เมืองไทย 360 องศา
ในตอนแรกอาจคิดว่านโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” คนละ “หมื่นบาท” สำหรับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 7 หมื่นบาท หรือ มีเงินในบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท มีจำนวนราว 50 ล้านคน จะสร้างความพอใจให้กับชาวบ้านที่ได้รับแจกเงิน และอีกด้านหนึ่งหวังว่าจะใช้ชาวบ้านจำนวนกว่า 50 ล้านคนดังกล่าว เป็น “หลังพิง” พูดง่ายๆ ก็คือ หวังว่า เมื่อประชาชนอยากได้ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้นโยบายแจกเงินดังกล่าว หรือทำให้การ “กู้เงิน” จำนวน 5 แสนล้านบาท มีความเป็นไปได้มากขึ้น นั่นเอง
แต่กลายเป็นว่า ทุกอย่างกำลังผิดไปจากความคาดหมายไปมาก เรื่อง “อยากได้เงิน” นั้น แน่นอนว่า ถามชาวบ้านร้อยทั้งร้อยย่อมต้องการอยู่แล้ว แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว มัน “ไม่ตรงปก” เรียกว่า ห่างไปไกลมาก นั่นคือ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการก็คือ “เงินสด” ไม่ใช่เงินดิจิทัล และที่สำคัญยังมีเงื่อนไขว่า ห้ามไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊สหุงต้ม รวมไปถึง ค่าเทอม ให้ใช้ได้เฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค เท่านั้น เพียงแค่นี้ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ก็อ่วมอรทัยแล้ว เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ
ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามชาวบ้านโดยตรง ผ่านพรรคการเมืองที่สอบถามชาวบ้าน หัวคะแนน รวมไปถึงผลสำรวจของสำนักต่างๆ ก่อนหน้านี้ ล้วนออกมาตรงกันคือ ชาวบ้านต้องการให้ “แจกเป็นเงินสด” หรือโอนเข้าบัญชี แล้วนำไปใช้จ่ายได้เลย หรือผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” แล้วนำไปใช้จ่ายได้ตามต้องการ
แต่เมื่อออกมาเป็นตรงกันข้าม แถมยังมีเงื่อนไขยุบยับแบบนี้ ทำให้ชาวบ้านวิจารณ์กันขรม และเมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้เครดิตของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย พลอยเสียหายไปด้วย เพราะไหนๆ จะแจกทั้งที แต่เมื่อไม่โดนใจชาวบ้าน มันก็กลายเป็นเสียหายสองต่อ เพราะ หนึ่ง เมื่อชาวบ้านไม่เต็มร้อย มันก็ทำให้ขาดพลังสนับสนุน ใช้เป็น “หลังพิงไม่ได้เต็มที่” สอง ทำให้พรรคเพื่อไทยเสียเครดิต อย่างน้อยคำว่า “คิดใหญ่ทำเป็น” หรือเจ้าแห่งประชานิยม มันไม่ขลังอีกแล้ว เพราะมัน “ไม่โดน”
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องว่า ยังต้องลุ้นแบบ “ลูกผีลูกคน” เนื่องจากยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน แต่ละด่านล้วนเป็น “ด่านหิน” ทั้งนั้น และยังสามารถชี้เป็นชี้ตาย ทั้งตัว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และพรรคเพื่อไทย เพราะหาก “ไม่ผ่านด่านสภา” จากการออกเป็นพระราชบัญญัติ กู้เงิน 5 แสนล้านบาท นายกฯ ก็ต้องลาออก เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงิน อีกทั้งก่อนหน้านั้น ยังต้อง “เสี่ยงคุก” ตะรางอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นปลายทางที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่บรรดา “นักร้อง” เริ่มขยับร้องเรียนกันแล้ว
ด่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบคู่ขนานกันไปแล้ว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือแม้แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่ต้องตรวจสอบ ว่า ทำผิดนโยบายการหาเสียงที่เคยแจ้งกับ กกต.ว่า “ไม่กู้มาแจก” เคยยืนยันว่าใช้เงินงบประมาณ หรือแม้แต่ด่านแรก คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต้องส่งให้พิจารณาก่อน หากผลออกมาว่า “ผิดกฎหมาย” ก็ถือว่า “แท้งตั้งแต่ต้นทาง” กันเลยทีเดียว
แม้ว่าจะมีคนดักคอไว้ล่วงหน้าว่า นี่คือ วิธี “หาทางลง” ของนายเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ว่า มันเดินต่อไปไม่ได้อยู่แล้ว จึงต้องหาทางลงแบบนี้ นั่นคือ ให้องค์กรอิสระ “ตีตก” โดยที่รัฐบาลอ้างว่า “ทำเต็มที่แล้ว” ตามที่ได้หาเสียง แต่ถูกขัดขวาง ยังเป็นการ “โยนบาป” หรือ “หาแพะ” ได้อย่างเนียนๆ อีกด้วย
สิ่งที่รัฐบาล นายเศรษฐา ต้องเจอในวันข้างหน้า หากผ่านด่านแรกของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งก็ถือว่า “เหนื่อย” เหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้ ในวงประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น รวมอยู่ด้วย มีรายงานว่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ ติติงให้พิจารณารอบคอบ โดยเฉพาะยังยืนยันหากต้องแจก ก็อยากให้แจกเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มเปราะบาง ที่จำเป็นต้องใช้เงิน ทำให้ลดจำนวนเงินลงไปมาก ถึงขั้นให้ “ลงบันทึกความเห็น” ไว้ด้วย สะท้อนให้เห็นถึงเสียงไม่เป็นเอกภาพ มีแต่เสียงคัดค้าน
อย่างไรก็ดี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แสดงความไม่เห็นด้วยกับการออก ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วยแล้วขอให้บันทึกการประชุม แต่พูดตอนท้ายการประชุม ว่า มีหน้าที่ดูแลทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และปกป้องทุกคนในที่ประชุม โดยจะนำเรื่องไปหารือในคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เราต้องหารือ คณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน
ส่วนเรื่องการกู้เงินนั้น นายกรัฐมนตรีได้หารือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ว่าการ ธปท.ให้ข้อคิดว่า เพื่อให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.เงินตรา ต้องมีเงินมาสำรองโครงการ เราเลยแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินมาวางไว้ให้เห็น แล้วเราค่อยๆ ใช้ และจากการที่นายกฯ หารือกับผู้ว่าการ ธปท. ก็ยังมีข้อเสนอเห็นด้วยกับการขอกู้ เพราะสะอาดดี โดยการขอกู้นั้น ต้องดูว่ากฎหมายให้ช่องทางอะไรไว้บ้าง ที่สุดแล้วเราคิดว่าวิธีการนี้เหมาะสมที่สุด
นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ในการหาเสียง เราระบุจะหารายได้จากการเก็บภาษีในปี 67 แต่การตั้งรัฐบาลล่าช้า กระบวนการต่างๆ จึงล่าช้าตาม ซึ่งการเก็บภาษีจะไปโชว์ตอนปลายปี สิ่งที่เราดำเนินการ คือ การบริหารด้านการเงิน และมีช่องทางหนึ่ง คือ การออกกฎหมาย เราประเมินจากทุกตัวว่า นี่คือ วิกฤตเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจตกต่ำสุดและฟื้นช้าสุด นี่คือ ความจำเป็น และกรอบกฎหมายอนุญาตให้เราใช้แบบนี้ โดยทำให้รอบคอบ ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเรื่องเข้าสู่สภา
เมื่อถามว่า มีรายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 พ.ย. เลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ผู้ว่าการ ธปท. ติงการกู้เงินแล้วมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจก นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เลขาธิการสภาพัฒน์ ไม่ได้ให้ความเห็นอะไร มีเพียงผู้ว่าการ ธปท. ที่ให้ความเห็นว่าเรื่องการกู้เงิน นายกฯต้องระวัง และระบุให้บันทึกการประชุมว่าท่านได้ให้ความเห็นว่า ป.ป.ช. มีความเห็นมาอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ประชุมรับทราบ และเป็นข้อพึงสังวรให้ทำทุกอย่างถูกต้อง ครบถ้วน
เมื่อถามย้ำว่า ผู้ว่าการ ธปท.ไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน ใช่หรือไม่ นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ตนเองตอบแทนไม่ได้ เพียงแต่บอกว่า มีหน้าที่ดูแล พ.ร.บ.เงินตรา ส่วนด้านการคลัง การบริหาร เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คงต้องไปถาม ผู้ว่าการ ธปท. แต่ตนเองยืนยันโครงการของเราไม่ได้เอาเงินไปแจก แต่เอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจ
แม้ว่า นพ.พรหมินทร์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะพยายามอธิบายว่า ในวงประชุมดังกล่าว ไม่มีเสียงท้วงติงจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว จากคำพูดดังกล่าวของเขาเอง มันก็ทำให้เห็นร่องรอยของ “เสียงทักท้วง” อย่างน้อยก็ในเรื่องของ ความผิดทั้งในเรื่องกฎหมายเงินตรา และวินัยการเงิน การคลัง นั่นเอง
เอาเป็นว่า งานนี้ ทั้งนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย จะต้อง “ลุยไฟ” อีกหลายด่าน ซึ่งแต่ละด่านถือว่าเป็น “งานหิน” ทั้งสิ้น โอกาสผ่านไปได้ยากเต็มที แต่ขณะเดียวกัน เอาเฉพาะแค่ “ไม่แจกเป็นเงินสด” และมีเงื่อนไขให้ใช้ได้เฉพาะจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น ห้ามจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเชื้อเพลิง ค่าเทอม ใช้หนี้ เรื่องหลักๆ แบบนี้ ที่เป็นวิถีชาวบ้าน ทำไม่ได้ มันก็ต้องโดนด่าเปิงอยู่แล้ว เพราะเอาเข้าจริง ชาวบ้านไม่ได้ต้องการแบบนี้ !!