xs
xsm
sm
md
lg

ยื้อตีความเงินดิจิทัล ส่อ “วิกฤต” สมใจรัฐบาล!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน - จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์
เมืองไทย 360 องศา

เสียงโอดครวญออกมาจากปากของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำนองว่า “ถูกด่าฟรี” ถูกเข้าใจว่า มีเจตนาเตะถ่วงการตีความร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้สำหรับโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาล จนอาจทำให้การแจกเงินหัวละหนึ่งหมื่นบาทต้องล่าช้าออกไป ทั้งที่ในความเป็นแล้ว รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้ส่งร่างกฎหมาย หรือว่าคำถามที่เป็นเอกสารไปถึงมือเลย

ล่าสุด นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ระบุว่า ยังอยู่ในขั้นเตรียมเอกสาร รวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา

ขณะเดียวกัน มีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่รัฐบาลพยายาม “ยื้อ” นั่นคือ ยื้อทั้งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ยังไม่ส่งเข้าสภา รวมไปถึงยังไม่ส่งร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ดังกล่าวให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ว่าขัดกฎหมายหรือไม่ ว่ามีเจตนายื้อให้ถึง “เดือนพฤษภาคม” ปีหน้า เพื่อรอให้วุฒิสภาหมดวาระเสียก่อน รวมไปถึงอาจมีเจตนาในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่กับพรรคก้าวไกล เมื่อฟังจากคำพูดของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่เพิ่งออกมายอมรับว่าเขาเคยพบกับนายทักษิณ ชินวัตร ที่ฮ่องกง พร้อมกับระบุ ว่าเป็นมิตรกับ นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย

ก่อนหน้านี้ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้พบกับ นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในกรณีที่รัฐบาลมีข้อสอบถามเรื่องการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยได้สอบถามว่า จะมีหนังสือมาถึงกฤษฎีกา ว่าทำได้หรือไม่ เมื่อไหร่ และได้คำตอบจากรัฐมนตรีว่า กำลังดูอยู่

นายปกรณ์ กล่าวว่า ขออธิบายขั้นตอนเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า เมื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่ มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพบเงื่อนไขจะสามารถกู้ได้หรือไม่เท่านั้น โดยมติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนยกร่างกฎหมาย ขอย้ำว่าเป็นการให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ทุกอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไข ก็ทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไข ก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ก็จะยกร่างกฎหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง

“เมื่อเช้า (วันที่ 21 พ.ย.) ผมทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงผม ทางสภาพัฒน์ ก็รอ เพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาที่ผมแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่านักข่าวรู้มากกว่าผมอีก” นายปกรณ์ ระบุ

ถามว่า สภาพัฒน์บอกว่าถ้ากฤษฎีกาให้ความเห็นมาว่า ถ้า ครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้ อาจมีทางอื่นหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตนเอง และกฤษฎีกาให้คำแนะนำไม่ได้ เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฎหมาย โดยกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาประกอบพิจารณา มีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และยังมีกฎหมายหลายฉบับประกอบ เช่น กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ว่าวิกฤต หรือไม่วิกฤต

เมื่อถามว่า รัฐบาลฝากความหวังไว้ที่กฤษฎีกา ถ้าวิธีออก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ได้ จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง นายปกรณ์ กล่าวว่า การจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่รู้ ไม่สามารถตอบแทนได้ ส่วนคำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถาม เพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย ก็ไม่ใช่หน้าที่ ขอย้ำว่าเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤต ไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของ ครม. ที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน ที่โต้เถียงกันก็ไม่รู้

หลังจากนั้น นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ถือว่าเป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ยังไม่ได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยอ้างว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ เรื่องเอกสาร และระบุว่า “ยังบอกไม่ได้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด” ถึงจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อยส่งให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกา ความหมายก็คือ “ยังไม่มีกำหนดระยะเวลา”

ทั้งนี้ เริ่มมีข้อสังเกตมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทำไมรัฐบาลถึงได้ส่งหนังสือสอบถามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาล่าช้า เหมือนมีเจตนา “เตะถ่วง” เพราะนอกเหนือจากข้อสอบถามเรื่องพระราชบัญญัติเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ว่าขัดกฎหมายหรือไม่แล้ว ยังมีร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ยังไม่มีกำหนดเวลานำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนไม่แพ้กัน

หากพิจารณาจากท่าทีและความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ของรัฐบาล ตั้งแต่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงแกนนำรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย ต่างก็ประสานเสียงอย่างหนักแน่นว่า เป็นเรื่อง “เร่งด่วน” ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” โดยย้ำว่าอยู่ในภาวะ “วิกฤต” ดังนั้น เมื่อวิกฤตก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นจะไม่ทันการณ์ แต่เมื่อดูจากความเคลื่อนไหวที่เป็นจริงแล้วทุกอย่างกลายเป็น “ตรงกันข้าม” นั่นคือเหมือนมีเจตนา “ยื้อเวลา” ออกไปเรื่อยๆ

โดยเวลานี้น่าสังเกตอีกเรื่องหนึ่งก็คือรัฐบาลกำลังหันมาโหมโรงเรื่องการ “แก้หนี้” ของประชาชนทั้งในและนอกระบบ แม้ว่าอีกมุมหนึ่งอาจจะอ้างได้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นเดียวกัน ต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กัน ก็อ้างได้ แต่ในเมื่อเรื่องแรกที่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่กว่าและเป็นเรื่องหลัก ทั้งร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ยังดูอืดอาด และยังเรื่องพระราชบัญญัติเงินกู้ 5 แสนล้าน ที่ตอนแรกยืนยันว่าต้องเดินหน้าทันทีแบบ “คิดใหญ่ ทำเป็น” ต้องเตรียมการมาอย่างดี แต่พอถึงเวลาก็ต้อง “กู้มาแจก” แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนหยุดนิ่ง เหมือนประวิงเวลาบางอย่าง

เมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้เริ่มมีคำถามว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีเจตนายื้อเวลาออกไปให้ถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า เนื่องจากเป็นช่วงที่วุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระตามบทเฉพาะกาล และไม่มีอำนาจร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี เหลือเพียงการโหวตเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ถึงตอนนั้นอาจมีการ “เปลี่ยนแปลง” บางอย่าง โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ ดังนั้นเวลานี้เหมือนกับมีเจตนายื้อให้เกิด “วิกฤต” สมใจหรือเปล่า !!


กำลังโหลดความคิดเห็น