เมืองไทย 360 องศา
เวลานี้เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในรูปแบบของคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่เธอเป็นรองประธาน และมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งประธานขับเคลื่อนแผนงานยกระดับบัตรทอง เป็นต้น เรียกว่า นี่คณะกรรมการระดับชาติ ที่ถือเป็นนโยบาย “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย ก็ว่าได้
นอกเหนือจากการก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งหากพิจารณาจากโครงสร้างที่เป็น “วิถี” ของพรรคนี้มาตั้งแต่เดิมแล้ว ถือว่า เธอรับบทบาทเป็น “ผู้กำกับรัฐบาล” อย่างเต็มตัวแล้ว โดยเฉพาะการ “กำกับนายกฯ เศรษฐา” นั่นเอง ขณะเดียวกัน หากเข้าใจถึงบริบทของ “ลูกสาวเถ้าแก่” ที่ถูกส่งเข้ามาคุมกิจการแทนพ่อ มันก็ต้องเป็นแบบนั้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะว่า “จังหวะเวลา” มันยังไม่ได้ จึงต้องทอดเวลาออกไปก่อน เพราะอย่างที่รับรู้กัน ก็คือ วันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหลบหนีคดีทุจริตในต่างประเทศได้ตัดสินใจกลับไทย ในช่วงที่กำลังจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีพอดี ซึ่งพอเข้าใจว่า นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ต้องถอยให้กับ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ อันดับสอง ขึ้นมาก่อน เนื่องจากตอนนั้นทุกอย่างยังไม่พร้อม รวมถึงอาจตกเป็น “เป้า” มากเกินไป มันจึงเป็นที่มาของคำว่า นายกฯ “ขัดตาทัพ” ซึ่งเป็นคนละความหมายของคำว่า “นายกฯ คนละครึ่ง” เพราะแบบนี้ความหมาย คือ แบ่งกันคนละครึ่ง แต่การขัดตาทัพความหมายถูกดันให้มาเป็นแบบ “ชั่วคราว” ในช่วงที่ “ตัวจริงยังไม่พร้อม” หรือให้มา “รับหน้า” แทนไปชั่วคราวก่อน อะไรประมาณนั้น ซึ่งหากพิจารณาจากต้นทุนที่เป็นอยู่ของ นายเศรษฐา ก็ย่อมเข้าใจดีถึงคำว่า นายกฯ ขัดตาทัพ ดังกล่าว
อย่างที่รับรู้กัน ก็คือ สถานะในพรรคเพื่อไทยของ นายเศรษฐา ทวีสิน ถือว่า“ขาลอย” อย่างยิ่ง อาจเรียกว่ามาแบบตัวเปล่า ก็ได้ อาจจะไม่ถึงขั้นหัวเดียวกระเทียมลีบ แต่หากพิจารณาจากฐานสนับสนุนก็ล้วนมาจาก “เจ้าของพรรค” ทั้งสิ้น ไม่มีกลุ่มก๊วนของตัวเอง ไว้ต่อรองเลยแม้แต่น้อย พิจารณาจากตำแหน่งรัฐมนตรี หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ติดตามแทบทุกคนล้วนเป็นคนใกล้ชิดหรือ ให้เห็นภาพก็คือไม่ต่างจาก “เด็กในบ้าน” ของครอบครัวชินวัตร ทั้งสิ้น ดังนั้น การเข้ามานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของเขา จึงไม่ต่างจากการ “สร้างประวัติศาสตร์” สร้างประวัติให้กับตัวเองสักครั้งในชีวิตอะไรแบบนี้
แน่นอนว่า เวลานี้ นายเศรษฐา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเข้าสู่เดือนที่สามแล้ว กำลังเข้าสู่ช่วงสำคัญ โดยเฉพาะกำลัง “เดิมพัน” นโยบายสำคัญ นั่นคือ นโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ต้องบอกว่าเดิมพัน ก็เนื่องจากหากงานนี้ทำไม่สำเร็จ หรือ “ล้มกลางคัน” นั่นย่อมหมายถึงการ “ตกเก้าอี้” ของเขาไปด้วย
แต่ขณะเดียวกัน หากมองข้ามช็อตไปอีกว่า เมื่อมีการ “เปลี่ยนตัว” แล้วส่ง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่บอกว่า เป็น “ตัวจริง” ขึ้นมาแทนนั้นมันก็ “ไม่ง่าย” เหมือนกัน เพราะหากบอกว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล เป็น “นโยบายเรือธง” ของพรรคเพื่อไทยแล้ว หากล้มเหลว หรือทำไม่ได้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ว่าจะตกม้าตาย ตั้งแต่ “ด่านแรก” คือ คณะกรรมการกฤษฎีกาหากชี้ออกมาว่า ขัดต่อกฎหมาย รวมไปถึงถูกสภาตีตก ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา รวมไปถึงด่านของศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ล้วนแต่เป็นด่านหินทั้งสิ้น
