xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.ศราวุฒิ" หวั่นมหาอำนาจใช้วิกฤต "อิสราเอล-ฮามาส" เป็นสงครามตัวแทนอีกสมรภูมิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ดร.ศราวุฒิ" ชี้ทางเดียวที่จะทำให้อิสราเอลหยุดปฏิบัติการครั้งนี้ได้ คือมหาอำนาจทุกฝ่ายต้องร่วมใจกัน แต่หากมองในแง่ร้าย หวั่นใช้วิกฤตรอบนี้เป็นสงครามตัวแทนอีกสมรภูมิ เผยไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง "ปาเลสไตน์-อิสราเอล" เตือนระวังในการแสดงท่าที



วันที่ 12 ต.ค. 2566 ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "เบื้องหลังสนามรบ อิสราเอล-ฮามาส"

ดร.ศราวุฒิกล่าวในช่วงหนึ่งว่า สงครามอิสราเอล-ฮามาสครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ครั้งนี้อิสราเอลเป็นฝ่ายที่สูญเสียบ้าง แล้วปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลก็กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วมันจะไม่หยุดง่ายๆ อิสราเอลต้องลงโทษอย่างสาสมก่อน ในขณะเดียวกันตัวกลางไกล่เกลี่ยขณะนี้อาจใช้ไม่ได้ผล

มีอย่างเดียวที่อาจหยุดยั้งปฏิบัติการของอิสราเอลได้ นั่นก็คือมหาอำนาจทุกฝ่ายร่วมใจกัน วันนี้สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ก็ไปพัวพันอยู่กับสงครามยูเครน ส่วนรัสเซียกับจีนก็ยังต้องแข่งขันกับสหรัฐฯ ในยูเครน

มองในแง่ดีมหาอำนาจยังไม่สนใจในการขยายสมรภูมิอีกสมรภูมิหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกกลาง แต่ถ้ามองในแง่ร้าย บางทีวิกฤตตะวันออกกลางจะทำให้กลายเป็นสมรภูมิสงครามตัวแทนของมหาอำนาจอีกสมรภูมิหนึ่งก็เป็นได้

อย่าลืมขณะนี้สหรัฐฯ เคลื่อนตัวมาเรียบร้อยแล้ว รัสเซียล่าสุดประกาศจะอยู่เคียงข้างกับปาเลสไตน์ ก็กลายเป็นอะไรที่น่าเป็นห่วง

ดร.ศราวุฒิกล่าวอีกว่า เรื่องนี้อย่างน้อยสหรัฐฯ ได้ประโยชน์ ก่อนหน้านี้จีนมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง แม้แต่ซาอุฯ กับอิสราเอลที่เป็นพันธมิตรกับอเมริกา ตอนหลังก็ยังหันมาให้ความสนใจใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น วิกฤตครั้งนี้อเมริกาส่งกองทัพเรือเข้ามา เหมือนกับเพื่อบอกพันธมิตรในตะวันออกกลาง บอกประชาคมโลก ว่าอเมริกากลับเข้ามาตะวันออกกลางแล้วนะ

ด้านรัสเซียที่บอกสนับสนุนปาเลสไตน์ ค่อนข้างชอบธรรม เนื่องจากมติ 242 และ 338 ของสหประชาชาติที่ออกมาหลังสงครามหกวัน ในปี 1967 เรียกร้องให้อิสราเอลถอนกำลังออกไปจากดินแดนภายใต้การยึดครอง แต่อิสราเอลไม่ปฏิบัติตาม เมื่อไม่ปฏิบัติก็ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ฉะนั้นรัสเซียทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ดร.ศราวุฒิยังกล่าวด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิสราเอล ไทยกับปาเลสไตน์ เราไม่เคยมีปัญหา เราให้การยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐสังเกตการณ์ (observer state) ฉะนั้นการสร้างความสัมพันธ์สองฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง วันนี้ผลประโยชน์ไทยในอิสราเอลก็เยอะ ไทยต้องระมัดระวังในการแสดงท่าทีต่อประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น