xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

STARK ถูกเพิกถอน ส่อล้มละลาย รายย่อยแห่ทวงถามความยุติธรรม-ชดใช้ค่าเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ขบวนการโกงมโหฬารของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อตลาดทุนและนักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อยที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งไร้การเหลียวแลและเยียวยา สะท้อนภาพ “ธรรมาภิบาลตลาดทุน” ไม่มีอยู่จริง  


เรียกได้ว่าราคาหุ้น STARK เวลานี้ดิ่งลงนรกไปเรียบร้อยแล้ว หลังบริษัทเผยงบการเงินปี 2565 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่าผู้บริหารชุดใหม่พบความผิดปกติหลายรายการในงบการเงิน จนต้องกลับไปปรับตัวเลขในงบการเงินปี 2564 เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลปีล่าสุด

สำหรับรายการหลักๆ ที่แก้ไข ในส่วนงบดุล คือลูกหนี้การค้า เดิม 15,570.8 ล้านบาท แก้ไขเป็น 6,306.2 ล้านบาท ในส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของทุน) เดิม 6,591.2 ล้านบาท แก้ไขเป็น 2,844.9 ล้านบาท ส่วนงบกำไรขาดทุน รายได้จากการขายเดิม 25,217.2 ล้านบาท แก้ไขเป็น 17,486.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ สำหรับปี 2564 เดิมมีกำไร 2,794.9 ล้านบาท แก้ไขเป็นขาดทุน 5,689.3 ล้านบาท

 หลังจากปรับข้อมูลงบดุลในปี 2564 แล้ว บริษัทได้รายงานผลประกอบการปี 2565 ว่ามีรายได้ 25,213.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% ขาดทุน 6,651.1 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 11% นั่นหมายความว่า ถ้ารวมปี 2564 และ 2565 เข้าด้วยกัน STARK มีผลประกอบการขาดทุนมากถึง 12,340.4 ล้านบาท อันเป็นผลจากการตกแต่งบัญชีที่วันนี้ความจริงได้เปิดเผยสู่สาธารณชน 

กล่าวสำหรับตัวอย่างรายการตกแต่งบัญชีของ STARK เช่น การสร้างยอดขายปลอมแบบไม่มีใครจ่ายเงินจริง โดยทำรายงานเอกสารขายเท็จ โดยยอดการสร้างลูกหนี้การปลอมสูงเกินจริง 5,005 ล้านบาท ในปี 2565 และ 923 ล้านบาทในปี 2564 และ 97 ล้านบาท ก่อนปี 2564 รวมเป็นเงิน 6,025 ล้านบาท

ส่วนการสร้างยอดขายปลอมแบบจ่ายเงินโดยพวกเดียวกันเองโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าจริง ในปี 2565 มียอดขายปลอมจำนวน 1,890 ล้านบาท โดยอ้างเป็นการรับชำระเงินจาก บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ  บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย

ส่วนการสร้างรายจ่ายปลอมให้พวกเดียวกันเองนั้น มีการลงบัญชีเป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อสินค้าโดยมียอดเงินเข้าบริษัท เอเชีย แปซิฟิกดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เช่นกัน โดยรายการจ่ายเงินปลอมนี้มีจำนวนมากถึง 10,451 ล้านบาท ซึ่งผู้สอบบัญชีตรวจพบการสร้างรายจ่ายปลอมนี้เพิ่งเกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565

นอกจากนั้น ยังมีรายการล้างลูกหนี้ โดยสร้างรายการรับเงินปลอมจากต่างประเทศ เพื่อล้างลูกหนี้ในปีก่อนๆ ให้มียอดน้อยลง มูลค่า 6,086 ล้านบาท และจากเส้นทางการรับชำระเงินเป็นการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด สรุปง่ายๆ ก็คือบริษัทนี้เอาเงินสดที่บริษัทจ่ายค่าสินค้าปลอม มาซื้อสินค้าปลอมและล้างลูกหนี้ในปีก่อนด้วย

เมื่อรวมรายการปลอมแปลงตกแต่งบัญชีข้างต้นบวกกับการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มปลอม 611 ล้านบาทรวมเป็นยอดทั้งสิ้น 25,063 ล้านบาท และการตกแต่งบัญชีครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK นั่นเอง