แม้ว่าจะมีมุมมองอีกทางหนึ่งว่า การเสนอในสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์ที่ยัง “ไม่มีความวิกฤต” สำหรับการออก พ.ร.บ.กู้เงินนั้น อาจเสี่ยงต่อการขัดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 รวมทั้งขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นการ “หาทางลง” ก็ตาม ไม่ว่าจะออกทางไหนล้วนแล้วแต่เสียหาย เพราะไม่ว่าจะออกหน้าไหน ในฐานะนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลเจ้าของนโยบาย ย่อมต้องรับผิดชอบเต็มๆ อย่างน้อยก็ต้อง “เสียเครดิต” มีผลต่อสถานะทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมาถูกดักทางหมดทุกทางแล้ว
เสียงวิจารณ์ในเรื่องของความเป็นไปไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นหากโครงการสามารถ “ลุยไฟ” จนสามารถเดินหน้าไปได้ เรื่อง “เพิ่มหนี้” ประเภท “กู้มาแจก” เสียงเยาะเย้ย ถากถางจากการผิดคำพูดของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคนในพรรคเพื่อไทย ที่เคยยืนยันแบบหัวเด็ดตีนขาด ว่า “ไม่กู้สักบาท” หรือแม้แต่ย้อนคำพูดของ นายทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรค ที่เคยกล่าวว่าใครที่ใช้วิธีแจกเงิน ถือว่า “ปัญญาอ่อน” เลยทีเดียว
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับรายละเอียดโครงการที่เอาเข้าจริงล้วนแล้วแต่มีเงื่อนไขยุบยับไปหมด เริ่มจาก “ไม่แจกเป็นเงินสด” หรือโอนเข้าบัญชีโดยตรง ให้ใช้จ่ายเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ห้ามจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน แก๊สหุงต้ม หรือจ่ายเทอม เป็นต้น และร้านค้าที่สามารถขึ้นเงินดิจิทัลได้ก็ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ดังนั้น เมื่อถึงเวลาจะมีร้านค้ามากน้อยแค่ไหนที่เข้าร่วม โดยเฉพาะร้านค้าในชนบทห่างไกล ซึ่งในที่สุดแล้วเหมือนกับว่ามีแต่ “เจ้าสัว” เจ้าของร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการจำนวน 5 แสนล้านบาท
หากพิจารณาจากหนทางข้างหน้าแล้วล้วนแล้วมีแต่ขวากหนาม เรียกว่า เข้าขั้น “ลุยไฟ” เลยทีเดียว เหมือนกับว่า เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ลำบาก สำหรับ นายเศรษฐา ทวีสิน หากมองทะลุเข้าไปข้างในเหมือนกับว่าเขารับรู้ “ชะตากรรม” ในวันข้างหน้าเป็นอย่างดีว่าคงเหลือเวลานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้อีกไม่นาน เนื่องจากมี “ตัวจริง” มาจ่ออยู่ใกล้ๆ แล้ว ดังนั้น มีทางเดียวที่จะยื้อเวลาออกไปให้นานที่สุด ก็คือ “เร่งสร้างผลงาน” ทำให้เห็นว่า เขา “มีฝีมือ” ต้องทำให้เห็นว่าเป็นของจริง ไม่ใช่มือสมัครเล่น เหมือนกับเวลานี้ที่เขาทำให้เห็นว่าทำงานไม่มีเวลาพัก แต่ในสถานการณ์จริงมันจะช่วยได้แค่ไหนยังไม่อาจพิสูจน์ได้ เพราะหากเจ้าของเขาต้องการมันก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งโอกาส “เปลี่ยน” ดังกล่าวหากเกิดขึ้นก็น่าจะเป็นช่วง “เดือนพฤษภาคม” เป็นต้นไป หรือไปจนครบปี หรือสองปี นั่นแหละ
แต่ขณะเดียวกัน หากมองว่า “อุ๊งอิ๊ง” กำลังเตรียมตัวจะขึ้นมาแทน นั่งเก้าอี้นายกฯสืบต่อจาก นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ถือว่าสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเองอย่างคุ้มค่าแล้ว แต่ทุกอย่างมันก็ไม่ง่าย เพราะตราบใดที่เธอขึ้นมามันก็เหมือนกับการ “แบกรับ” ทุกอย่างเอาไว้ และยังเป็นการเดิมพันอนาคตของ “ครอบครัวชินวัตร” เอาไว้อีกด้วย เพราะการเมืองนับจากนี้ไปจะสู้กันด้วย “กระแส” แบบเต็มๆ แต่หากคิดว่าแค่สร้างประวัติศาสตร์ของครอบครัวที่จะเป็นนายกฯหญิงอีกคนหนึ่ง หากหวังเพียงแค่นั้น มันก็คงไม่ยากนัก แต่มันก็เสี่ยง “จบไม่สวย” เหมือนกัน อีกทั้งหาก “เศรษฐาร่วง” เธอก็น่าจะรอดยากเช่นกัน !!