xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ให้กำลังใจ “สุริยะ” หลังลดค่ารถไฟฟ้า 2 สาย พร้อมจี้อย่าลืมรายงานความโปร่งใสให้ประชาชนรับทราบด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสมชัย ศรีสุทธิยากร โพสต์เฟซบุ๊กชื่นชม สุริยะ รมว.คมนาคม หลังปรับลดค่ารถไฟฟ้า 2 สายสำเร็จ พร้อมจี้ ชี้แจงความโปร่งใสให้ประชาชนได้รับทราบหลังพบว่าทั้ง 2 สายขาดทุนทุกวัน หวั่นอนาคตรัฐวิสาหกิจจะแบกหนี้อื้อ

จากกรณีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (16 ต.ค. 2566) ว่า ตามที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท (นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย) ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรก ตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียง

ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยนำร่อง 2 โครงการ คือ 1. โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 16 สถานี และ 2. โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายธานีรัถยา) ระยะทาง 26 กม. จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายนครวิถี) ระยะทาง 15 กม. จำนวน 4 สถานี

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นรถไฟฟ้า 20 บาท จี้ให้ชี้แจงเกี่ยวกับความโปร่งใส่ของนโยบายดังกล่าว โดยอดีต กกต.รายนี้ได้ระบุข้อความว่า

“รถไฟฟ้า แดง ม่วง 20 บาท

12 กันยายน 2566 วันแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา ผมเคยชมคุณสุริยะ รมว.คมนาคม ไปแล้วรอบหนึ่ง ว่าเป็น MVP ของการแถลงนโยบาย จากการที่บอกว่าจะลดราคารถไฟฟ้า 2 สายให้เหลือ 20 บาท ภายใน 3 เดือน ทั้งๆ ที่ในเอกสารนโยบายไม่มีการระบุเรื่องดังกล่าวไว้เลย

16 ตุลาคม 2566 แค่เดือนเดียวจากวันแถลงนโยบาย รถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีม่วง ของ รฟม. และสายสีแดง ของ รฟท. ก็ลดราคาตามที่แถลง จึงต้องให้เครดิต คุณสุริยะ เป็นรัฐมนตรีที่มีผลงานมากที่สุด อีกรอบหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ความโปร่งใสในการดำเนินตามนโยบายดังกล่าว ควรชี้แจงต่อประชาชนด้วย ดังนี้

1. ทราบว่ารถไฟฟ้า 2 สายดังกล่าว ปัจจุบันมีการขาดทุนตกวันละ 7 ล้านบาท ในกรณีที่ลดราคาลง แม้คาดว่าอาจทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ได้ประมาณการตัวเลขที่อาจต้องขาดทุนเพิ่มขึ้น เป็นวันละเท่าไร รวมทั้งปีเท่าไร และรัฐต้องชดเชยอย่างไรบ้าง

2. หากให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งเป็นผู้แบกภาระเอง ในกรณีที่รัฐบาลอยากให้ลดราคา ในอนาคตข้างหน้าจะเกิดภาวะหนี้สะสม แบบ ขสมก.ที่รัฐบาลมาแล้วไป แต่ทิ้งหนี้ไว้กับรัฐวิสาหกิจหรือไม่

3. นอกจากการลดราคา รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุนแฝงที่เกินปกติในรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง หากสามารถลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ การขาดทุนย่อมลดน้อยลง

4. รัฐบาลควรกำหนดกรอบเวลาในการประเมินผล เช่น 3 เดือน 6 เดือน แล้วรายงานต่อประชาชน เพื่อดูว่าการดำเนินการดังกล่าว สมควรดำเนินการต่อหรือปรับเปลี่ยนให้มีราคาที่เหมาะสม

ให้กำลังใจคุณสุริยะ แต่ขอความโปร่งใสและความชัดเจนด้วยจะดียิ่ง”
กำลังโหลดความคิดเห็น