ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ประโยชน์ของวัคซีนก็คือป้องกันโรค รวมทั้งลดอาการหนัก การตายและในขณะเดียวกันจำเป็นต้องทราบผลข้างเคียงผลแทรกซ้อนในระยะเวลาต่างๆ ตั้งแต่ได้รับวัคซีนนาทีแรกจนกระทั่งถึงระยะกลางเป็นสัปดาห์และระยะยาวเป็นเดือนและสิ่งที่ทอดยาวไปเป็นปี
วัคซีนโควิดเช่นกันในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงจำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป้าหมายของทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วยก็คือ ให้ทุกคนได้รับวัคซีน ทั้งนี้เพื่อทำให้ระบบสาธารณสุขไม่พังพาบ จนรับผู้ป่วยโควิดไม่ไหว
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบในการรองรับเพื่อประเมินผลข้างเคียงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในคนที่ได้รับวัคซีนโดยที่เป็นคนที่ยังสุขภาพดีแข็งแรงจนกระทั่งมีโรคประจำตัวอื่นๆ
รายงานในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ British Medical Journal ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 ตั้งคำถามถึงระบบในสหรัฐที่รับรายงานผลแทรกซ้อนของวัคซีนที่เรียกว่า vaccine adverse event reporting system (VAERS) ทั้งนี้ ยกตัวอย่างหมอสหรัฐฯ ที่ได้รับวัคซีนและเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง พยายามที่จะรายงานเข้าระบบ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนักรวมทั้งเป็นความซับซ้อนที่จะได้รับการติดตามสืบหารายละเอียดต่อ (Is the US’s Vaccine Adverse Event Reporting System broken? BMJ Investigation BMJ 2023; 383 doi: https://doi.org/10.1136/bmj.p2582 (Published 10 November 2023) Cite this as: BMJ 2023;383:p2582)
ระบบในการรายงานในประเทศต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศอเมริกา แม้แต่ในยุโรปและในอังกฤษเองก็มีปัญหา ซึ่งแตกต่างกับระบบในประเทศเกาหลี ดังที่มีรายงานอุบัติการของหัวใจอักเสบหลังได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ โดยเป็นการเปิดรายงานแบบอิสระและแทบจะเป็นเรียลไทม์ โดยกฎเกณฑ์ของเงื่อนไขหัวใจอักเสบนั้นตัดสาเหตุอื่นที่ทำให้หัวใจอักเสบได้ทั้งหมดจนเหลือแต่วัคซีนและตัวเลขที่ได้นั้นยังต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ และถึงแม้ว่าอุบัติการของหัวใจอักเสบอย่างเดียวจะอยู่ที่ประมาณหนึ่งใน 100,000 แต่ความรุนแรงนั้นมากจนกระทั่งถึงต้องเข้าไอซียูหัวใจวายได้รับการรักษาอย่างเข้มข้นจนกระทั่งมีการเปลี่ยนหัวใจ (บทความสุขภาพพรรษา ไทยรัฐ หัวใจอักเสบจากวัคซีน)
ในประเทศไทยเองนั้นดำเนินตามประเทศต่างๆ ที่ให้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมได้มากที่สุด ดังนั้นจะพบได้ว่ามีรายงานที่ได้รับการปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกันหรือให้มีการพิสูจน์ก่อนว่าวัคซีนเป็นสาเหตุ ซึ่งอาจจะแทบเป็นไปไม่ได้ในผู้ที่ได้รับผลกระทบและแพทย์ที่ ดูคนไข้เพราะต้องมีการสืบสวนหาสาเหตุด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการหลายชนิดด้วยกัน
ยกตัวอย่างเช่นเด็กผู้ชายอายุ 14 ขวบได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอสามเข็ม โดยเข็มสุดท้ายเก้าเดือนก่อนที่จะมีอาการของหัวใจอักเสบหัวใจวายรุนแรง และกล้ามเนื้อแขนขาอักเสบอัมพาตยกแขนขาไม่ได้ เมื่อดูเงื่อนไขของเวลาเผินๆ อาจจะตัดประเด็นของวัคซีนได้เลย แต่การสืบหาสาเหตุอย่างอื่นทั้งตัวไวรัสโควิดและไวรัสอีกหลายชนิดทั้งหมด รวมทั้งภาวะภูมิแปรปรวนที่ทำให้เกิดการอักเสบ อีกทั้งสามารถตรวจพบเศษของวัคซีนในกล้ามเนื้อหัวใจและมีการอักเสบอย่างรุนแรงในกล้ามเนื้อหัวใจ ทั้งนี้ได้รับการรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง และการให้สารสกัดน้ำเหลือง ตลอดจนยากดภูมิคุ้มกัน แม้ว่าหัวใจอักเสบหัวใจวายจะดีขึ้นแต่แขนขายังขยับไม่ได้ ทั้งหมดนี้ต้องใช้การตรวจในห้องปฏิบัติการการรักษาในระดับเป็น 100,000 เป็นล้านบาทต่อหนึ่งคน
เหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความยากลำบากในการพิสูจน์ความเกี่ยวโยงกับวัคซีน แต่ทั้งนี้เริ่มมีการวิเคราะห์สาเหตุการตายที่สูงเกินกว่าที่จะอธิบายได้เมื่อเทียบในช่วงเวลาก่อนโควิด ในระหว่างการระบาดของโควิดและหลังจากระบาดเริ่มสงบไปแล้ว และในช่วงที่เริ่มมีการใช้วัคซีน ที่เรียกว่าอัตรา excess deaths และนอกจากนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทอดยาวเป็นเวลานานเกินกว่าสามเดือนหลังจากติดเชื้อโควิดที่เรียกว่าลองโควิด (long covid) โดยมีทั้งอาการทางระบบหัวใจและปอด ระบบสมองประสาทและกล้ามเนื้อ ภาวะที่มีการอักเสบของผิวหนัง เส้นเอ็นพังผืด กล้ามเนื้อ ข้อ ตลอดจนการปะทุขึ้นของโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหรือโรคที่สงบไปแล้ว รวมทั่งมะเร็งและการเกิดเริม งูสวัดซึ่งไวรัสเหล่านี้เป็นไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายจากการติดเชื้อเนิ่นนานมาแล้ว และถูกกดไม่ให้แสดงตัวออกมาจากการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของร่างกาย และยังรวมถึงการนอนหลับที่ผิดปกติหลับยากหลับกระท่อนกระแท่น จนถึงฮอร์โมนแปรปรวนทั้งผู้ชายและผู้หญิง
คณะทำงานของเราร่วมกับภาควิชาอายุรศาสตร์และสาขาประสาทวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬา ได้ทำการติดตามผู้ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้โดยอาการขณะที่เป็นโควิดไม่รุนแรงแต่อาการหลังจากนั้นกลับรุนแรงและยืดยาว และสืบค้นผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนชนิดต่างๆ ทั้งหมดแล้วเกือบ 100 รายด้วยกัน โดยติดตามหลายวาระเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี
สิ่งที่น่าตกใจก็คือแม้ว่าอาการตอนแรกหลังจากติดเชื้อโควิดหรือหลังจากได้รับวัคซีนมีผลไม่มากนักแต่ระยะต่อมามีผลกระทบแม้ว่าอาการจะเริ่มสงบไปแล้วก็ตาม โดยผลกระทบ สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการวิเคราะห์การอักเสบในเลือด 13 ชนิด และผลกระทบต่อสมองโดยมีการจุดปะทุ ของการอักเสบในสมองจากเซลล์ Astroglia microglia ที่เรียกว่า GFAP และมีระดับของโปรตีน พิษอัลไซเมอร์ในสมองรวมทั้งมีการทำลายเนื้อสมอง ด้วย (จากการตรวจค่า NFL)
ลักษณะนี้ทำให้ต้องตระหนักว่าภาวะสมองเสื่อมได้เกิดขึ้นเงียบๆ โดยไม่แสดงอาการด้วยซ้ำและจะสามารถดำเนินต่อไปได้จากภาวะของโรคเมตาบอลิค ของตนเองทั้งอ้วน เบาหวานความดันสูง การไม่ออกกำลัง อาหารที่มากด้วยเนื้อสัตว์การขาดการบริโภคผักผลไม้กากไย
สมองเสื่อมในลักษณะนี้เป็นที่ตระหนักและมีการประกาศจากสมาคมสมองเสื่อมของสหรัฐและนานาชาติมาตั้งแต่ช่วงโควิดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
จากการวิเคราะห์วัคซีนทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา จากคณะทำงาน ยังพบว่านอกจากเอ็มอาร์เอ็นเอแล้ว ยังมีหลายพันล้านก๊อปปี้ ของ ดีเอ็นเอและส่วนที่กระตุ้นให้สามารถทำงานได้ดีขึ้นเมื่อเสียบเข้าไปในเซลล์ ทั้ง ori และ SV 40 promoter ทั้งนี้จากกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีนเพียงพอกับความต้องการโดยการใช้พลาสมิด(บทความสุขภาพหรรษาไทยรัฐ)
[อ่าน กลุ่มอาการหลังโควิด (ตอนที่ 2)]