xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราชโองการต้องมีหรือไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


มีการถกเถียงกันในประเด็นว่าพระบรมราชโองการไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการได้หรือไม่ และเมื่อใดพระบรมราชโองการจึงต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการและเมื่อใดพระบรมราชโองการจึงไม่จำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ตามหลักการปกครองแผ่นดินและการบริหารราชการแผ่นดินนั้น องค์พระมหากษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) ซึ่งแปลกันอย่างไม่ตรงตัวแต่แพร่หลายโดยคณะราษฎร 2475 ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น องค์พระมหากษัตริย์มิได้ทรงบริหารราชการแผ่นดิน (Government affairs) โดยตรง แต่ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางสามอำนาจหลักของชาติคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ดังบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560 มาตรา 3 ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

ทั้งนี้องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ (Sovereignty) แต่ไม่ได้ทรงบริหารราชการแผ่นดินหรือทรงปกครองประเทศเองอันเป็นไปตามหลัก The king can do no wrong. ซึ่งได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560 มาตรา 6 เอาไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” อันแสดงให้เห็นว่าทรงใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทย แต่มิได้ทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง จึงต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560 มาตรา 182 เอาไว้ว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ”เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการ The king can do no wrong. ดังกล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ตามมักมีผู้ที่บิดเบือนเช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า The king can do no wrong, because the king can do nothing. หรือพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงทำผิดเพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่สามารถทำอะไรได้เลย อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของพระเจ้าแผ่นดินไปจนเสียหายหมดสิ้น และลิดรอนสิทธิให้พระเจ้าแผ่นดินทรงมีสิทธิน้อยกว่าบุคคลธรรมดาเสียด้วยซ้ำอันเป็นสิ่งที่ผิดหลักราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

แม้ในเหตุการณ์ที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติหนักหนา เช่น กรณี 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งขณะนั้นไม่มีนายกรัฐมนตรี ไม่มีคณะรัฐมนตรี (เพราะจอมพลถนอม กิตติขจรกราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง) ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร พระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศภูมิพลอดุลยเดชมหาราชก็ยังทรงพระมหากรุณาแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติบ้านเมืองโดยทรงแต่งตั้งศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อนำบ้านเมืองกลับสู่ความสุขสงบเรียบร้อยด้วยพระราชบารมีอันเปี่ยมล้น หลายคนในสังคมไทยเข้าใจผิดว่าอาจารย์สัญญา เป็นนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มิได้ทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง หากแต่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอยู่คือศาสตราจารย์ทวี แรงขำ รองประธานวุฒิสภาในเวลานั้น

ดังนั้นการใดที่เป็นราชการแผ่นดิน (Government affairs) จึงมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อันเป็นไปตามบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามหลัก The king can do no wrong. อันเป็นหลักการสำคัญในระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ

ในกรณีนี้ราชการแผ่นดินได้หมายรวมไปถึงการพระราชทานอภัยโทษด้วย ดังกรณีการอภัยโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตรในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (โปรดอ่านได้จากบทความ ใครชง และ ใครรับสนอง พระบรมราชโองการในการอภัยโทษให้ “นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร” ? https://mgronline.com/daily/detail/9660000079763)

ขอยกตัวอย่างพระบรมราชโองการหรือประกาศต่างๆ ที่เป็นราชการแผ่นดินที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการให้เข้าใจได้แก่

1) ประกาศสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ




2) ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

3) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

4) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

5) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี 2563 ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

และ 6) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี ๒๕๖๓ ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อย่างไรก็ตามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ได้มีการกำหนดให้มีราชการในพระองค์ (Royal affairs) ตามมาตรา 15 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า “การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา”

ทั้งนี้ราชการในพระองค์ไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่อย่างใด ขอยกตัวอย่างประกาศราชการในพระองค์ที่ไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการได้แก่

1) ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใด ๆ ในทางการเมืองได้เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2562


2) ประกาศเรื่อง สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาในวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562

3) ประกาศเรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีในวันที่ 8 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562

4) ประกาศเรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าในวันที่ 31 สิงหาคม พุทธศักราช 2564

5) ประกาศพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกให้นายทหารราชองครักษ์พิเศษในวันที่ 31 สิงหาคม พุทธศักราช 2564

6) ประกาศเรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญจักรพรรดิมาลาให้แก่ ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน สังกัดสำนักพระราชวัง และสำนักงานองคมนตรีในวันที่ 25 เมษายน พุทธศักราช 2564

7) ประกาศแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง และพระราชทานยศตำรวจชั้นนายพลในวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2564

8) ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิโครงการหลวงในวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2560

และ 9) ประกาศ แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในวันที่ 10 มกราคม พุทธศักราช 2564

เราจะพึงสังเกตได้ว่า (1) และ (2) ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นราชการในพระองค์เกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์

ส่วนรายการที่ (3) และ (4) เป็นการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า อันเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยและเป็นราชการในพระองค์อีกเช่นกัน

ในขณะที่รายการที่ (5) และ (6) เป็นการพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ช้างเผือกและมงกุฎไทยตลอดจนเหรียญจักรพรรดิมาลา อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ข้าราชการที่ทำงานราชการแผ่นดินทั้งปวงได้รับพระราชทานเช่นกัน แต่กรณีนี้ไม่เป็นราชการแผ่นดินเพราะเป็นข้าราชการในพระองค์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 15

ส่วนรายการที่ (7) (8) และ (9) เป็นราชการในพระองค์อีกเช่นกัน จึงไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ สำหรับรายการที่ (9) มีผู้พยายามบิดเบือนว่าเป็นราชการแผ่นดิน ทั้ง ๆ ที่เป็นราชการในพระองค์ (โปรดอ่านได้จากบทความ “ราชทัณฑ์ปันสุข” เป็นราชการแผ่นดิน หรือ ราชการในพระองค์ สิ่งที่ปิยบุตรจงใจไม่เข้าใจ? https://mgronline.com/daily/detail/9650000057752)

ดังนั้นขอให้ประชาชนชาวไทยแยกแยะให้ถูกต้องว่าราชการแผ่นดินนั้นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักการ The king can do no wrong. ส่วนราชการในพระองค์ไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่อย่างใด เมื่อมีความรู้ที่ถูกต้องเช่นนี้แล้วจะได้ไม่เป็นเหยื่อของผู้ที่ไม่หวังดีที่จ้องปลุกปั่นให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป