ถ้าประเทศที่กระทำต่อชาวปาเลสไตน์ด้วยการสังหารคนมากกว่า 15,000 คนและมีคนบาดเจ็บกว่า 30,000 คน ผู้เสียชีวิตเป็นเด็กมากกว่า 5,000 รายสหรัฐอเมริกาจะทำอย่างไร
สิ่งที่คาดได้ชัดเจนก็คือการสั่งให้กองกำลังนาโตโจมตีถล่มอย่างแรง โดยอ้างว่าป้องกันชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์เหมือนอย่างกระทำกับประเทศเซอร์เบียในยุคสงครามบอลข่าน
ช่วงนั้นมีปัญหาระหว่างเซอร์เบียกับโคโซโว ซึ่งต้องการแยกตัวเป็นอิสระเพราะมีชาวแอลเบเนียเชื้อสายมุสลิมอยู่จึงเกิดสงครามที่มองว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ยุคนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ บิล คลินตัน สั่งให้โจมตีเซอร์เบียนาน 78 วันสร้างความเสียหายประชาชนบาดเจ็บล้มตายมากมาย แต่สหรัฐฯ อ้างว่าเพื่อให้หยุดสงคราม
สหรัฐฯ ได้ทำตัวเป็นผู้มีศีลธรรมในการช่วยเหลือประเทศที่ถูกรังแก แต่ความเป็นจริงสถานการณ์ระหว่างการโจมตีประเทศเซอร์เบียและอิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์ต่างกันมาก
กรณีของประเทศเซอร์เบีย สหรัฐฯ ไม่ห่วงว่าจะมีผู้เสียชีวิตแค่ไหนแต่เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นชาติมหาอำนาจโลกหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ด้วยเหตุนี้เองสหรัฐฯ จึงจำเป็นที่ต้องดำรงความเป็นหนึ่งด้วยการแผ่อิทธิพลไปทุกภูมิภาคทั่วโลกอย่างเช่นกรณีไต้หวันในเอเชียทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับจีน ทั้งสงครามเศรษฐกิจและแสนยานุภาพทางทหาร
กรณีสงครามที่สหรัฐฯ ช่วยเหลืออิสราเอลด้านอาวุธและเงินจึงเป็นความแตกต่างแม้แรงกดดันจะทำให้สหรัฐฯ ต้องปรามกองทัพอิสราเอลว่าได้สังหารผู้บริสุทธิ์มากเกินไปแล้ว
อิสราเอลได้กระทำในสิ่งที่เรียกว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมจนถึงบัดนี้ยังไม่มีเลิกและที่สำคัญ เป้าหมายของการโจมตีคือโรงพยาบาล ค่ายผู้ลี้ภัย มัสยิด โบสถ์คริสต์ โรงเรียน และสถานที่อยู่อาศัยของประชาชน
การสังหารชาวปาเลสไตน์โดยไม่เลือกเป้าหมายจึงเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกบอกว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศทุกอย่าง
แต่ผู้นำการเมืองและกองทัพอิสราเอลไม่ใส่ใจ แม้จะมีเด็กเสียชีวิตมากมาย แต่ก็ถือว่านโยบายที่ต้องการสังหารชาวปาเลสไตน์ให้มากที่สุด เพื่อหวังจะยึดดินแดนฉนวนกาซาและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน
ความหวังของสหประชาชาติ หรือแม้แต่คำพูดปากกับใจไม่ตรงกันของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ว่าควรจะมีสองรัฐ ให้ปาเลสไตน์เป็นประเทศมีอธิปไตย คงไม่มีวันเป็นไปได้เพราะอิสราเอลไม่ยอม
ความเสียหายของฉนวนกาซายังไม่รู้ว่าใครจะจ่ายเงินเพื่อฟื้นฟูถ้าชาวปาเลสไตน์ได้มีโอกาสคืนกลับมาอยู่ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะผู้นำอิสราเอลต้องการรับประกันว่าจะไม่มีกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธคุกคามชาวยิว
สหประชาชาติหรือองค์กรอื่นใดก็คงได้แต่มองแต่ตัวเลขของผู้เสียชีวิต และความหายนะของชาวปาเลสไตน์จะเป็นตัวตัดสินว่าฝ่ายอื่นเช่นกลุ่มประเทศมุสลิมและอาหรับจำเป็นต้องเข้ามายุ่งด้วยหรือไม่
จะต้องให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอีกกี่หมื่นรายหรือมากกว่านั้น จึงจะทำให้อิสราเอลยอมเลิกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และแรงกดดันของประชาคมโลกจะมีความหมายหรือไม่
สภาวะเปราะบางในปัญหาอิสราเอลกับปาเลสไตน์แก้ไขยากกว่าสงครามยูเครนกับรัสเซียเพราะผลสุดท้ายยูเครนไม่ได้มีความหมายต่อสหรัฐฯ
สำหรับกลุ่มประเทศยุโรปก็ยังต้องดูว่าจำเป็นต้องช่วยเหลือยูเครนหรือไม่ แม้ทุกฝ่ายจะเห็นชัดว่ายูเครนไม่มีทางชนะสงครามกับรัสเซียได้หรือแม้แต่จะเอาพื้นที่คืนจากการครอบครองของรัสเซีย
พื้นที่ครอบครองมีประมาณ 23% ของยูเครนและถูกรัสเซียผนวกเอาไปไว้เป็นประเทศเดียวกันแล้ว เมื่อเงื่อนไขเป็นอย่างนี้ ย่อมไม่มีวันเกิดสันติภาพยกเว้นว่าฝ่ายใดจะยอมซึ่งนั่นต้องหลังจากการเปลี่ยนตัวผู้นำ
สมรภูมิสองแห่งคนละทวีปจึงเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกกังวลว่าจะเกิดสถานการณ์ลุกลามนำไปสู่วิกฤตร้ายแรงถึงขั้นสงครามโลกก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างจำกัดหรือไม่มีใครเหลือรอดไปได้ก็ตาม
ก่อนจะถึงวันนั้นยังมีสภาวะวิกฤตด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลมาจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียทำให้เศรษฐกิจของยุโรปถดถอย แม้แต่สหรัฐฯ ก็ยังมีปัญหาทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งการเมืองและเศรษฐกิจระดับโลกจึงเป็นประเด็นที่น่ากังวลโดยที่ไม่มีทางออกเพราะสหรัฐฯ ยังไม่มีความแน่นอนว่าใครเป็นผู้นำประเทศในการเลือกตั้งปีหน้า
คนเฝ้าตามติดสถานการณ์แทบจะต้องนั่งลุ้นวันต่อวันว่าจะเกิดอะไรขึ้น และยังต้องดูว่าสุดท้ายแล้วจะลงเอยด้วยวิกฤตรุนแรงหรือหนทางไปสู่สันติภาพ