สงครามกลางเมืองในซูดานยังร้อนแรง ทหารรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามฆ่ากันตายทุกวัน สถานการณ์เลวร้ายสำหรับชาวซูดาน ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นๆ ต้องเสี่ยงชีวิตทุกวันโดยไม่รู้ว่าวิกฤตจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ใครจะเป็นฝ่ายชนะ
ดูแล้วฝ่ายรัฐบาลกำลังเสียท่า การสู้รบมียอดผู้เสียชีวิตมากกว่าฝ่ายต้องการล้มรัฐบาล ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างเคยเป็นเพื่อนร่วมก่อการรัฐประหารมาก่อน
จากนั้นมาแตกคอกันเพราะชิงอำนาจและผลประโยชน์ มีกองกำลังด้วยกัน พร้อมอาวุธ และความตั้งใจที่จะต้องเอาชนะฝ่ายตรงข้ามโดยมีอำนาจรัฐเป็นเดิมพัน
สงครามกลางเมืองซูดานเริ่มเมื่อกลางเดือนเมษายน เมื่อผู้นำกองทัพบก นายพลGen Abdel Fattah al-Burhan และฝ่าย Rapid Support Forces (RSF) นำโดยผู้บัญชาการ Mohamed Hamdan Dagalo หรือเรียกแบบง่ายๆ ว่า Hemedti
ฝ่ายแรกเป็นรัฐบาล ส่วน Hemedti นั้นเป็นหัวหน้ากองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (RSF) เปิดศึกชิงอำนาจกันและฝ่ายหลังเป็นต่อ บุกเข้ายึดพื้นที่ได้มาก
ที่น่ากลัวคือสงครามระอุในเมืองหลวงคาร์ทูม (Khartoum) และเมือง Bahric และ Omdurman ซึ่งรวมกันเป็นเขตเมืองหลวง ศพของทหารทั้งสองฝ่ายอยู่เกลื่อนถนน โดยส่วนมากเป็นทหารฝ่ายรัฐบาล นับตั้งแต่นายทหารทั้งสองแตกคอกันในปี 2021
ฝ่ายรัฐบาลมีทหารประมาณ 2 แสนนาย มากกว่าฝ่าย RSFกว่าเท่าตัว แต่ฝ่าย RSF ยึดพื้นที่เมืองหลวงได้มากกว่า รวมทั้งเมือง Bahri และ Omdurman ที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำไนล์ แต่เดิมทหาร RSF ใช้รถปิกอัพติดอาวุธตระเวนไปทั่ว ปัจจุบันใช้รถเก๋ง
ประชาชนซูดานถูกยึดรถยนต์และพาหนะทุกชนิดโดยกองกำลัง RSF
ฝ่ายรัฐบาลยังมีกองทัพอากาศใช้เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายของกองทัพ RSF แต่มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเป็นเหยื่อ การรักษาพยาบาลมีน้อย
ก่อนหน้านี้ฝ่าย RSF สามารถบุกโจมตีค่ายทหารซึ่งเป็นคลังอาวุธสำคัญ ทำให้ฝ่าย RSF ได้อาวุธเพิ่มมากมาย การสู้รบขยายตัวไปเมืองอื่นๆ รอบคาร์ทูม
ซูดานมีประชากรประมาณ 46 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเชื้อชาติอาหรับ และมีชนเผ่าต่างๆ มีพรมแดนติดกับซูดานใต้ อียิปต์ ชาด สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เอริเทรียและ เอธิโอเปีย มีทางออกทางทะเลแดง
ซูดานเป็นบ้านเมืองไร้ขื่อแป ซึ่งไม่แปลกสำหรับประเทศที่มีสงครามกลางเมือง อำนาจรัฐไม่สามารถคุ้มครองใครได้ ทหารและตำรวจต่างมีภาระในการสู้รบ
ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ต้องเอาตัวให้รอดก่อนที่จะดูแลทุกข์สุขของประชาชน ยังไม่มีการเจรจาสงบศึกเพราะไม่มีตัวกลาง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน
ประชาชนต้องพึ่งตนเองด้วยการหาอาวุธ เมื่อมีความเสี่ยงจากการถูกปล้น บุกรุก ผู้หญิงเสี่ยงต่อการโดนข่มขืน ออกจากบ้านไปแล้วไม่แน่ใจว่าจะได้กลับ
การสู้รบเกิดขึ้นในเมือง ชาวบ้านต้องหาอาวุธ และช่วงนี้ปืนอาก้า หรือ AK-47 มีขายกันเกลื่อนในตลาดมืด ราคาลดลงกว่าเดิม 50 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเริ่มสงคราม จนเหลือเพียงประมาณ 830 ดอลลาร์ต่อกระบอก กระสุนปืนขายต่างหาก
เท่ากับว่าปืนอาก้ากระบอกละไม่ถึง 3 หมื่นบาท เป็นของจำเป็นสำหรับรักษาชีวิต ใครต้องการซื้อมีการส่งให้ถึงที่ สาธิตการใช้ให้ด้วย มีพ่อค้ากระสุนรอขายให้อีก
ปืนอาก้าที่ขายในซูดานส่วนมากมาจากแหล่งผลิตในรัสเซีย ส่งมาจากลิเบียซึ่งอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองหลายปีตั้งแต่ผู้นำ พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ถูกสังหารในปี 2011 หลังจากกองกำลังนาโตบุกทิ้งระเบิดเพราะกัดดาฟีขัดใจสหรัฐฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าปืนอาก้าหาง่ายจากศพของทหารที่อยู่เกลื่อนถนน มีคนเก็บกวาดแล้วนำไปขายให้พ่อค้าตลาดมืด ขายต่อในราคาถูก
ปืนอาก้าที่ขายในตลาดมืดส่วนใหญ่มาจากทหารของ RSF ซึ่งเก็บได้จากศพทหารรัฐบาล ใช้เป็นช่องทางหารายได้อย่างง่าย จะหวังพึ่งแต่เงินเดือนไม่ได้ ซึ่งอยู่ระหว่าง 11 ถึง 16 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบไม่ได้กับบรรดานายพลทั้งหลาย
ผู้นำกองทัพระดับต่างๆ คุมการค้า ธุรกิจต่างๆ ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นแหล่งคอร์รัปชัน ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนกว่า 2 ล้านคนในเมืองต่างๆ ทิ้งบ้านหนีตาย
ปืนอาก้า AK-47 มีการผลิตในรัสเซียในปี 1949 ปัจจุบันมีกระจายทั่วโลกประมาณ 100 ล้านกระบอก เป็นอาวุธมาตรฐานสำหรับกองกำลังปฏิวัติแต่ใช้เป็นอาวุธมาตรฐานของหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก จีน เกาหลีเหนือ
อาก้าเป็นอาวุธประจำกายมาตรฐานของทหารรัสเซีย มีการปรับปรุงและหลายแบบ การผลิตรุ่นใหม่ที่ทันสมัย แต่รุ่นดั้งเดิมยังได้รับความนิยมเพราะใช้ง่าย
ปืนอาก้ามีเพียง 8 ชิ้นส่วน สมบุกสมบัน แช่น้ำ หมกทรายเปื้อนโคลนก็ใช้งานได้ พิสูจน์สมรรถนะในสงครามเวียดนามซึ่งปืนเอ็ม 16 สู้ความทนทานไม่ได้
ซูดานซึ่งเป็นตลาดค้าปืนอาก้า ชาวบ้านยังมีทางเลือกโดยมีปืนพกราคา 1,330 ดอลลาร์สหรัฐ เพราะใช้พกพาไปป้องกันตัว เช่นไปทำงานหรือไปตลาดราคาปืนพกลดลงมากกว่าก่อนสงครามกลางเมืองเพราะใบอนุญาตราคาแพง
เมืองหลวงและเมืองอื่นๆ กลายเป็นพื้นที่อันตราย อาชญากรรมเพิ่ม คนตกงานเพราะธุรกิจปิดตัว นักโทษแหกคุกหลังจากสงครามกลางเมืองระเบิด ทำให้นักโทษปล้นชิงทรัพย์สิน มีอาวุธจากทหาร และขายในตลาดมืด
การรักษาความปลอดภัย ศาล ตุลาการ ตำรวจ ระบบต่างๆ ล่ม สินค้าจำเป็นขาดตลาดทำให้ราคาแพง ชีวิตชาวบ้านอยู่อย่างระวังเพราะการปล้นฆ่าชิงทรัพย์
ซูดานอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดไร้อนาคต ตราบใดที่สงครามไม่สิ้นสุด