1.9 และปีหน้า ก็ยังมีการคาดการณ์กันไว้ว่า จะขยายตัวถึงกว่าร้อยละ 3
คำพูดที่อ้างว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะ “วิกฤต” มันจึงดูไม่สมเหตุสมผล แต่อีกมุมหนึ่งมันไม่ต่างจากการ “ปั่น” เหมือนมีเจตนามิชอบบางอย่าง เพียงเพื่อสร้างเหตุผลเทียมในการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล หัวละหมื่นบาท โดยอ้างว่าหาเสียงเอาไว้
แต่ขณะเดียวกันมันก็ “ย้อนแย้ง” เพราะหากวิกฤตเร่งด่วนจริงๆ ทำไมไม่ออกเป็นพระราชกำหนด ทำไมต้องรออีกราว 6-7 เดือน คือ เดือนพฤษภาคม ซึ่งการออกพระราชบัญญัติ ต้องใช้เวลา และที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว บังเอิญว่า วุฒิสภาหมดวาระตามบทเฉพาะกาลพอดี ไม่มีสิทธิ์ร่วมโหวตนายกฯ ใช่หรือไม่
อย่างไรก็ดี งานนี้หากพิจารณากันทุกมุมแล้ว อาจจะเชื่อมโยงในแบบมองข้ามไม่ได้ก็คือ เป็นการหาทางลงแบบเนียนๆ เพราะรู้อยู่แล้วว่าในที่สุดโครงการ “แจกเงินดิจิทัล” มันไปไม่รอด ต้องถูกตีตกอยู่ดี โดยเฉพาะปลายทาง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ด่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปจนถึงวุฒิสภา ส่วนเดือนพฤษภาคมนั้น มันก็อาจได้จังหวะเปลี่ยนตัวเป็น “ลูกสาวเทวดา” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย “ตัวจริง” เข้ามาแทน หมดเวลา“ขัดตาทัพ” แล้วหรือเปล่า !!