xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำตุรเคียกลับลำคบสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรเคีย
ผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อนและความเป็นมิตรต้องหยุดการพักใช้ชั่วคราว ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม

นั่นเป็นความคิดของผู้นำตุรเคีย ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ซึ่งเปลี่ยนท่าทีแบบ 360 องศาโดยหันไปอี๋อ๋อกับนาโตและสหรัฐอเมริกา

ผู้นำตุรเคีย ประกาศสนับสนุนยูเครนให้เข้าเป็นสมาชิกนาโต ยอมหนุนสวีเดนให้เป็นสมาชิกนาโตเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ยอมให้ฟินแลนด์และเป็นสมาชิกนาโตในเดือนเมษายน

โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าสวีเดนจะต้องเลิกคว่ำบาตรการส่งออกอาวุธให้ตุรเคีย และสนับสนุนให้เข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปด้วย

ตุรเคีย รอเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปนานกว่า 50 ปีเพราะติดเงื่อนไขสารพัดเรื่องเหตุการเมืองภายในประเทศเช่นสิทธิมนุษยชนและความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่โลกตะวันตกต้องการ

นอกจากนั้นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศว่าจะขายเครื่องบินรบเอฟ 16 ให้ตุรเคีย หลังจากแช่เย็นคำขอนานหลายเดือน

โจ ไบเดน อ้างว่าจะผลักดันให้การขายเครื่องบินเอฟ 16 ผ่านสภาคองเกรส ให้ได้แม้จะมีเสียงคัดค้านจากนักการเมืองหลายคน ว่าไม่ไว้ใจแอร์โดอัน

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ยกเลิกแผนการขายเครื่องบินรบ เอฟ 35 ให้ตุรเคีย ด้วยความไม่พอใจหลังจากผู้นำตุรเคีย ได้ซื้อระบบต่อต้านขีปนาวุธเอส 400 จากรัสเซีย

การเปลี่ยนท่าทีครั้งนี้ทำให้ผู้นำตุรเคีย ได้ผลประโยชน์มหาศาลเพราะสวีเดนยอมจัดการกับพวกต่อต้านแอร์โดอันและกลุ่มกบฏเคิร์ด ที่ฝังตัวอยู่ในสวีเดน

ยังมีประเด็นพวกกลุ่มที่ชอบเผาคัมภีร์อัลกุรอาน ในสวีเดนซึ่งต้องดูว่าจะถูกจัดการสั่งห้ามอย่างไรหรือไม่เพราะรัฐบาลสวีเดนอ้างว่าเป็นสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

แม้จะให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนสวีเดนให้เข้านาโตแต่ก็ยังจะต้องมีการลงนาม และจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสวีเดนได้ทำตามเงื่อนไขทั้งหมดแล้วเท่านั้น

ยังอยู่ที่ประเด็นว่าสวีเดนและประเทศประชาคมยุโรปจะยอมรับให้ตุรเคีย เป็นสมาชิกหรือไม่และยังต้องรอความเห็นชอบจากสมาชิกประเทศอื่นๆ อีก

แอร์โดอัน ได้พบปะผู้นำสหรัฐฯ และสวีเดนในการประชุมสุดยอดนาโต ช่วงต้นสัปดาห์นี้ในเมืองหลวงของลิทัวเนียเพื่อพิจารณาแผนของนาโตในการช่วยเหลือยูเครนรบกับรัสเซีย

ถ้าผู้นำตุรเคีย สมหวังกับเงื่อนไขต่างๆ ได้ทั้งสมาชิกประชาคมยุโรป เครื่องบินรบเอฟ 16 และจัดการกับกลุ่มต่อต้านในสวีเดนก็ถือว่าเป็นผลประโยชน์สูงสุดที่ได้ในช่วงเวลาไม่นาน

คำถามมีอยู่ว่าการกระทำเรื่องราวนี้จะทำให้รัสเซียขัดใจหรือไม่ และได้มีนักการเมืองรัสเซียประกาศแล้วว่าแอร์โดอันทำตัวเหมือนงูพิษในพงหญ้าและแทงข้างหลังเพื่อน

ก่อนหน้านี้ แอร์โดอัน ทำตัวสนิทสนมกับผู้นำรัสเซียวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้วยการเตือนว่าจะมีการรัฐประหารล้มรัฐบาลแอร์โดอัน ในปี 2016

การวางแผนรัฐประหารทำกันในฐานทัพสหรัฐฯ ในตุรเคีย ทำให้รัฐบาลสามารถตั้งรับสถานการณ์ได้จากการเตือนของปูติน รัฐบาลจัดการจับกุมคุมขังกลุ่มทหาร ตำรวจข้าราชการ ทนายความ ตุลาการ ครูอาจารย์นักศึกษาและกลุ่มอื่นๆ หลายหมื่นคน

หลังจากนั้นแอร์โดอัน ได้ปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อกระชับอำนาจและจัดการกับกลุ่มต่อต้านต่างๆ และกำหนดบทบาทด้วยการเป็นตัวกลางการเจรจาระหว่างยูเครนกับรัสเซียให้ยุติสงคราม

แอร์โดอัน ทำตัวสนิทสนมกับปูตินอย่างมากแต่ก็ยังถูกมองว่าเป็นเหมือนนกสองหัวเพราะเป็นสมาชิกนาโตแต่ทำตัวเหมือนเด็กนอกคอกไม่ยอมสยบต่อสหรัฐฯ

ครั้งนี้ แอร์โดอัน จะทำตัวลับ ลวง พราง เปลี่ยนท่าที เพื่อให้ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการเสียก่อนหรือไม่ โดยอาจจะรู้เห็นร่วมเล่นละครกับปูตินตบตาสหรัฐฯ

ถ้าเป็นจริงก็จะซ้ำรอยเดิมเหมือนกลุ่มนักรบรับจ้าง Wagner ที่ลุกฮือช่วงวันที่ 24 มิถุนายนและเดินทางเข้ากรุงมอสโกเพื่อเล่นงานแม่ทัพนายกองแต่ยกเลิกแผนกะทันหัน

ล่าสุดผู้นำนักรบ Wagner นายเยฟเกนี พริโกซิน ผู้นำหน่วยทหารรับจ้าง ได้เข้าพบร่วมประชุมกับปูตินในวังเคลมลินวันที่ 29 มิถุนายนและคุยกันนานร่วม 3 ชั่วโมง โดยมีหัวหน้าหน่วยนักรบกว่า 30 นายเข้าร่วมด้วย

นั่นเป็นการยืนยันว่าการลุกฮือของนักรบวากเนอร์เป็นเพียงแผนแหกตา สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต โดยดับฝันของนักการทหารและนักวิเคราะห์ต่างๆ ที่แสดงความเห็นด้วยความลิงโลดผ่านสื่อ ว่าปูตินและรัสเซียพบจุดจบแน่

กรณีของผู้นำตุรเคีย ต้องรอให้เวลาพิสูจน์ว่าเป็นการหักหลังปูตินและเล่นบทงูพิษในพงหญ้านักแทงข้างหลังอย่างที่สงสัยหรือไม่

และแอร์โดอัน ย่อมรู้ว่าการเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัสเซียนั้นจะมีผลร้ายตามมาอย่างไร

แอร์โดอัน จำคำเตือนของนายเฮนรี คิสซินเจอร์ ได้หรือไม่ว่าการเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ นั้นเป็นอันตรายแต่การเป็นมิตรกับสหรัฐฯ นั้นถึงตาย


กำลังโหลดความคิดเห็น