xs
xsm
sm
md
lg

10 พ.ย.วันชี้ชะตา เศรษฐารอด-ไม่รอด !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน - จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
เมืองไทย 360 องศา

สำหรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คงรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยกับอีกวันสองวันที่กำลังมาถึง เพราะอาจกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญสำหรับอนาคตทางการเมืองของเขาก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องจับตา ก็คือ วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่อาจเป็นวันชี้ขาดเลยก็ว่าได้

อย่างที่รู้กันดีว่าในวันดังกล่าว เป็นกำหนดการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน จะแถลงรายละเอียดโครงการเติมเงิน หนึ่งหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือที่เรียกว่า “เงินดิจิทัล” ซึ่งในวันนั้นก็น่าจะรู้แล้วว่า “ที่มา” ของเงินที่นำมาใช้ในโครงการนั้นมาจากไหนกันแน่ หลังจากไม่ชัดเจนจนมีการคาดเดากันไปต่างๆ นานา มานานหลายเดือนแล้ว อย่างน้อยก็ช่วงสองเดือนที่เขาเป็นรัฐบาล

สำหรับโครงการ “แจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท” ให้กับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปทุกคน โดยไม่ต้องพิสูจน์ความจนหรือรวย โดยคาดว่า จะมีจำนวนราว 56 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาล จนเกิดคำถามว่า รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหนมาแจก เนื่องจากเมื่อตอนหาเสียง ทั้งตัวนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ต่างประกาศว่าจะไม่กู้ ไม่ก่อหนี้ หรือสร้างภาระหนี้สาธารณะ

แม้ว่าจะมีการดักคอว่า จะเป็นการ “กู้โดยอ้อม” ผ่านทางธนาคารออมสิน แต่ในที่สุดก็ติดปัญหาเรื่องกฎหมายห้ามเรื่องการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของธนาคาร หรือหากให้ทำได้ ก็คงไม่ได้เต็มจำนวนกว่าห้าแสนล้านบาทแน่นอน คงได้แค่ราวแสนล้านบาทเท่านั้น

จนล่าสุด มีการฟันธงเข้ามาอีกว่า จะใช้เงินงบประมาณประเภท “ตั้งงบผูกพัน” สองถึงสี่ปี และจะมีการแบ่งจ่ายแบบ “สองงวด” หรือ “สี่งวด” อะไรประมาณนี้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และ อดีต กมธ.งบประมาณ ปี 2566 โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงโครงการแจกเงินดิจิทัลว่า หากใช้เงิน 130,000 ล้านบาท แจกเป็นเงินดิจิทัลปี 67 แท้จริงแล้ว คือ กู้ 100,000 ล้าน และจากประมาณการรายได้เพิ่ม อีก 30,000 ล้านบาท

ข่าวที่ว่า เงินดิจิทัล 560,000 ล้าน ที่มีข่าวว่า จะตั้งเป็นงบประมาณแผ่นดินแบบผูกพัน 4 ปี หารสี่ ก็จะเท่ากับ 140,000 ล้าน ปรับลดจำนวนคนเล็กน้อย อาจตกอยู่ที่ปีละ 130,000 ล้านบาท ตัวเลขนี้ ตรงกับยอดที่ ครม.เศรษฐา อนุมัติตามแผนการคลังระยะปานกลาง ที่เข้าที่ประชุม ครม. เมื่อ 13 กันยายน 2566 พอดีเป๊ะๆ

ในแผนดังกล่าวที่จะใช้เป็นกรอบในการตั้งงบประมาณประจำปี 3-4 ปีจากนี้ มีการเพิ่มวงเงินงบประมาณ ปี 67 จาก 3.35 ล้านล้านบาท เป็น 3.48 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 130,000 ล้านบาท โดยมาจากการกู้เพิ่ม 100,000 ล้าน และจากประมาณรายได้เพิ่ม 30,000 ล้านบาท

