“อดีตรมว.คลัง” เตือน “เศรษฐา-ครม.” ออกพ.ร.บ.กู้เงิน มาแจกเงินดิจิทัลทำไม่ได้ ระบุ “ติดหล่ม” ประชาชนจะเรียกร้องให้รับผิดชอบ “สมชัย” ฟันฉับ กู้มาแจก “เทพมนตรี” ชี้ เป็นการหาทางออกการเมือง ไม่ผ่านสภาจะได้โทษคนอื่น
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(10 พ.ย.66) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “นายกยืนยันโครงการแจกเงินดิจิทัลทำได้”
เนื้อหาระบุว่า “ในการแถลงข่าววันที่ 10 พฤศจิกายน ท่านนายกเศรษฐายืนยันว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลนั้น ทำได้อย่างแน่นอนผมขอให้กำลังใจท่าน เพราะว่าถ้าหากเดินหน้าไปแล้ว โครงการนี้ติดหล่ม คงมีประชาชนจำนวนมาก ที่จะเรียกร้องให้ท่านต้องรับผิดชอบ
ท่านแถลงว่า จะเสนอรัฐสภาให้อนุมัติ ออกพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินสำหรับโครงการนี้
ผมตั้งข้อสังเกตว่า ทีมงานของกระทรวงการคลังอาจจะให้ข้อมูลแก่ท่านไม่ครบถ้วน เพราะในความเห็นของผม การออกพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินสำหรับโครงการนี้ กระทำไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังนี้
หนึ่ง ท่านนายกคงเล็ง จะใช้ช่องทางใน พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘
มาตรา ๒๐๖ ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑) ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้
(๑/๑) บริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง
(๒) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
(๓) ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ
(๔) ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ
(๕) พัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ
เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการกู้เงินตาม (๒) ถึง (๕) ให้นำไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินหรือตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
ผมมีความเห็นว่า ช่องทางเดียวที่โครงการเงินดิจิทัล จะใช้ได้ ก็คือ (๒) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ส่วนช่องทางอื่นนั้น เป็นปัญหาเฉพาะเรื่อง ที่ไม่สามารถดัดแปลงมาใช้กับโครงการเงินดิจิทัล
สอง แต่ช่องทางกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นั้น มีปัญหาอยู่ในกฎหมาย
มาตรา ๒๒ การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้กระทำได้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ผมขอเรียนท่านนายกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยของ ม.ร.ว.จตุมงคล และ ม.ร.ว.ปรีดียาธร ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในสมัยของผม ได้พัฒนาตลาดพันธบัตรรัฐบาลเป็นเงินบาทไว้เรียบร้อยแล้ว
เพื่อให้รัฐบาลไทยมีความสะดวกในการกู้ยืมหนี้สาธารณะ สามารถกู้ยืมเป็นเงินสกุลบาท เพื่อไม่ต้องมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และ ธปท. ร่วมกับ ก.ล.ต. ได้พัฒนาความเชื่อมั่น จนกระทั่งมีนักลงทุนต่างชาติ นำเงินดอลล่าร์เข้ามาแลกเป็นเงินบาท แล้วนำไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นเงินบาท
กล่าวคือ ตลาดเงินตลาดทุนของไทย ได้พัฒนาถึงขั้นที่ รัฐบาลไทยสามารถกู้ยืมและเงินจากต่างประเทศได้ โดยกู้เป็นสกุลเงินบาทซึ่งมีน้อยประเทศกำลังพัฒนา ที่สามารถทำเช่นนี้ได้
สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องอาศัยแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ และไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเงินไปใช้ในต่างประเทศ จึงไม่เข้าเงื่อนไขในส่วนแรกของมาตรา ๒๒
ส่วนเงื่อนไขส่วนหลังของมาตรา ๒๒ ซึ่งเปิดช่องให้ กรณีจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ นั้น การกู้เงินเพื่อแจกเงินดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคของประชาชน นั้น
ย่อมไม่สามารถตีความได้ว่า เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ
ผมจึงขอให้ข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์แก่สำนักงานกฤษฎีกา และแก่รัฐมนตรี ที่จะร่วมพิจารณาเรื่องนี้”
ขณะเดียวกัน หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวถึงความชัดเจนนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจะส่งผลดีต่อประเทศ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เติมเงินในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่ายเพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
โดยเคาะแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท อายุเกิน 16 ปีขึ้นไป ให้คนเงินเดือนน้อยกว่า 7 หมื่น-เงินฝากต่ำกว่า 5 แสน ใช้สิทธิ์ 6 เดือน ภายในอำเภอ นั้น
ต่อมา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“สรุป กู้มาแจก ทำเป็น พรบ. เงินกู้ 500,000 ล้าน ผ่านสภา แจก 50 ล้านคน 16 ปีขึ้นไป เงินเดือน ไม่เกิน 70,000 บาทหรือ เงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท เริ่ม พฤษภา 67 ถึง เมษายน 70”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thepmontri Limpaphayorm ระบุว่า
“หาทางออกทางการเมืองได้อย่างเฉิดฉาย ด้วยการไปออก พรบ. กู้เงินเพื่อมาทำนโยบายดิจิตอล พอไม่ผ่านสภาก็โทษคนอื่น ไม่เหมือนตอนที่หาเสียง ท่านนายกรับผิดชอบด้วยการยุบสภาหรือลาออกดีครับ ง่ายเนอะประเทศไทย นักการเมืองโม้ นโยบายพรรคเดี้ยงไม่ต้องรับโทษใดๆ ประชาชนคือเบี้ยล่างเสมอ”