 กรณี STARK จึงให้บทเรียนแก่นักลงทุนหลายประการว่าไม่ควรไว้วางใจใครหน้าไหนทั้งสิ้น นับตั้งแต่ผู้คุมกฎและดูแลตลาดหุ้นอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แม้กระทั่งบริษัทใหญ่โตที่มีชื่อเสียง รวมทั้งความน่าเชื่อถือบริษัทผู้สอบบัญชี เพราะเมื่อเกิดเรื่องเกิดความเสียหายขึ้นมา นักลงทุนต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงแทบจะทั้งหมดด้วยตัวเอง คาถาที่ต้องจำให้ขึ้นใจเสมอคือ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” 

การตกแต่งบัญชีโกงบริษัทของผู้บริหารชุดก่อนและผู้บริหารบริษัทย่อยที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงนั้น ทางคณะผู้บริหารบริษัทชุดใหม่กำลังเร่งรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี ตามที่ นายอภิชาต ตั้งเอกจิต  กรรมการ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ แต่ถึงที่สุดแล้วจะลากตัวคนกระทำผิดมาลงโทษได้หรือไม่ หรือจำต้องปล่อยให้ลอยนวลเพราะตัวการโกงหอบเงินหนีไปอยู่ต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว

**สุนันท์ ศรีจันทรา** คอลัมนิสต์ชุมชนคนหุ้น ตั้งข้อสังเกตว่างบการเงินประจำปี 2565 ของ STARK ฉายภาพให้เห็นอดีตผู้บริหารบริษัทโกงสะบั้นหั่นแหลกและเตรียมแผนการโกงมาหลายปี ซึ่งอาจเริ่มตั้งแต่นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 2.15 หมื่นล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 60 สตางค์ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 95% เมื่อปี 2562 แล้วปฏิบัติการปล้นโดยตกแต่งบัญชี สร้างยอดขายเท็จ สร้างลูกหนี้เทียม สร้างธุรกรรมซื้อขายสินค้าและแสดงผลกำไรที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และแหกตาทุกฝ่ายโดยยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 600 ล้านบาท เพื่อไม่ให้กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบ

STARK แสดงผลกำไรติดต่อกันหลายปี มีกำไรสะสมเมื่อสิ้น 30 กันยายน 2565 ประมาณ 7,849 ล้านบาท มีหนี้สถาบันการเงินประมาณ 6 พันล้านบาท แต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เกิดการโยกย้ายผ่องถ่ายทรัพย์จำนวนประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทออกไป เกือบเกลี้ยงจนเหลือแต่ซาก ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบกว่า 4 พันล้านบาท บริษัทตกอยู่ในฐานะล้มละลาย

เงินที่ถูกไซฟ่อนออกไปประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นเงินจากการออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,500 ล้านหุ้น ขายให้บุคคลในวงจำกัด 12 ราย ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท เมื่อเดือนตุลาคม 2565 วงเงินรวม 5,580 ล้านบาท และเงินจากการออกหุ้นกู้ ประมาณ 9.1 พันล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นกู้ประมาณ 5 พันชีวิต หมดเนื้อหมดตัว เพราะโอกาสได้รับชำระหนี้คืนแทบเป็นศูนย์

อีกส่วนของเงินที่สูบออกไปมาราคาหุ้นที่ถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 5.10 บาท โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือ นายวนรัชต์ เพราะทยอยขายหุ้นออกต่อเนื่องและถอนเงินลงทุนไปหมดแล้ว พร้อมกำไรมหาศาล ปล่อยให้นักลงทุนรายย่อยต้องวอดวายไปประมาณ 1 หมื่นชีวิต

คำถามที่นักลงทุนและสังคมต่างรอคอยคำตอบกระจ่างชัดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีอยู่หลายประเด็น หนึ่ง ผู้ตรวจสอบบัญชีมีส่วนรู้เห็น ร่วมสมคบกับกลุ่มอาชญากร STARK หรือไม่

สอง ทำไมสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ที่ปล่อยกู้รายใหญ่ให้ STARK จึงได้รับชำระคืนหนี้ เพราะงบไตรมาสที่ 3 ปี 2565 หนี้สถาบันการเงินยังค้างชำระอยู่ประมาณ 6 พันล้านบาท แต่งบการเงินปี 2565 กลับเหลือยอดค้างชำระเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท มีการชำระหนี้ทั้ง 2 แบงก์เมื่อไหร่ และมีข้อตกลงพิเศษหว่าง STARK กับธนาคารเจ้าหนี้หรือไม่