เท่ากับความพยายามหาเงินโดยให้ทบทวนรายการใช้จ่ายงบประมาณของทุกส่วนราชการ เช่น จะรีดไขมันส่วนเกิน จะซื้ออาวุธเท่าที่จำเป็น จะประหยัดรายจ่ายฟุ่มเฟือยนั้นไม่ได้เงินเพิ่มแม้แต่บาทเดียว เพราะไม่มีใครยอมให้ ทางออกที่ดูดี ให้พอเห็นฝีมือคือ ทำเป็นงบประมาณผูกพันแค่ 2 ปี คือ ปี 67 และ 68 ปีละ 260,000 ล้านบาท เท่ากับแจกเป็น 2 งวดๆ ละ 5,000 บาท เพราะเท่ากับมีแหล่งที่มาของเงินที่มาจากการประหยัดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ไม่ใช่เอาแต่กู้เป็นหลัก แจก 2,500 บาท 4 ปี แค่ลมพัดเอื่อยๆ แจก 5,000 บาท 2 ปี ยังลมพัดแรงบ้าง แม้ไม่เป็นพายุหมุน ห้ามไม่แจก เขาไม่ฟัง ก็ขอให้แจกแบบมีฝีมือบ้าง อย่าให้คนพูดว่า คิดใหญ่ ทำเป็น ทำได้แค่นี้เองหรือ

ดังนั้น ไม่ว่าจะแจกแบบไหน จะเอาเงินมาจากไหน กู้หรือไม่กู้ วันที่ 10 พฤศจิกายน ก็คงรู้เรื่องแล้ว ก็อย่างที่บอกว่าแล้วว่า นโยบาย“แจกเงินดิจิทัล” หัวละหมื่นบาทนั้น ถือว่าเป็นนโยบาย“เรือธง”ของรัฐบาล ของพรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน และถือเป็นนโยบายหลัก ซึ่งประชาชนตั้งตารอ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนสักเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง“ที่มา”ของเงินยังอ้ำอึ้ง

แม้แต่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายนี้ คือ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยังพูดไม่ออกบอกไม่ถูก จากเดิมที่เคยมีกำหนดประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ถูกเลื่อนแบบไม่มีกำหนด จนล่าสุดมีกำหนดวันที่ 10 พฤศจิกายน โดย นายเศรษฐา จะเป็นคนแถลงด้วยตัวเอง

ก่อนหน้านี้ มีผลสำรวจออกมาว่าชาวบ้านส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการแจก “แบบถ้วนหน้า” ไม่ต้องแยกรวยจน ซึ่งมันก็กลายเป็นแรงกดดันกลับเข้ามาหารัฐบาลอีกครั้ง เพราะหากแจกทุกคนตามที่เคยหาเสียงเอาไว้ ก็ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ราว 5.6 แสนล้านบาทดังกล่าว ปัญหาก็คือ จะเอาเงินมาจากไหน

ทำให้เวลานี้ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายที่คัดค้าน และสนับสนุนโครงการนี้ต่างก็เฝ้ารอว่าในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ นายกรัฐมนตรีจะแถลงออกมาแบบไหน มีความชัดเจนหรือไม่ หากไม่ชัดเจน หรือไม่มีความคืบหน้าในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องหลัก เช่น ที่มาของเงิน ใช้งบจำนวนเท่าไหร่ จะแจกแบบรวดเดียว หรือว่าแบ่งจ่ายเป็นงวด รวมไปถึงจะใช้ “แอปฯ แบบไหน” แจกเมื่อไหร่ ทุกอย่างต้องมีคำตอบให้ชัดเจน หากไม่เคลียร์รับรองว่า นายเศรษฐา และพรรค “เพื่อไทยเละแน่”

ขณะเดียวกัน เมื่อถึงตอนนั้นหากไม่เคลียร์ นั่นย่อมหมายถึงอนาคตทางการเมืองของ นายเศรษฐา ทวีสิน อีกด้วย ว่าจะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้ต่อไปหรือไม่ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก หากบอกว่า อนาคตของเขาขึ้นอยู่กับการแถลงในวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ว่าจะออกมาอย่างไร และอย่าได้แปลกใจที่เขาต้องหาเสียงสนับสนุนจากหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล มีการนัดทานข้าวกันในเย็น วันที่ 8 พฤศจิกายน ก่อนที่จะมีการแถลงผลงาน 60 วันรัฐบาล ทางหนึ่งเหมือนกับการ “เร่งอวดผลงาน” แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็เหมือนกับว่า มีอะไรก็ต้องรีบคว้าเอาไว้ก่อนหรือเปล่า !!


กำลังโหลดความคิดเห็น