xs
xsm
sm
md
lg

ปรับแผนแจกเงินดิจิทัล ทางออกหรือทางตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ธีระชัย" ชี้หากผลสรุปแจกเงินดิจิทัลให้เฉพาะกลุ่มคนจนก็สามารถทำได้ แต่เท่ากับว่ารัฐบาลไม่สามารถทำตามที่หาเสียงไว้ ไม่ใช่ปรัชญากระตุ้นเศรษฐกิจแบบที่ประกาศก่อนหน้านี้ ย้ำแจกเงินใช้แล้วหมดไป ไม่ส่งผลดีในอนาคต แนะทางที่ดีควรใช้เพื่อพัฒนาคน โครงสร้างพื้นฐาน สร้างอาชีพ



วันที่ 9 พ.ย. ดร.ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีต รมว.คลัง ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "ปรับแผนแจกเงินดิจิทัล ทางออกหรือทางตัน"

ดร.ธีระชัยกล่าวในช่วงหนึ่งว่า เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ในฐานะที่ตนเป็นประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคร่วม ไม่ได้ออกมาต่อต้าน สนับสนุนนายเศรษฐาเต็มที่ แต่ประเด็นเชิงวิชาการที่คิดว่าเพื่อไทยต้องหาแนวทางดำเนินการให้เป็นที่ยอมรับ และปลอดภัยต่อกฎหมายครบทุกด้าน

ถ้าผลออกมารัฐบาลเปลี่ยนจากการแจกคนจำนวนมากเป็นแจกแคบลง ก็ต้องยอมรับว่าเปลี่ยนแนวทางโครงการ หาเสียง ที่บอกว่าแจกเพื่ออัดฉีดเงินครั้งใหญ่ ถึงแจกทุกคนทั้งรวยจน อันนี้เป็นแนวปรัชญากระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเปลี่ยนมาช่วยเฉพาะคนที่เดือดร้อน อันนี้เป็นสวัสดิการ ซึ่งก็ทำได้ หลายๆ ประเทศก็ทำ แต่เป็นคนละปรัชญากับที่หาเสียงไว้

ดร.ธีระชัยกล่าวอีกว่า การเอาเงินไปแจกเพื่ออุปโภคบริโภค แล้วเป็นกลุ่มแคบจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นการใช้แบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเท่าไหร่ แต่หากแจกมากขึ้น เอาเงินส่วนรวมสร้างหนี้ขึ้นมา เปรียบเป็นบริษัทกู้แบงก์มาจ่ายให้พนักงาน มันไปได้ไม่นาน แต่ถ้ามีแผนธุรกิจ กู้เงินมาเพื่อให้เกิดการลงทุน มันจะทำให้เกิดรายได้ในอนาคต

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกข้างหน้านี้มีความเสี่ยงสูงมาก รัฐบาลไทยแทนที่จะเอาเงินไปทุ่มให้ 20-30 ล้านคน ควรสงวนไว้เพื่อรับมือพายุเศรษฐกิจ

การกระตุ้นเศรษฐกิจใครเป็นรัฐบาลก็อยากทำทั้งนั้น เพราะทำให้ประชาชนรู้สึกดี โอกาสได้รับเลือกมาอีกมีสูง วิธีง่ายๆ ก็กู้มาให้ประชาชนใช้ จีดีพีขึ้นแน่นอน แต่หนี้สาธารณะเพิ่ม ก็จะเกิดประเพณีใหม่ แข่งกันหาเสียงแจกมากขึ้นๆ

ที่บอกว่าไม่ได้ใช้หนี้สาธารณะ ต้องไม่ลืมทุกปีงบประมาณเราขาดดุล รายได้รัฐน้อยกว่าที่รัฐจ่าย ต้องกู้เพื่อมาปิดงบ ปีนี้ทะลุ 7 แสนล้าน นโยบายคลังไม่มีการตัดลดมีแต่เพิ่มขึ้น อีกไม่นานจะขึ้นไประดับล้านล้าน งบขาดดุล ถ้าหากมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่ตัดรายจ่าย เท่ากับเอาหนี้สาธารณะมาใช้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น