xs
xsm
sm
md
lg

"รมช.คลัง" ยันจำเป็นเดินหน้าเงินดิจิทัล ช่วยพลิกฟื้นจีดีพีโต 5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"รมช.คลัง" ยันจำเป็นต้องเดินหน้าเงินดิจิทัล 1 หมื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุน คาดจีดีพีโตถึง 5% แจงไม่แจกแต่คนจนเพราะไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์ มั่นใจบริหารจัดการงบได้ เพราะเงินในรูปแบบดิจิทัลไม่ได้ถูกแลกเป็นเงินจริงพร้อมกันหมด ต้องใช้เวลาอีกนานมาก



วันที่ 18 ต.ค. 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ " ไขข้อข้องใจ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท"

นายจุลพันธ์กล่าวว่า เงินดิจิทัล 10,000 บาท แน่นอนมีคนเห็นด้วยและคัดค้าน ตนเพิ่งกลับไปเชียงใหม่ ชาวบ้านก็ยังรอ มันเป็นโอกาสพลิกฟื้นชีวิตเขา สามารถประกอบอาชีพใหม่ได้เลย เปลี่ยนชีวิตคนได้เยอะ 

ในฐานะที่เราเป็นรัฐบาล ไม่ว่าคัดค้านหรือสนับสนุนเรารับฟังมาจริง ไม่ใช่แค่พูด แล้วก็พยายามหาจุดสมดุลปรับเปลี่ยนในเรื่องรายละเอียด ให้ตรงกับวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ใช่เรื่องการสงเคราะห์ ที่บอกให้ช่วยแต่คนจน มันจะทำให้วัตถุประสงค์เสีย

นายจุลพันธ์กล่าวถึงความจำเป็นในการเดินหน้านโยบายนี้ว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน การส่งออกตกต่ำ ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ประเทศเรากำลังอ่อนแอ หมดแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามา จึงจำเป็นต้องสร้างอะไรสักอย่างเพื่อดึงนักลงทุนกลับมา ดูประมาณการในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า จีดีพีเราจะโตแค่ 3% กว่า โตไม่ได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น เงินดิจิทัลจึงจำเป็นต้องเติมเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เหมือนปั๊มหัวใจให้คนไข้ฟื้น หลังโควิดเรายังไม่โตเท่าเก่าเลย หลายหน่วยงานประเมินว่าหากเม็ดเงินนี้ลงไปจีดีพีจะโต 4% กว่าๆ ยังไม่นับรวมนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล เฉลี่ยจะโตปีละ 5%

เมื่อถามถึงเงินว่าจะเอามาจากไหน นายจุลพันธ์กล่าวว่า งบประมาณแผ่นดินต้องมีแน่นอน ปี 67 เราทบทวนงบประมาณอยู่ กว่าจะเสร็จน่าจะ เม.ย. 67 เงินที่เป็นไขมันส่วนเกิน ไม่เกิดประโยชน์อย่างที่ควร เพื่อที่จะดึงเม็ดเงินที่สามารถบริหารจัดการใหม่ออกมา เชื่อว่าสามารถหาเม็ดเงินจำนวนมากพอควรในการเป็นสารตั้งต้นให้โครงการก่อน

ส่วนช่องทางอื่น ขยายวงเงินตามมาตรา 28 เป็นช่องทางหนึ่ง นโยบายกึ่งการคลัง ไม่ใช่เอาเงินมากองทิ้งไว้เพราะจะเกิดภาระงบประมาณเรื่องดอกเบี้ย แต่เป็นการสร้างตัวเงินที่เข้าไปอยู่กระเป๋าเงินดิจิทัล เราจะมีภาระต่อเมื่อมีคนมาขึ้นเงิน ฉะนั้นมันไม่เกิดขึ้นพร้อมกันหมด ไม่จำเป็นต้องเอาเงินทั้งก้อนมากองรอ 

เราตั้งเป้าไว้ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สุดท้ายก็ใช้เงินงบประมาณ เราจะรับผิดชอบในตัวเม็ดเงินทั้งจำนวนในระยะเวลาที่รัฐบาลอยู่ ไม่ทิ้งให้รัฐบาลชุดต่อไป เรารับผิดชอบเอง

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า มีงบประมาณส่วนหนึ่งก่อน ก็เพียงพอในระยะต้น จุดหนึ่ง แต่ถ้าคนมาขึ้นเงินเกินกว่างบประมาณ หน่วยงานรัฐในกำกับจะเป็นผู้ดำเนินการไปก่อน แล้วตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยปีถัดไป นี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ส่วนระยะเวลา ด้านงบประมาณไม่ได้ห่วง แต่ด้านเทคนิค นายกฯ คาดหวังให้เกิด ก.พ. 67 แต่ตนยอมรับว่าค่อนข้างตึงไป แต่จะพยายามให้เร็วที่สุด งบประมาณปี 67 มันดีเลย์ เบื้องต้นต้องมีเม็ดเงินนี้เข้าไปประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ สงกรานต์เป็นช่วงที่คนไทยกลับบ้าน ก็เหมาะสมที่จะเอาเม็ดเงินกลับไปใช้ในชุมชน ให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ ก็ยังเป็น เม.ย.ไทม์ไลน์เดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น