xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ยุค“เฉลิมชัย” พรรครอร่วมรัฐบาล !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เฉลิมชัย ศรีอ่อน - เดชอิศม์ ขาวทอง
เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ ก็ก้าวสู่ยุคใหม่ นั่นคือในความหมายที่ว่า เป็นยุคที่มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายเดชอิศม์ ขาวทอง เป็นเลขาธิการพรรค โดยเป็นการควบคุมพรรคได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขณะเดียวกันเมื่อพวกเขาเข้ามาบริหารจัดการพรรคในลักษณะดังกล่าว อีกด้านหนึ่งมันก็ย่อมมีหลายคนในพรรคต้องเดินออกไป ซึ่งก็มีมากมายหลายเหตุผล ทั้งที่เป็น “คนละพวก” หรือมองเห็นแล้วว่า “ไม่มีอนาคต” อะไรประมาณนี้ ส่วนจะอ้างในเรื่องอุดมการณ์ต่างกันก็ว่ากันไป

การเข้ามาของกลุ่ม “เฉลิมชัย-เดชอิศม์” ทำให้เกิดปรากฏการณ์หลายอย่าง ทั้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ และภายนอกพรรค เริ่มจากภายในพรรคก่อนเชื่อว่านับจากนี้ บทบาทของ“ผู้อาวุโส” ภายในพรรค เช่น นายชวน หลีกภัย และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน จะค่อยๆหมดลง หรือหากจะมีการแสดงความเห็นออกมาบ้าง แต่เชื่อว่าจะไร้ความหมาย ไม่มีใครฟังอีกต่อไป

เพราะผลจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ได้นำตัวเองเข้าไปเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” อย่างชัดเจน กับกลุ่มของนายเฉลิมชัย และ นายเดชอิศม์ โดย นายชวน สนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยเป็นคนลุกขึ้นเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคด้วยตัวเอง แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ ประเมินกำลังตัวเองแล้วรู้ดีว่าไปไม่ไหว จึงขอถอนตัว พร้อมกับ “ทิ้งบอมบ์”ส่งท้ายด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรคไปด้วย

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพความจริงที่ชัดเจนว่า บารมีและ “วาทกรรม” ของ นายชวน หลีกภัย ที่เคยสร้างอิทธิพลภายในพรรคประชาธิปัตย์มานาน ก็เสื่อมลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว และหากพิจารณาจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมันก็สะท้อนให้เห็นชัดว่า แม้แต่ในจังหวัดตรังบ้านเกิด ก็ยังรักษาพื้นที่ไว้ไม่ได้ เพราะผู้สมัครของพรรคที่เขาสนับสนุนกลับสอบตก รวมไปถึงอีกบางเขตในจังหวัดตรัง ก็พ่ายแพ้

อีกทั้งเมื่อพิจารณาในภาพรวมในพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้ หากพิจารณาจากกรณีที่เรียกว่า “เลือดไหลออก” หากมองกันในรายละเอียด ก็จะมองเห็นภาพชัดขึ้น นั่นคือ แทบทั้งหมดล้วนเป็น “คนละพวก” หากยังอยู่ก็ยิ่งไร้อนาคตลงไปอีก และที่สำคัญก็คือ ทั้งหมดล้วนเป็น“ส.ส.สอบตก” ไม่ค่อยมีพลัง หรือแทบไม่มีแสงในตัวเองอยู่แล้ว หรือบางคนก็ถือโอกาสย้ายออก เพื่อหาสังกัดพรรคใหม่ในลักษณะที่ “รอจังหวะ” อยู่แล้ว

อีกด้านหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ กลุ่มที่สนับสนุน ให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน “กลืนน้ำลาย” และ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคล้วนเป็นส.ส.ของพรรคที่ล้วนได้รับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนถึง 21 คน และทั้งหมดล้วนเป็น ส.ส.เขต ทั้งสิ้น จากจำนวนทั้งหมด 25 คน โดยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน คือ นายชวน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค

และจากคำพูดของ นายชวน หลีกภัย ที่กล่าวก่อนการเลือกหัวหน้าพรรค ที่ระบุทำนองว่า ส.ส.พวกนี้ได้รับการ “เลี้ยงดูปูเสื่อมาตลอด 4 ปี” ที่ผ่านมา มันก็ทำให้เห็นภาพชัดเจนในลักษณะที่ว่า “ใครใจถึงพึ่งได้”

