xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งเศสควบคุมกดขี่ขูดรีด 14 ประเทศแอฟริกาเหมือนยุคล่าอาณานิคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทนง ขันทอง

มองดูแล้วเงินสกุลฟรังก์ของเซเนกัล กับของคองโกมีความแตกต่างกัน แต่ความจริงแล้วมาจากโครงการเดียวกัน คือ Communauté Financière Africaine หรือ CFA franc โดยที่ค่าเงินของทั้งสองสกุลถูกตรึงกับเงินยูโร และกระทรวงการคลังของฝรั่งเศสเป็นผู้ดูแลกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศส

จากการควบคุมอำนาจอธิปไตยในนโยบายการเงินแบบเบ็ดเสร็จ ฝรั่งเศสสามารถปล้นทรัพยากรธรรมชาติ และกอบโกยประโยชน์จากแรงงานถูกของ 14 ประเทศในแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลางที่มีประชากรรวมกันเกือบ 200 ล้านคน

CFA ฟรังก์เป็นเงินสกุลร่วมของ 14 ประเทศในแอฟริกา ซึ่งอยู่ในเขตฟรังก์ (Franc Zone) เหมือนเขตยูโร (Euro Zone)

ในแอฟริกาตะวันตกมีประเทศที่เข้าร่วม CFA ฟรังก์ คือ Benin, Burkina Faso, Côte d’Ivoire, Guinea-Bissau, Mali, Niger, Senegal และ Togo มีธนาคารกลางดูแลเงินสกุลร่วมคือ Central Bank of West African States โดยสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Dakar ประเทศเซเนกัล

ในแอฟริกากลางมีประเทศที่เข้าร่วมเงินสกุลร่วม CFA Franc คือ Cameroon, Central Africa, Congo, Gabon, Equatorial Guinea และ Chad โดยมีธนาคารกลางBank of Central African States ดูแลบริหารจัดการค่าเงิน

แต่ทั้ง Central Bank of West African States กับBank of Central African States อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส ส่วนค่าเงินของ CFA franc ของทั้งแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลางจะมีค่าเท่าๆ กัน และผูกกับค่าเงินยูโร แต่กระทรวงการคลังของฝรั่งเศสดูแลการจัดการอย่างใกล้ชิด

เมื่อยุคล่าอาณานิคมสิ้นสุดลงหลังสังครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสจำใจต้องปล่อยประเทศที่อยู่ภายใต้อาณานิคมในแอฟริกาเป็นอิสระ หรือให้มีเอกราช แต่ฝรั่งเศสพยายามหาทางควบคุมลัทธิล่าอาณานิคมต่อไปด้วยวิธีการที่แยบยลผ่านการควบคุมนโยบายการเงินของประเทศแอฟริกา ซึ่งฝรั่งเศสเข้าไปครอบงำตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และยึดครองดินแดน รวมทั้งสร้างอิทธิพลได้สูงสุดในศตวรรษที่ 19

เมื่อควบคุมนโยบายการเงินได้ ฝรั่งเศสก็สามารถมีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจของประเทศแอฟริกา และกอบโกยผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และแรงงานแอฟริกันที่มีค่าจ้างต่ำ

CFA ฟรังก์เป็นตัวทำเงินให้ฝรั่งเศส ไนเจอร์ และคองโกส่งแร่ยูเรเนียม กาบองส่งน้ำมัน มารูเทเนียส่งเหล็ก โทโก และเบนินส่งสินค้าเกษตรให้ฝรั่งเศส บริษัท Bollore ของฝรั่งเศสผูกขาดท่าเรือขนส่งสินค้าทางทะเลของแอฟริกา

สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สนธิสัญญาอาณานิคมยังคงให้ฝรั่งเศสควบคุมเศรษฐกิจของรัฐในแอฟริกา ฝรั่งเศสเข้าไปครอบครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งควบคุมวัตถุดิบทางยุทธศาสตร์ของรัฐในแอฟริกา ฝรั่งเศสส่งกองทหารประจำการในประเทศแอฟริกา เรียกร้องหรือบังคับให้ซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารทั้งหมดจากฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเข้าไปทำการฝึกอบรมตำรวจและกองทัพแอฟริกัน กำหนดให้ธุรกิจของฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้รักษากิจการผูกขาดในพื้นที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นน้ำ ไฟฟ้า ท่าเรือ การขนส่ง พลังงาน ฯลฯ

ฝรั่งเศสไม่เพียงกำหนดข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าบางประเภทจากนอกเขตฟรังก์เท่านั้น แต่ยังกำหนดปริมาณขั้นต่ำในการนำเข้าจากฝรั่งเศสด้วย

