xs
xsm
sm
md
lg

ใครชง และ ใครรับสนอง พระบรมราชโองการในการอภัยโทษให้ “นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร” ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


พระบรมราชโองการพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ให้เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปีนั้น ทำให้คนไทยจำนวนมากตกอกตกใจ หลายคนที่ต่อต้านระบอบทักษิณมาโดยตลอดถึงกับแสดงความโกรธเกรี้ยวตีโพยตีพายและกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดจากอารมณ์โดยปราศจากความเข้าใจอย่างแท้จริง ผมจึงจำเป็นต้องเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างถูกต้อง

ประการแรก ผมเคารพในพระบรมราชวินิจฉัย และถือว่าพระบรมราชโองการนั้นเป็นที่สิ้นสุด นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษจำคุกจากแปดปีเหลือหนึ่งปี และนักโทษชายทักษิณ ชินวัตรจะร้องถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเพิ่มเติมไปจากนี้อีกครั้งไม่ได้อีกแล้ว

ประการที่สอง ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการขอพระราชทานอภัยโทษนั้นต้องผ่านขั้นตอนมากมายหลายขั้นตอนมาก ต้องผ่านหน่วยราชการหลายหน่วยงาน และผ่านรัฐบาล จนเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำขึ้นไปทูลเกล้า เพราะฉะนั้นที่โปรดเกล้าลงมาก็เป็นไปตามที่ เจ้าตัวคือนักโทษชายขอพระราชทานอภัยโทษไป ผ่านการกลั่นกรองโดยหน่วยราชการ อันได้แก่ กรมราชทัณฑ์ หรือไม่ ผ่านฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานำเรื่องไปทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษเหลือหนึ่งปี ทั้งหมดนี้ผ่านการกลั่นกรองไปตามลำดับขั้นตอนหลายขั้นตอนแล้ว จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาตามนั้น

ที่รวดเร็วผิดปกติเช่นนี้หรือมีการลดโทษให้มากขนาดนี้ ก็คงต้องถามว่า หน่วยราชการและฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลทำงานรับใช้นักโทษชายมากน้อยแค่ไหน เรื่องถึงได้ไปถึงกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ว่องไวปานนี้ แล้วถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา ตาสีตาสา หน่วยราชการและรัฐบาลจะบริการให้ดีเช่นนี้หรือไม่ เรื่องจะไปได้ไวเช่นนี้หรือไม่?

เท่าที่ทราบมาเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษแบบพิเศษ ไม่ได้ผ่านกรมราชทัณฑ์เป็นผู้นำเสนอเรื่องตามปกติแต่เป็นฎีกาที่นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ส่งเรื่องไปโดยตรงที่รัฐบาล และเรื่องก็ผ่านจากรัฐบาลไปยังสำนักพระราชวังอย่างรวดเร็วมากใช่หรือไม่?

ประการที่สาม การบริหารราชการแผ่นดิน (Government affairs) นั้นต้องแยกให้ออกจากราชการส่วนพระองค์ (Royal affairs) สำหรับราชการแผ่นดิน เป็นการนำเสนอกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อให้ทรงใช้พระราชอำนาจโดยต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 ที่บัญญัติไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมาตรา 182 ที่บัญญัติไว้ว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้การพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เป็นราชการแผ่นดิน หาได้เป็นราชการส่วนพระองค์ไม่ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น อันเป็นหลักการ The king can do no wrong. เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง แต่ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้กรณีของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตรนั้น คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการขอพระราชทานอภัยโทษ และมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และเท่าที่ติดตามข่าว รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายคือศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองามเป็นผู้รับผิดชอบและติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดหรืออาจจะกล่าวได้ว่าอาจารย์วิษณุ เครืองามเป็นผู้ชงเรื่องนี้ขึ้นไปทูลเกล้าถวาย เพื่อให้ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าลงมา

ประการที่สี่ หลายคนก็อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องรีบชงเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้าย เป็นการทิ้งทวนก่อนหมดหน้าที่รัฐบาลรักษาการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สังคมก็อาจจะเคลือบแคลงสงสัยได้ว่ามีข้อตกลงทางการเมืองอันใดก่อนการพ้นตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น จะไม่มีการตลบหลังขุดแผลหลังจากดำรงตำแหน่งมา 9 ปี ประเด็นเช่นนี้ สังคมก็อาจจะตั้งคำถามในการทำหน้าที่ได้เช่นกัน อันเป็นการวิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทำไมจึงไม่รอให้รัฐบาลใหม่ที่มีนายเศรษฐา ทวีสินจากพรรคเพื่อไทยเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการขอพระราชทานอภัยโทษซึ่งมีระยะเวลาต่างกันเพียงไม่กี่วัน เหตุใดจึงต้องเร่งนำเรื่องไปกราบบังคมทูลพระกรุณามากถึงเพียงนี้

ประการที่ห้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตรแล้ว ทักษิณก็ควรสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง ด้วยการรับโทษที่เหลืออยู่ 1 ปีในเรือนจำ ไม่ใช้อภิสิทธิ์ต่าง ๆ ไม่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ครหาว่าเกิดการเลือกปฏิบัติ และไม่ขอพระราชทานอภัยโทษอีก จึงจะเรียกว่าสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง




กำลังโหลดความคิดเห็น