"พรรคการเมืองเปรียบเสมือนปลา ประชาชนเปรียบเสมือนน้ำ จากหนังสือ Xi Jinpeng the Governance of China"
โดยนัยแห่งคำกล่าวข้างต้นให้ความหมายชัดเจนว่า พรรคการเมืองจะต้องอาศัยประชาชน จึงจะดำรงอยู่ได้ และประชาชนก็จะต้องพึ่งพรรคการเมืองในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่จุดหมายที่ประชาชนต้องการจะไป
ดังนั้น พรรคการเมืองจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชนในฐานะเป็นผู้รับใช้ประชาชน และประชาชนเองจะต้องคอยปกป้องพรรคการเมืองมิให้นักการเมืองเลวเข้ามาครอบงำพรรค และใช้อำนาจรัฐที่ได้มาแสวงหาประโยชน์ จึงสรุปได้ว่า พรรคการเมืองกับประชาชนต้องพึ่งพาอาศัยกันเหมือนปลากับน้ำ
ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นพรรคเดียวก็ว่าได้ที่มีอุดมการณ์ชัดเจนในการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ทั้งยึดมั่นในการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชันอย่างชัดเจนในยุคแรกๆ แต่ในระยะหลังดูเหมือนจะอ่อนล้าลงไป จะเห็นได้จากคนของ ปชป.บางคนตกเป็นจำเลยสังคมในข้อหาทุจริต คอร์รัปชัน ก็มีให้เห็น แต่เมื่อเทียบกับพรรคอื่นก็ถือว่ายังน้อยกว่า
ด้วยเหตุที่ ปชป.ยืนหยัดต่อสู้กับระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการสืบทอดอำนาจในรูปแบบของประชาธิปไตย จึงมีความโดดเด่นในการเป็นฝ่ายค้านในทุกยุค ทุกสมัย แต่ครั้นได้เป็นรัฐบาล ปชป.จะไม่โดดเด่นและเป็นที่ประทับใจของประชาชนคนรากหญ้าเท่าใดนัก และจุดนี้เองที่ทำให้ ปชป.พ่ายแพ้ต่อพรรคการเมือง ภายใต้การชี้นำของระบอบทักษิณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และการที่ ปชป.พ่ายแพ้มิได้เกิดจาก ปชป.เปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง แต่แพ้เพราะความต้องการของประชาชน และทิศทางการพัฒนาประเทศเปลี่ยน แต่ ปชป.ยังยึดแนวทางแบบเดิมคือ ทำการเมืองแบบตั้งรับรอให้มีปัญหาแล้วเข้ามาแก้ไข ในขณะที่พรรคการเมืองคู่แข่งดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเชิงรุก โดยการนำนโยบายเชิงการตลาดมาใช้ได้เสนอนโยบายประชานิยมในรูปแบบของการลด แลก แจก แถม พูดไปแล้วทำได้บ้างแต่ก็ดีกว่าไม่ได้พูด และไม่ได้ทำ
จากข้อด้อยทางการเมืองของ ปชป.ดังกล่าวนี้เอง ทำให ปชป.เสียที่นั่งทางการเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และในภาคใต้ ซึ่งเคยเป็นที่นั่งของ ปชป.มาตลอดในการเลือกตั้งที่ผ่านมา และเป็นเหตุให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคแล้วมาสู่ความวุ่นวายในการเลือกหัวหน้าพรรคคนต่อมา ดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ปชป.ก็ได้ผู้นำคนใหม่คนที่ 9 คือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคในยุคที่พ่ายแพ้นั่นเอง
ถึงแม้ว่าเฉลิมชัยจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคด้วยเสียงสนับสนุนจาก สส.21 คนจากจำนวน 25 คนถือว่ามาก แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าเส้นทางการเป็นผู้นำ ปชป.จะราบรื่น ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยทางการเมืองดังต่อไปนี้
1. เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้พูดไว้ก่อนการเลือกตั้งว่า ถ้าได้ สส.น้อยกว่า 52 คนตนจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต แต่เอาเข้าจริงๆ ได้แค่ 25 คนและไม่ยอมเลิกแถมลงแข่งเป็นหัวหน้าพรรคอีกต่างหาก จึงถือว่าเป็นจุดด้อยในข้อนี้
2. หลังจากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้พูดว่า ปชป.จะเป็นฝ่ายค้านเป็นพรรคอะไหล่ของพรรคใด แต่ถ้ามีการปรับ ครม.และพรรคเพื่อไทยได้เชิญ ปชป.เข้าร่วมเป็นรัฐบาล ปชป.จะเข้าร่วมหรือไม่ และถ้าไม่เข้าร่วมจะตอบ สส. 16 คนว่าอย่างไร จะไม่เป็นที่ขัดใจคนกลุ่มนี้หรือ
3. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ปชป.จะตั้งเป้าว่าจะได้ สส.จำนวนเท่าใด และถ้าไม่ได้ตามนั้นจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคไหม เพราะจะต้องไม่ลืมว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ปชป.ลำบากกว่าที่ผ่านมาแน่นอน เนื่องจากว่าฐานการเมืองในภาคใต้คงไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งที่กลุ่มของชวน หลีกภัย ได้รับความนิยม และในเขตเลือกตั้งกรุงเทพฯ คงไม่ต่างกันเมื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลาออกไป
ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น ปชป.ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคคนที่ 9 คงจะไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น แต่มีโอกาสถอยหลังเสียมากกว่า
ดังนั้น จำนวน สส. 25 คนจะคงเหลือเท่าเดิมหรือลดน้อยกว่าเดิมเป็นปัญหาท้าทายผู้นำคนใหม่
สุดท้าย ผู้เขียนในฐานะคนที่เลือก ปชป.มาตลอด ขอนำข้อคิดที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้นำมาอ้างไว้ในหนังสือ Xi Jinpeng the Governance of China ที่ว่า คนตาบอดขี่ม้าตาบอดตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากตกลงไปในสระลึกในเวลากลางคืน ส่วนความหมายของนักปราชญ์ขอให้ชาว ปชป.คิดหาคำตอบเอง