ความเป็นพรรคเก่าแก่ของประชาธิปัตย์ ถูกมองว่าได้เข้าสู่วาระตกต่ำสุดขีดเมื่อได้หัวหน้าใหม่คือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และกรรมการบริหารชุดใหม่
ความตกต่ำเป็นความเห็นของนายหัวชวน หลีกภัย ซึ่งคาดว่าคงจะไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้เพราะมีสมาชิกสภาผู้แทนระบบปาร์ตี้ลิสต์เพียง 3 คน
ครั้งล่าสุดประชาธิปัตย์ได้จำนวนผู้แทนเพียง 25 คนจากที่เคยได้ 52 คนซึ่งช่วงก่อนเลือกตั้งนั้นนายเฉลิมชัยประกาศว่าถ้าได้ สส.น้อยกว่าเดิมจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต
เมื่อถึงเวลากลับไม่ยอมเลิกหรือหยุดแต่เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคโดยไร้คู่แข่ง อ้างหน้าตาเฉยว่าต้องการจะกอบกู้พรรค
จึงถูกมองว่าเป็นการเสียสัตย์เพื่อพรรคพวก ซึ่งนายเฉลิมชัยก็ไม่ยอมอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงไม่เลิกเล่นการเมืองตามคำประกาศ
จะเห็นได้ว่าหลังจากนั้นมีสมาชิกลาออกจากพรรคหลายคน รวมทั้งอดีตหัวหน้าพรรคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสาธิต ปิตุเตชะ และล่าสุดนายสาธิต วงศ์หนองเตย และคงจะมีอีก
กลุ่มปัจจุบันนับว่าเป็นการกุมอำนาจของชาวภูธรโดยแท้ แทบจะไม่เหลือความเป็นอินเตอร์ด้านภาพลักษณ์แสดงให้เห็นการลดระดับชั้นด้านคุณภาพอย่างแรง
ในยุคที่ประชาธิปัตย์เฟื่องฟูอย่างหนักมีแกนนำคนดังมีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นฮาร์วาร์ดและ Oxford แต่รุ่นปัจจุบันถูกมองว่าเป็นความตกต่ำอย่างน่าใจหาย
คงจะไม่เป็นการยากที่จะประเมินว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคเก่าแก่อาจจะได้ผู้แทนเป็นตัวเลขเดียว และจะแปลงสภาพเป็นพรรคย่อยที่ไร้ความหมาย
น่าเสียดายที่นายหัวชวน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสองสมัยและประธานรัฐสภาสองสมัยต้องเห็นความตกต่ำของพรรคในยามที่ตัวเองเป็นหนึ่งในสาม สส.ปาร์ตี้ลิสต์
ความคับแค้นคงยากที่จะบรรยายและยังจะไม่จบสิ้นเพราะคนที่มีประวัติความรู้ความสามารถที่อยู่ในพรรคคงจะรอจังหวะลาออกต่อไป
การได้หัวหน้าพรรคใหม่กับการสูญเสียสมาชิกคนสำคัญและความตกต่ำถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มค่า แต่คณะบริหารใหม่ที่ต้องการเข้าร่วมรัฐบาลคงมองว่าคุ้มก่อนจะถึงจุดใกล้จบ
พรรคประชาธิปัตย์เริ่มเสื่อมหนักหลังจากการลาออกจากหัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์และพรรคได้เข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่มีผลงานโดดเด่น
ตรงกันข้ามกลับมีเรื่องฉาวโฉ่ ในประเด็นข้อสงสัยเรื่องการทุจริตและการไร้ผลงาน ซึ่งทำให้เห็นว่าอนาคตของพรรคคงเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ แม้แต่ฐานที่มั่นสำคัญในภาคใต้ก็ไม่สามารถรักษาไว้ได้
แน่นอนพรรคประชาธิปัตย์เคยอยู่ในสภาพย่ำแย่มาก่อนเมื่อพ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2522 โดยพรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครเกือบหมด เหลือเพียงที่เดียวให้พรรคประชาธิปัตย์
แต่ก็ยังสามารถฟื้นตัวได้หลังจากนั้น ด้วยเหตุที่ปัญหาภายในและการแก่งแย่งชิงอำนาจแบ่งกันเป็นก๊กเป็นเหล่าทำให้เกิดความแตกแยกทำให้แกนนำตีจาก
ยังมองไม่เห็นทางว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่และคณะผู้บริหารจะสามารถฟื้นฟูพรรคได้เพราะมีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือ แม้แต่บรรดาพ่อยกแม่ยกก็เปิดหมวกโบกมืออำลาอย่างไม่อาลัยไยดี หมดใจที่จะอยู่ต่อ
การที่หัวหน้าพรรคการเมืองถูกมองว่าตระบัดสัตย์ ไม่รักษาคำพูดเท่ากับทำลายความน่าเชื่อถือที่มีอยู่น้อยให้หมดไป คงมีส่วนหนึ่งที่ต้องทนอยู่ต่อจนกว่าจะหาที่ลงใหม่ได้
และไม่แปลกถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคต่ำ 10 หรือต่ำ 5 ต่อไปในอนาคต เพราะไม่ต่างจากสภาพม้าป่วยด้วยโรคไม่มีทางรักษาหายได้ และไม่สามารถแข่งขันกับใครได้
ความเป็นภาคนิยม ระบบอาวุโสทำให้เกิดสภาพเลือกที่รักมักที่ชัง การกีดกันมาดามเดียร์ และการเล่นพรรคเล่นพวก แก๊งอัพกัน ทำให้เกิดความเสื่อมหนัก
จากนี้ไปคงไม่มีความสำคัญของพรรคในการเมืองชิงอำนาจอีกต่อไป แม้จะประกาศด้วยหัวหน้าพรรคคนใหม่ว่าจะไม่ยอมเป็นพรรคอะไหล่ให้ใคร
รอดูว่า แท้จริงแล้วอยู่ในจังหวะที่รอเสียบหรือไม่เพราะมีสองตำแหน่งว่างยั่วใจในรัฐบาลเศรษฐาซึ่งดูสภาพแล้วก็ขาดความมั่นคง ตัวหัวหน้ารัฐบาลยังไม่รู้ว่าจะไปเมื่อไหร่
รอดูว่าจะมีเศษเนื้อข้างเขียงเหลือให้ใครได้ลิ้มรสถ้าเสียบสำเร็จ แต่คงจะเป็นโอกาสสุดท้ายเมื่อการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน
ด้วยความกลับกลอกลวดลายลีลาของนโยบายและผิดคำมั่นสัญญา เน้นแต่การหิวแสงและสร้างโครงการไร้สาระอย่างเช่นเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ทำให้ประชาชนมองว่าอนาคตยังมืดมน
ประชาธิปัตย์อาจจะเป็นเพียงองค์ประกอบความเสื่อมของรัฐบาล ถ้ามีโอกาสเข้าเสียบได้ตามความต้องการแฝงเร้น และจบด้วยความเสื่อมที่ไร้ก้นบึ้ง