เอเอฟพี - ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุดินถล่มที่เหมืองหยกในพื้นที่ห่างไกลของพม่าขยับเพิ่มเป็นอย่างน้อย 31 ศพแล้ว โดยยังมีผู้สูญหายอีก 8 คน ตามการระบุของหน่วยกู้ภัยวันนี้ (16)
ภัยพิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ (13) นอกเมืองผากัน ของรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศ หลังจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในพื้นที่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
การทำเหมืองหยกในพม่ามีกำไรสูงเนื่องจากมีความต้องการสูงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน แต่อุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการควบคุมนี้กลับเต็มไปด้วยการเสียชีวิตของคนงานบ่อยครั้ง
“เราพบศพเพิ่มอีก 6 ศพในช่วงเช้า” เจ้าหน้าที่กู้ภัยกล่าวกับเอเอฟพี และเสริมว่ายังมีผู้สูญหายอีก 8 คน และการค้นหายังคงดำเนินต่อไป
เจ้าหน้าที่กู้ภัยขุดดินโคลนหนาเพื่อหาศพ ขณะที่ศพอื่นๆ พบลอยอยู่ในน้ำ
กองดินขนาดใหญ่สูงราว 150-180 เมตร ที่ถูกนำมาทิ้งจากการขุดเหมือง เกิดคลายตัวเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจนทำให้ดินพังทลายลง เจ้าหน้าที่กู้ภัยระบุ
ตามปกติแล้วช่วงฤดูฝนจะระงับการทำเหมือง แต่ผู้ประสบภัยจากเหตุดินถล่มนี้เชื่อว่าเป็นคนท้องถิ่นที่พยายามค้นหาของมีค่าตามกองดินโคลน
พม่าเป็นแหล่งหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คน จากเหตุดินถล่มในเมืองผากัน
หยกและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในภาคเหนือของพม่า ที่รวมถึงไม้ ทองคำ และอำพัน กลายเป็นทุนสนับสนุนทั้งสองฝ่ายในสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กะฉิ่นและกองทัพ
ในขณะที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและกลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูป แต่การรัฐประหารในปี 2564 ได้ยุติความหวังที่อุตสาหกรรมนี้จะมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ตามการระบุของหน่วยงานเฝ้าระวังระหว่างประเทศ
หลังการรัฐประหาร Global Witness เรียกร้องให้ผู้บริโภคคว่ำบาตรหยกและอัญมณีจากพม่า โดยเตือนว่าอุตสาหกรรมนี้อาจกลายเป็นทุนสำหรับการปราบปรามของกองทัพ
พลเรือนมากกว่า 3,900 คน ถูกสังหารนับตั้งแต่การรัฐประหาร ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น.