เมื่อเห็นภาพแบบนี้แล้ว ภาพที่พวกเขา คือ “เฉลิมชัย-เดชอิศม์” มี ส.ส.ของพรรคอยู่ในมือทั้งหมด 21 คน เรียกว่าคุมได้หมดทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ถึงอย่างไรก็ถือว่า “มีพลัง” ในมืออยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี สำหรับภาพภายนอกพรรค ก็ต้องยอมรับคามจริงว่า ประชาธิปัตย์ในยุคของ “เฉลิมชัย-เดชอิศม์” ไร้จุดขายทางการเมือง ไม่อาจสร้างกระแสจนเป็นจุดขายได้เมื่อเทียบกับพรรคอื่น เช่น เพื่อไทย และก้าวไกล เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการช่วงชิง ส.ส.กันระหว่างสองพรรคนี้

แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยจำนวน ส.ส.ที่เป็นกลุ่มก้อน ถึง 21 คน มันก็ย่อมเป็นจำนวนที่พอเหมาะสำหรับเป็น “พรรคอะไหล่” หรือพรรคสำหรับรอร่วมรัฐบาลได้อย่างดี อีกทั้งขนาดก็ไม่ได้ใหญ่จนเทอะทะ ด้วยโควต้ารัฐมนตรีแค่ 2-3 ตำแหน่งก็เพียงพอแล้ว

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่มีหลายคนฟันธงตรงกันว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลัง “รอจังหวะเข้าร่วมรัฐบาล” กับพรรคเพื่อไทย ในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนจะเป็นช่วงเวลาไหนนั้น อาจต้องรออีกสักพัก ซึ่งอาจไม่ใช่ในยุครัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ได้ เพราะเชื่อว่า อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับผู้นำรัฐบาลในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็เป็นได้ หากมองไปถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ ที่ชื่อ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มีบทบาทในลักษณะ “นายกเงา” อยู่ในเวลานี้

เหมือนกับเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะยืนยันว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลในเวลานี้ เพราะเสียงรัฐบาลจำนวน 314 เสียง มีมากเกินพอแล้วก็ตาม

โดยเขาตอบคำถามหลังพรรคประชาธิปัตย์ ได้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ได้เกิดกระแสข่าวว่าจะมีมาร่วมรัฐบาล นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่ไปก้าวก่ายในพรรคอื่น และเขาเองก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา ปัจจุบันเราก็มี 314 เสียง มันก็เยอะอยู่แล้ว ตรงนี้ก็ให้ต้องเกียรติทางพรรคร่วมรัฐบาล และให้เกียรติกับทางพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เชื่อว่าเป็นการบริหารจัดการภายในของเขา อีกทั้งนายเฉลิมชัย ก็เพิ่งเข้ามาได้ 2-3 วันเอง ก็ต้องให้โอกาสเขาทำงาน และบริหารพรรคไปก่อน

อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว นาทีนี้หมดยุคของการเป็นพรรคการเมืองในแบบอุดมคติของบางคน รวมไปถึงการเป็นพรรคภาคนิยม เช่นในภาคใต้ รวมไปถึงเป็นพรรคที่อิงกับกระแส ไม่ว่าจะเป็น ซ้าย ซ้ายสังคมนิยมอ่อนๆ แต่น่าจะโน้มเอียงไปในลักษณะที่เป็น “เครือข่ายบ้านใหญ่” รักษาจำนวน ส.ส.เอาไว้ ในแบบที่เป็น “กลุ่มก้อน” โดยน่าจะเป็นการลดขนาดลงเป็นพรรคขนาดเล็ก ที่รักษาจำนวน ส.ส.ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 25 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยหรือไม่มากจนเกินไป ง่ายต่อการ “เลี้ยงดูปูเสื่อ” ทำให้มีความคล่องตัวสำหรับการร่วมรัฐบาล

ดังนั้นหากสรุปเป็นภาพกว้างๆสำหรับพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้ เป็นขับเคลื่อนไปในแนวทางของแกนนำหลักสองคน คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค กับ นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค กลายเป็นพรรคท้องถิ่น ที่ลดขนาดลงมา แต่มีการเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับความจริงแล้วว่าหมดยุคที่จะแข่งขันเป็นพรรคขนาดกลางหรือพรรคขนาดใหญ่แล้ว แต่เพียงแค่รักษาสถานะ “รอร่วมรัฐบาล” เท่านั้น !!



กำลังโหลดความคิดเห็น