“ธีระชัย” โต้คำชี้แจงเพื่อไทยแจกเงินดิจิทัล ชี้ แก้เศรษฐกิจโตช้าต้องเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ไม่ใช่สร้างหนี้เพื่อดันตัวเลขจีดีพีแบบฉาบฉวย ชี้ เงื่อนไขจำกัดการใช้จะทำให้เกิด “ตลาดส่วนลด” มีคนทำนาบนหลังรัฐบาลนับแสนล้านบาท เตือนแก้กฎหมายขยายเพดานหนี้ จะเป็นประเพณีให้รัฐบาลต่อไปทำตามเพื่อกู้เงินมาสร้างคะแนนนิยม แนะกฤษฎีการีบแจ้งรัฐบาลผิดวินัยการเงิน ไม่ต้องไปลุ้นในสภา
วันที่ 12 พ.ย. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล โต้แย้งคำชี้แจงของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับโครงการแจกเงินประชาชนผ่านดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาท มีรายละเอียดดังนี้
พรรคเพื่อไทยชี้แจงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต รูป 1
เศรษฐกิจไทยโตช้า คาดว่า ปีนี้จะโตเพียง 2.6%
- 10 ปีที่ผ่านมา ไทยโตเฉลี่ย 1.9% ช้ากว่าเพื่อนบ้าน
- หนี้ครัวเรือนสูงถึง 91% ต่อ GDP
- ตัวชี้วัดเศรษฐกิจด้านการอุปโภคบริโภค-การผลิตต่ำลง
ผมแนะนำ มีคนเถียงได้ว่า เศรษฐกิจไทยโตช้า สาเหตุเพราะความสามารถในการแข่งขันลดลง เทียบกับเพื่อนบ้าน
การที่รัฐบาลจะกู้หนี้สาธารณะ เพื่อดันตัวเลข จีดีพี แต่ไม่เน้นโครงการที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันนั้น ย่อมไม่เป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ
แต่เป็นการแก้แบบฉาบฉวย ตรงกับที่คุณหญิงสุดารัตน์วิจารณ์ “กู้มาแจก ใครก็ทำได้ ไม่ต้องใช้ฝีมือ”
รูป 2
- เป้าหมายเพิ่ม GDP จากโตเพียง ~ 2% เป็น 5% ต่อปี
- ประเทศอื่นเริ่มกระตุ้นแล้วเช่นกัน อาทิ ฮ่องกงแจกคูปอง = 13,000 บาท ใช้ใน 6 เดือน ญี่ปุ่นใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ = 3 ล้านล้านบาท
อาจมีคนทักท้วงว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดุลงบประมาณของฮ่องกง ส่วนใหญ่เกินดุล จนรัฐบาลมีเงินสะสมมากมาย
ฮ่องกงจะคืนเงินสะสมไปให้ประชาชนบ้าง ก็เป็นเรื่องสมควร
ทำนองเดียวกับสิงคโปร์ ที่คืนรายได้ที่เก็บเกิน ให้แก่ประชาชนเป็นครั้งคราว
แต่ดุลงบประมาณของรัฐบาลไทย ปีนี้ขาดดุล 7 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มจะขาดดุลมากขึ้น จึงไม่มีเงินสะสม ที่จะเอามาคืนให้ประชาชน
ส่วนญี่ปุ่นนั้น ที่จะแจกเงิน ก็เป็นรัฐสวัสดิการ
หนี้สาธารณะของฮ่องกง 38% ของจีดีพี
หนี้ของญี่ปุ่น 264% ก็จริง แต่ธนาคารชาติญี่ปุ่นเป็นผู้ซื้อหนี้ของรัฐบาลเอาไว้ 43% คือ พิมพ์เงินเยน ให้รัฐบาลใช้
และดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ก็อยู่ที่ระดับศูนย์มานาน เพิ่งจะยอมให้ขยับขึ้น
สรุปแล้ว สถานการณ์คลัง แตกต่างกัน
รูป 3
- ประชาชนได้สิทธิในการใช้จ่าย ใช้ใน 6 เดือนภายในอำเภอตามภูมิลำเนา
- ให้ใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค
- พัฒนาต่อยอดเป้าตัง ใช้ Blockchain
- มีมาตรการ e-Refund เสริมการกระตุ้น
- และมีกองทุนเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่
ผมขอเตือนว่า ยิ่งตั้งเงื่อนไขมาก ห้ามเอาไปชำระหนี้ ห้ามจ่ายค่าโรงเรียนลูก ห้ามจ่ายค่าขนมลูก ห้ามใช้จ่ายในเดือนที่ 7 เป็นต้นไป ยิ่งจะทำให้เกิดตลาด “ส่วนลด”
ถ้าตัวกลางคิดส่วนลด 20% ก็เท่ากับรัฐบาลสร้างธุรกิจให้คนกลุ่มนี้ นับแสนล้านบาท “ทำนาบนหลังรัฐบาล”
ส่วนกองทุนเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ นั้น ไม่ได้อยู่ในโครงการที่หาเสียงตั้งแต่ต้น
ถ้าจะทำโครงการ แต่เฉพาะส่วนนี้ 1 แสนล้านบาท ก็จะดีกว่า
อนึ่ง สำหรับโปรโมชั่นว่า “พัฒนาต่อยอด “เป๋าตัง” ใช้ Blockchain”
พรรคเพื่อไทยควรจะชี้แจงด้วยว่า กรณีจะใช้ Blockchain ไปต่อยอด “เป๋าตัง” นั้น
- ผู้เขียนโปรแกรม ซูเปอร์แอพ จะเป็น บริษัทเอกชน หรือธนาคารกรุงไทย?