สาม แก๊งโกงใน STARK นอกเหนือจากอดีตผู้บริหารบริษัทที่หอบเงินนับหมื่นล้านบาท เผ่นหนีออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ยังมีผู้บริหารคืนอื่นที่ยังอยู่ร่วมก่ออาชญากรรมด้วยหรือไม่

สี่ โศกนาฏกรรมอย่าง STARK จะเกิดซ้ำรอยอีกหรือไม่ เพราะเวลานี้หุ้นบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO กำลังถูกจับตาว่าจะเดินสู่ชะตากรรมเดียวกับ STARK หรือไม่ โดยเฉพาะการสร้างข่าวกระตุ้นราคาหุ้นล่อนักลงทุนรายย่อยลงสู่นรก โดยหุ้นถูกถล่มขายจนราคารูดติดฟลอร์หรือตกติดพื้น 30% ตลอด 5 วันทำการ ระหว่างวันที่ 12-16 มิถุนายนที่ผ่านมา และเป็นหุ้นตัวแรกในประวัติศาสตร์ที่ติดฟลอร์ 5 วันซ้อน นับจากการเปลี่ยนแปลงเพดานขึ้นลงของราคาหุ้นจาก 10% เป็น 30% มาประมาณ 30 ปี OTO กำลังกลายเป็น STARK ภาค 2 ที่จะสร้างความเสียหายร้ายแรงให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และหุ้นเน่าๆ ที่ปั่นราคาปล้นนักลงทุนจนหมดตัว คงไม่จบลงที่ STARK และ OTO เท่านั้น แต่จะต่อเนื่องอีกนับสิบภาค

นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามที่มีความสำคัญยิ่ง คือ ก.ล.ต. และ ตลท. ตระหนักในความผิดพลาด ความหละหลวม ความล้มเหลวในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ และตระหนักในความพ่ายแพ้ราบคาบให้แก่กลุ่มโจรในตลาดหุ้น จนประชาชนผู้ลงทุนนับหมื่นๆ ชีวิตต้องล่มสลายหรือไม่ เพราะภารกิจปกป้องนักลงทุนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง สององค์กรนี้จะปรับตัวทำงานเชิงรุกเพื่อคุ้มครองประโยชน์นักลงทุนได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี เวลานี้ ตลท.ลุกขึ้นมาประกาศให้ STARK เข้าข่ายถูกเพิกถอน โดย ตลท. แจ้งดำเนินการกับ STARK ว่าตามที่ STARK ไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 และงบการเงินไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จนเป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 STARK ได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ และปรากฏว่าส่วนของผู้ถือหุ้นปี 2564 (ปรับปรุงใหม่) และปี 2565 มีค่าน้อยกว่าศูนย์เป็นจำนวน 2,895 ล้านบาท และ 4,415 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้หลักทรัพย์ STARK มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการ ประกาศให้หลักทรัพย์ STARK มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากการที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป พร้อมทั้งขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-compliance)

ในส่วนของการขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK จากกรณีที่หลักทรัพย์ STARK เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากเหตุส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์นั้น เนื่องจากหลักทรัพย์ STARK ได้รับอนุญาตให้สามารถซื้อขายได้เป็นการชั่วคราวในระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2566

ขณะเดียวกัน มีกระแสข่าวว่า กรมสรรพากร เตรียมตรวจสอบการเสียภาษีของ STARK หลังจากงบการเงินแสดงการทุจริตหลายจุดโดยเฉพาะการสร้างรายได้และรายจ่ายปลอม

สำหรับบรรดาโบรกเกอร์ต่างมองอาการร่อแร่ของ STARK ว่าไม่เพียงแต่ฉุดความเชื่อมั่นตลาดหุ้นเท่านั้น สถานะของบริษัทอาจไปถึงขั้นล้มละลาย

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก  บล.เอเซีย พลัส (ASP) ระบุว่า จากก่อนหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ติดเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว) แก่ STARK และได้นำออกจากการคำนวณดัชนี SET100 (มีผลตั้งแต่ 7 เม.ย.66) หลังจากบริษัทไม่ส่งงบการเงินประจำปี 2565 ล่าสุด STARK ส่งงบการเงินปี 2565 ที่แท้จริง พบว่าผลการดำเนินงานพลิกจากกำไรเป็นขาดทุน