สนธิสัญญาเหล่านี้ยังคงมีผลบังคับใช้และดำเนินการอยู่ทุกวันนี้

การก่อการรัฐประหารในไนเจอร์ในวันที่ 26 กรกฎาคม จึงเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการปลดแอกไนเจอร์จากลัทธิล่าอาณานิคมที่สูบเลือดสูบเนื้อชาวแอฟริกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ประชาชนชาวไนเจอร์ให้การสนับสนุนการรัฐประหาร เพื่อขับไล่อิทธิพลของฝรั่งเศสออกไปจากประเทศให้หมด

แต่สื่อตะวันตกมองอย่างบิดเบือนว่า รัฐประหารไนเจอร์เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ และโค่นอำนาจประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อจำพาไนเจอร์เข้าสู่ระบบเผด็จการ

แน่นอนเลยทีเดียวที่ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปประณามรัฐประหารไนเจอร์ ในขณะที่รัสเซีย และจีนไม่ได้แสดงท่าทีอะไรที่โฉ่งฉ่าง สิ่งที่ฝรั่งเศสกลัวที่สุดคือประเทศแอฟริกันอื่นๆ จะเอาเยี่ยงอย่างไนเจอร์ ซึ่งจะทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียอิทธิพลและความมั่งคั่งที่กอบโกยได้ประโยชน์มานานหลายศตวรรษ

ประเทศอาณานิคมที่พยายามตีจากฝรั่งเศสมีรายชื่อเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นไนเจอร์ มาลี แอฟริกากลาง บูร์กินาฟาโซ กินี แอลจีเรีย และตูนีเซีย

ฝรั่งเศสจึงให้การสนับสนุนกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States) หรือ ECOWAS ให้ส่งทหารเข้าไปแทรกแซงในไนเจอร์ เพื่อช่วยให้อดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูมให้กลับคืนสู่อำนาจ นายบาซูมกำลังถูกจับกุมตัว โดยคณะนายทหารที่ก่อการรัฐประหารภายใต้การนำของนายพลAbdourahmane Tchiani

สมาชิกของ ECOWAS มีทั้งหมด 15 ประเทศ ดังต่อไปนี้

1. BENIN

2. BURKINA FASO

3. CABO VERDE

4. CÔTE D’IVOIRE

5. THE GAMBIA

6. GHANA

7. GUINEA

8. GUINEA BISSAU

9. LIBERIA

10. MALI

11. NIGER

12. NIGERIA

13. SENEGAL

14. SIERRA LEONE

15. TOGO

แต่กำลังเกิดรอยร้าว และความขัดแย้งสูงในหมู่สมาชิกของ ECOWAS

ความตึงเครียดระหว่างไนเจอร์กับ ECOWAS เพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก Bola Ahmed Tinubu ประธานาธิบดีของไนจีเรีย ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของ ECOWAS ขู่ที่จะส่งกองทัพพันธมิตรเข้าไปในไจเนอร์เพื่อช่วยอดีตประธานาธิบดีได้อำนาจคืนมา

แต่ผู้นำของบูร์กินาฟาโซ และมาลีแอ่นอกออกมาช่วยไนเจอร์ โดยส่งสัญญาณว่าการโจมตีไนเจอร์เป็นการโจมตีบูร์กินาฟาโซ และมาลีด้วย นอกจากนี้ แอลจีเรียยังแสดงท่าทีที่ชัดเจนเหมือนกันว่า จะส่งทหารเข้าช่วยไนเจอร์ถ้าหากถูกรุกราน


ลัทธิล่าอาณานิคมสมัยใหม่ของฝรั่งเศสถูกมองว่าสร้างปัญหาความยากจน ทำให้ชาวแอฟริกันพยายามอพยพหนีไปตายเอาดาบหน้าที่ยุโรป

ในปี 2019 รองนายกรัฐมนตรีอิตาลี นายLuigi Di Maio ออกมาโจมตีนโยบายกดขี่เอารัดเอาเปรียบแอฟริกาของฝรั่งเศส ซึ่งเขากล่าวหาว่าทำให้เกิดปัญหาผู้อพยพแอฟริกันเดินทางหลบหนีเข้าไปในยุโรปอย่างผิดกฎหมาย และสร้างวิกฤตผู้อพยพให้ยุโรป

“หากเรามีคนที่กำลังออกจากแอฟริกาในตอนนี้ เป็นเพราะบางประเทศในยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส ไม่เคยหยุดล่าอาณานิคมในแอฟริกา” ดี มาโย กล่าว “ถ้าฝรั่งเศสไม่มีอาณานิคมในแอฟริกา เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเขาควรเรียกว่า ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของโลก แทนที่จะเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เนื่องจากสิ่งที่กระทำในแอฟริกา”