- ธนาคารกรุงไทยยินยอมให้เชื่อมกับแอป “เป๋าตัง” โดยมีเงื่อนไขอย่างไร?
- กรณีถ้าหากถูกแฮ็ค ถูกขโมยข้อมูล ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?
รูป 4
- เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับ-ทุกพื้นที่ลงทุนประกอบอาชีพได้
- กระตุ้นการลงทุน-การผลิตสินค้าทั้งประเทศ
ในรูป 3 ก็บอกอยู่แล้วว่า รัฐบาลจะให้ประชาชนใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค และไม่เห็นว่าจะมีเงื่อนไขหรือวิธีการใด ที่จะชักจูงให้ประชาชนนำเงินนี้ไปลงทุนประกอบอาชีพ
ส่วนความหวังว่า ภาคธุรกิจจะบูมการลงทุนเพื่อผลิตสินค้า ต้องตอบคำถามว่า จะมีความเป็นไปได้จริงหรือ? กว่าบริษัทจะตั้งหลัก บูมการลงทุน ซื้อวัตถุดิบ ก็หมดเวลาหกเดือนไปแล้ว
รูป 5
- เศรษฐกิจจะเติบโตจากการกระตุ้น
- และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินเพดาน 70%
รัฐบาลที่กู้หนี้สาธารณะมาแจกเพื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งไม่ได้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประชาชนนั้น อาจถูกวิจารณ์ว่า ใครก็ทำได้ ไม่ต้องใช้ฝีมือ
ต่อไป เมื่อเข้าปีสุดท้าย ก่อนยุบสภา ก็อาจกลายเป็นประเพณี รัฐบาลใช้เสียงข้างมาก ยกระดับเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP
ขึ้นเป็น 80% 90% 100% ก็ได้
แล้วก็แจกเงินซ้ำสอง ซ้ำสาม ซ้ำสี่ เพื่อความนิยมทางการเมือง ก็ได้
ประชาชนก็จะชอบ เพราะได้เงินวันนี้ ส่วนจะต้องร่วมกันใช้หนี้ ก็เป็นวันหน้า
ทั้งนี้ กรณีมีนักกฎหมายที่ให้ความเห็นว่า ใช้พระราชบัญญัติเพื่อกู้เงิน 5 แสนล้านบาทได้ นั้น น่าเสียดายว่า เน้นพิจารณาเฉพาะการแสวงหาช่อง ที่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ในสมการของการเมือง แต่ในรายชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ผมเห็นว่า มีหลายบุคคลที่เข้าใจถึงปรัชญา จิตวิญญาณวินัยการเงินการคลัง
คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงน่าจะแนะนำรัฐบาล ว่า การใช้พระราชบัญญัติกู้เงินกรณีนี้ ไม่เข้าเงื่อนไขของพระราชบัญญัติวินัยการเงินฯ ไม่ควรให้ต้องไปลุ้นในรัฐสภา ไม่ควรให้ต้องไปร้องเรียนที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ผมไม่ต้องการดิสเครดิตรัฐบาลนะครับ แต่เขียนเพื่อแนะนำ ให้มีการแก้ไขปรับปรุง และให้คิดคำตอบเผื่อไว้ทุกแง่ทุกมุม
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