xs
xsm
sm
md
lg

อย่าลืมรัสเซียมีนิวเคลียร์! อียูเตือนปูตินอ่อนแอลง ยิ่งเป็นอันตรายมากกว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทูตสูงสุดของอียูออกปากเตือนในวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) "การอ่อนแอลง" ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เสี่ยงเป็น "อันตรายยิ่งกว่าเดิม" หลังก่อกบฏที่แท้งไปแล้วของพวกนักรบวากเนอร์ จุดชนวนวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษในประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองแห่งนี้

"ปูตินที่อ่อนแอลง ยิ่งอันตรายกว่าเดิม ดังนั้นเราจำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบให้มากๆ" โจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวก่อนการประชุมของพวกผู้นำอียูในบรัสเซลส์ "ที่ผ่านมา เรามองรัสเซียในฐานะภัยคุกคาม เพราะว่าพวกเขามีสรรพกำลังจำนวนมากและสรรพกำลังนี้ถูกใช้ในยูเครน แต่ตอนนี้เราจำเป็นต้องให้รัสเซียในฐานะความเสี่ยง เพราะว่าภาวะไร้เสถียรภาพภายในประเทศ"

ประธานาธิบดีปูติน เผชิญความท้าท้ายใหญ่หลวงที่สุดนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่อำนาจในปี 1999 หลังจาก เยฟเกนี ปรีโกจิน ผู้ก่อตั้งและผู้นำของบริษัททหารรับจ้าง วากเนอร์ กรุ๊ป เป็นหัวหอกในการก่อกบฏเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผานมา

อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แสดงความเห็นว่าการก่อกบฏอาจนำมาซึ่ง "อาฟเตอร์ช็อก" และยืนยันว่า "เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องยกระดับสนับสนุนยูเครน ทั้งในด้านศักยภาพด้านการทหารและการเงิน"

ส่วน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ซึ่งร่วมรับประทานอาหารเที่ยงกับบรรดาผู้นำอียูในวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) บ่งชี้ว่าปฏิบัติการของพวกนักรบวากเนอร์ เผยให้เห็นถึงรอยร้าวและความแตกแยกภายในรัสเซีย แต่เขาเตือนว่า "ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปใดๆ"

สโตลเทนเบิร์ก คาดหมายว่าจะมีการแถลงให้การสนับสนุนทางทหารยูเครนรอบใหม่ ระหว่างการประชุมซัมมิตนาโตในเมืองหลวงของลิทัวเนีย ในเดือนหน้า

ในส่วนของ บอร์เรลล์ กล่าวต่อว่า ยุโรปจำเป็นต้องให้การสนับสนุนยูเครน "ในระยะยาว" สนับสนุนประเทศแห่งนี้ทั้งในระหว่างสงครามและหลังจากนั้น พร้อมแนะนำจัดตั้ง "กองทุนป้องกันยูเครนหนึ่ง" ขึ้นมา

เขาบอกว่ากองทุนนี้ จะสนับสนุนปรับปรุงกองทัพยูเครนให้มีความทันสมัย พร้อมกับคำมั่นสัญญาจากอียู ในการรับประกันความมั่นคงของประเทศที่ถูกสงครามฉีกเป็นชิ้นๆแห่งนี้

ด้าน กิตานาส นาวเซดา ประธานาธิบดีลิทัวเนีย สะท้อนความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับ บอร์เรล ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) พร้อมเรียกร้องให้มีมาตรการที่เด็ดขาดในการรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซีย

"เราจำเป็นต้องทราบความเคลื่อนไหวใดๆ ในระบบการเมืองรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบกับความมั่นคงของเรา แต่ผมไม่เห็นด้วยกับบรรดาเพื่อนผู้นำทั้งหลาย ที่บางคนบอกว่าปูตินที่แข็งแกร่งอันตรายน้อยกว่าปูตินที่อ่อนแอ ผมไม่เห็นด้วยกับความเชื่อดังกล่าว" ประธานาธิบดีลิทัวเนีบระบุ

บรรดาประเทศอียูที่เป็นเพื่อนบ้านของเบลารุส ดินแดนที่ ปรีโกจิน เข้าไปลี้ภัย แสดงความกังวลว่าทหารรับจ้างของพวกเขาหลายคนอาจรับข้อเสนอของเครมลินเข้าร่วมกับเขา "เรากังวลอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในเบลารุส" ประธานาธิบดีลิทัวเนียกล่าว "กลุ่มนักรบ หรือที่ผมเรียกพวกเขาว่าพวกฆาตกรต่อเนื่อง พวกเขาอาจปรากฏตัวในเบลารุสได้ทุกเวลา และไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่ที่พวกเขาจะหันมาหาเรา"

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น