นายฌาคส์ ชีรัค อดีตประธานาธิบดีของฝรั่งเศสยอมรับว่า เงินส่วนใหญ่ในธนาคารของฝรั่งเศสมาจากการแสวงหาประโยชน์จากแอฟริกา และฝรั่งเศสจะสูญเสียสถานภาพในระดับโลกหากปราศจากอาณาจักรในแอฟริกา

ตั้งแต่ 1960s ฝรั่งเศสแทรกแซงทางทหาร 40 ครั้งเพื่อปราบกบฏหรือผู้ที่พยายามปลดแอกลัทธิล่าอาณานิคมฝรั่งเศสสร้างอาณานิคมฝรั่งเศสแห่งแอฟริกา (French Colonies of Africa - CFA) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยยังคงควบคุมอาณาจักรอาณานิคมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากอังกฤษ

เดิมทีแอฟริกาใช้เปลือกหอยทะเลเป็นเงินในการแลกเปลี่ยนสินค้า ต่อมาฝรั่งเศสเข้ารุกยึดดินแดนเป็นอาณานิคม พร้อมบังคับให้จ่ายภาษี และตักตวงทรัพยากรธรรมชาติ และพยายามให้อาณานิคมใช้เงินฟรังก์

หลังสงครามโลกครั้งที่2 ฝรั่งเศสสร้างเงิน CFA ฟรังก์ขึ้นมาเพื่อรักษารายได้เพิ่มเติมให้กับฝรั่งเศสโดยกำหนดให้ประเทศที่ใช้ CFA ฟรังก์ต้องฝากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ100 เปอร์เซ็นต์ที่กระทรวงการคลังฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสจะเอาไปปู้ยี่ปู้ยำหรือแสวงหาผลประโยชน์ต่ออย่างไรก็ได้ แม้ว่าตอนหลังจะมีการลดการฝากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่กระทรวงการคลังฝรั่งเศสลงเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ฝรั่งเศสยังคงเป็นเสือนอนกินเหมือนเดิม

ระหว่างปี 1945 จนถึงการเปิดตัวเงินยูโรในปี 1999 ฝรั่งเศสได้ลดค่า CFA ฟรังก์ เมื่อเทียบกับฟรังก์ฝรั่งเศสลง 99.9 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กำลังซื้อของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศในแอฟริกาและรักษามาตรฐานการครองชีพของชาวฝรั่งเศสเอาไว้ ในขณะที่ชาวแอฟริกันใต้อาณานิคมยากจนลงเกือบ 100% จากอำนาจซื้อที่ลดลง

ปัจจุบันเขต CFA ครอบคลุม 12 อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส ได้แก่ เบนิน บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน ชาด สาธารณรัฐแอฟริกากลาง กาบอง ไอวอรีโคสต์ มาลี ไนเจอร์ สาธารณรัฐคองโก เซเนกัล และโตโก ตลอดจนผู้เข้ามาใหม่อย่างกินี-บิสเซาและอิเควทอเรียลกินี

ปารีสยังมีอิทธิพลเหนือสกุลเงินของคอโมโรสผ่านฟรังก์คอโมโรส

การควบคุมทางการเงินของฝรั่งเศสครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 965,000 ตารางไมล์ของแอฟริกาและมากกว่า 180 ล้านคน เทียบเท่าพื้นที่ร้อยละ 80 ของอินเดีย ซึ่งใหญ่กว่าสหภาพยุโรป และเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรรวมกันมากกว่าฝรั่งเศสและเยอรมนี

ในอดีต Guinea ไม่ยอมรับซีเอฟเอฟรังก์ของฝรั่งเศส ขออยู่อย่างจนดีกว่าอยู่อย่างทาส ฝรั่งเศสเลยเชือดไก่ให้ลิงดู ด้วยการตัดเงินบำนาญของทหารกินี ตัดระบบไฟฟ้า และบล็อกไม่ให้เข้ายูเอ็น

ที่แสบไปกว่านั้นฝรั่งเศสพิมพ์เงินปลอมเข้าไปในระบบการเงินของกินี เพื่อทำลายระบบการเงิน และให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจกินีพังพินาศ

ผู้นำของ Togo นายSylvanus Olympio ถูกลอบสังหารในปี 1963 เพราะว่าต้องการเอาโตโกออกจากระบบอาณานิคมของฝรั่งเศส มือสังหารนำโดย Gnassingbé Eyadéma ผู้ซึ่งยึดอำนาจและกลายเป็นเผด็จการของโตโกโดยได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสอย่างเต็มที่ การปกครองของ Eyadéma ยาวนานถึง 5 ทศวรรษจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 2548 ลูกชายของเขาปกครองมาจนถึงทุกวันนี้

เอ็มมานูเอล มาครงเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนหนุ่ม และเป็นคนแรกที่เกิดหลังการสิ้นสุดของลัทธิล่าอาณานิคมในปี 2560 เขาเรียกลัทธิล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสว่า “ป่าเถื่อนอย่างแท้จริง” และ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ขณะเยือนแอลจีเรีย ถึงกระนั้น เขาก็ไม่ได้ทำอะไรมากเพื่อลบล้างร่องรอยของลัทธิล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสที่คงอยู่ยาวนานที่สุดผ่านการควบคุมระบบการเงินอย่างต่อเนื่องของปารีสเหนือ 14 ประเทศย่อยในแอฟริกา

ไม่มีประเทศที่ใช้ CFA ฟรังก์ใดเลยที่อยู่ใน 10 ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในแอฟริกา 11 จาก 14 ประเทศ CFA ฟรังก์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม “ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด” ในโลกโดยองค์การสหประชาชาติ ประเทศในแถบทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกาที่อยู่หรือเคยเป็นส่วนหนึ่งของโซน CFA ฟรังก์ล้วนอยู่ในอันดับท้ายสุดของดัชนีการพัฒนามนุษย์ขององค์การสหประชาชาติ

ในปี 2019 มาครงเสนอมาตรการการเปลี่ยนแปลงระบบ CFA ฟรังก์โดยจะมีผลเฉพาะกับ 8 ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ไม่ใช่ในแอฟริกากลางหรือคอโมโรส ซึ่งกฎปัจจุบัน จะยังคงมีผลบังคับใช้

ประการแรก มาครประกาศแผนการเปลี่ยนชื่อฟรังก์ CFA เป็น “Eco” ตามชื่อประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ซึ่งมีกำหนดจะมีผลบังคับใช้ในปี 2570

ประการที่สอง เขาประกาศถอนตัวแทนชาวฝรั่งเศสออกจากคณะกรรมการกำกับดูแลของธนาคารกลาง CFA

ประการที่สาม ขณะนี้เขากำลังอยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงความต้องการเงินสำรองร้อยละ 50 เพื่อสนับสนุนข้อตกลงใหม่ ซึ่งประเทศต่างๆ สามารถควบคุมปริมาณสำรองของตนได้ แต่ฝรั่งเศสยังคงเป็นผู้ค้ำประกันและผู้ให้กู้ทางเลือกสุดท้าย ในระยะสั้น การพึ่งพาทางการเงินยังคงดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ดี มาตรการของมาครงยังคงเป็นสัญลักษณ์มากกว่าการเปลี่ยนแปลง

มีข้อเสนอความเป็นไปได้ 3 ประการในการปฏิรูประบบการเงินของแอฟริกาที่อยู่ใต้อาณานิคมคือ

1. ฝรั่งเศสสามารถยกเลิกระบบการเงิน CFA ได้ทั้งหมด และกองทุนการเงินระหว่างประเทศอาจเข้ามาแทนที่ ซึ่งอาจตรึงสกุลเงินท้องถิ่นไว้กับสิทธิพิเศษในการถอนเงินของตนเอง แต่มีพลเมืองไม่กี่คนที่จะตื่นเต้นกับการเป็นแรงงานขัดหนี้ระหว่างประเทศ

2. ให้ใช้สกุลเงินภูมิภาค ECOWAS จะเป็นผู้ออกเงินสกุลร่วมให้ชื่อว่า Eco แต่แผนการดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับอนาคต

3. ให้แต่ละประเทศจะสร้างธนาคารกลางและสกุลเงินของตัวเองเหมือนที่อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสอื่นๆ เช่น มอริเตเนีย จิบูตี แอลจีเรีย และมาดากัสการ์เคยทำ อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศเหล่านี้บริหารงานโดยรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งจะมีปัญหาในการบริหารระบบการเงินที่มีความรับผิดชอบ


แต่ข้อเสนอเหล่านี้จะถูกนำไปปฏิบัติเพื่อปฏิรูปโครงสร้างระบบการเงิน CFR Franc อย่างจริงๆ จังๆ ในทางปฏิบัติยังคงเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน เพราะว่าฝรั่งเศสไม่ยอมเสียอำนาจการควบคุมแอฟริกาไปง่ายๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น