ประเด็นดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยได้ เฉกเช่นในอดีตช่วงปลายปีที่แล้ว หรือ เดือนพฤษภาคม 2565 ที่มีประเด็นหุ้น MORE สังเกตได้จากก่อนหน้า มูลค่าซื้อขายผ่านบัญชี Margin เคยอยู่สูงระดับ 2 แสนกว่าล้านบาท/เดือน (ในช่วงต้น-กลางปี 2565) ขณะที่ปัจจุบันผ่านเหตการณ์หุ้น MORE และ STARK มูลค่าซื้อขายผ่านบัญชี Margin เดือน เมษายน 2566 ลดลงอยู่ระดับ 7.6 หมื่นล้านบาท/เดือนเท่านั้น เป็นอีกมุมที่กดดัน Turnover ของ SET ให้ปรับตัวลดลงอีก ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับ 66.0%(Ytd) ขณะที่ปี 2021-2022 Turnover SET อยู่ระดับ 80-110%

ปัจจุบันตลาดหุ้นบ้านเรามีขนาด Market Cap รวมอยู่ที่กว่า 19 ล้านล้านบาท แต่ในอีกทางหนึ่งกลับพบว่ามูลค่าการซื้อขายกลับปรับตัวลดลง เห็นได้จากระดับ Turnover ช่วง Ytd ปรับลดลงมาเหลือต่ำเพียง 66% ซึ่งถือเป็นระดับที่ไม่เพียงพอที่จะพยุง SET Index ให้อยู่ระดับสูงได้ นอกจากนี้ ยังอยู่ในภาวะที่ Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง ถือเป็นอีกหนึ่งแรงกดดัน ส่วนประเด็นเรื่อง MORE และล่าสุด STARK มีส่วนทำให้ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง และน่าจะทำให้ Turnover ของตลาดหุ้นบ้านเรายังมีโอกาสปรับลดลง

ด้าน บล.ดีบีเอส วิเคอร์ส ระบุว่า STARK งบปี 2565 ขาดทุน 6.6 พันล้านบาท ปี 64 หลังปรับปรุงขาดทุน 6.0 พันล้านบาท โดยคาดว่าราคาหุ้นเข้าสู่ศูนย์ ควรระมัดระวังการลงทุนอย่างยิ่ง เพราะแม้กระทั่งส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ ณ สิ้นปี 2565 เป็น -4.4 พันล้านบาท นั่นคือมูลค่าทางบัญชี (book value) ติดลบ มีขาดทุนปี 2565 จำนวนมากถึง 6.6 พันล้านบาท หาค่า P/E และ P/BV ไม่ได้ยอดขาดทุนสะสมสูงไปถึง 10.4 พันล้านบาท ปี 2564 เดิมกำไร 2.9 พันล้านบาท ปรับปรุงจนกลายเป็นขาดทุน 6.0 พันล้านบาท ผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้ความเห็นได้เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ และมีความสงสัยต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อไปได้อย่างต่อเนื่องของกิจการในอนาคต และมีรายการผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้นมาก

อีกทั้งบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน กระแสเงินสดจากการดำเนินงานปี 2565 เป็น -4.6 พันล้านบาท ต้องเจรจากับเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้ทางการเงิน ได้แก่ สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ คาดว่าบริษัทต้องเข้าสู่ภาวะการฟื้นฟูกิจการ มีความเสี่ยงที่จะถูกเพิกถอนออกจาก SET เพราะผู้สอบบัญชีไม่ให้ความเห็น และส่วนผู้ถือหุ้นติดลบรายการที่ผิดปกติ เช่น 1) สินค้าคงเหลือหายไป 2) รายการระหว่างกันผิดปกติ 3) ยอดขายบางส่วนไม่มีการส่งมอบจริง แม้ว่าได้เสียภาษีแล้ว 4) บันทึกว่ามีการจ่ายค่าสินค้าล่วงหน้า แต่เงินกลับถูกโอนไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้อง 5) จัดทำวิเคราะห์อายุลูกหนี้อย่างไม่ถูกต้อง เป็นต้น

 นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีทุจริต ใน STARK เชื่อว่าในที่สุด STARK น่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่อาจจะคาดหวังกับการฟื้นฟูกิจการไม่ได้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เสียไป ทำให้ความร่วมมือที่จะช่วยในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งจากผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้แบงก์ อาจไม่ได้เยอะมาก ดังนั้น อาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ STARK ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

ปัจจุบัน สถานะของ STARK มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ซึ่งภาระผูกพันที่เกี่ยวกับการค้าถือว่าหักลบกันได้ ขณะที่เงินสดในมืออยู่ที่ 6,000 ล้านบาท แต่มีหนี้สินมากกว่า 3 เท่าของเงินสดในมือ ดังนั้น หากมองในเชิงที่เลวร้ายที่สุด คือ ไม่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ และต้องชำระบัญชี หรือล้มละลาย อาจทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ หรือเจ้าหนี้อาจได้เงินคืนบ้าง แต่ไม่ครบ โดยปัจจุบัน หากดูสัดส่วนจะเป็น 1 ต่อ 3 เท่านั้น ขณะที่ผู้ถือหุ้น ในกรณีที่ STARK ไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้จะไม่เหลืออะไร หรือเท่ากับศูนย์ เนื่องจาก STARK จะต้องใช้คืนเจ้าหนี้ก่อน ดังนั้นจะไม่มีส่วนที่เหลือมายังผู้ถือหุ้น

นายกิจพณ กล่าวว่า สำหรับผู้ถือหุ้นหากพิจารณาว่า ต่อให้ STARK สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าหุ้นจะสามารถกลับไปได้ คงต้องใช้เวลาที่จะต้องคืนเงินฝั่งเงินกู้ และเห็นในเรื่องการปรับรายได้ และต้นทุนต่างๆ แสดงว่า จากเดิมที่มีกำไร ความจริงความสามาถในการทำกำไรอาจไม่สูงหรืออาจไม่มีกำไร ดังนั้น การที่จะคืนเงินกู้ของกิจการให้ได้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ลักษณะนี้นักลงทุนอาจจะต้องตัดใจว่าการลงทุนหุ้นตัวนี้ อาจเป็นความผิดพลาดที่อาจไม่ได้มีผลตอบแทนกลับมาให้นักลงทุน

 ชัชวนันท์ สันธิเดช ผู้ก่อตั้งแฟนเพจ “Club VI” สะท้อนว่า ทำไม STARK ถึงกล้า? ก็เพราะบทลงโทษทางกฎหมายแค่ “เจอ จ่าย จบ” ไม่เพียงพอให้คนผิดยำเกรง โชคร้ายเลยตกอยู่กับนักลงทุน เมื่อคนกระทำผิดถูกจับได้ก็แค่โดนมาตรการลงโทษทางแพ่ง โดนปรับ ชดใช้เงิน จบแยกย้ายกันไป ถ้าจับไม่ได้ก็รวยไปเลย เมื่อไม่โดนคดีอาญา คนก็กล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะลอง เพราะมันไม่มีต้องไปติดคุก นั่นแหละคือปัญหาว่าทำไมความเสี่ยงในการลงทุนตลาดหุ้นไทยถึงยังค่อนข้างสูงมากๆ

ความเสียหายจากการเข้าลงทุนในหุ้น STARK ทำให้กลุ่มนักลงทุนรายย่อยรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดย  นายณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์  ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยว่า ขณะนี้ผู้ลงทุนรายย่อยที่เข้าลงทุนในหุ้น STARK เข้าชื่อกันแล้วล่าสุดกว่า 661 ราย รวมมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 1,100 ล้านบาท โดยจะรวบรวมผู้เสียหายไปจนถึงวันที่ 25 มิถุนายนนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าชื่อร่วมดำเนินคดีกลุ่มไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย จากผู้ถือหุ้นทั้งหมดมากกว่า 10,000 ราย

 หุ้น STARK เคยมีมูลค่าสูงสุดตามราคาตลาดเมื่อครั้งราคา 5.50 บาท/หุ้น อยู่ที่ 73,733 ล้านบาท ล่าสุด ถึงวันนี้ราคาหุ้นลงมาต่ำสุดที่ 0.01 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด หรือเหลือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเพียง 135 ล้านบาท เท่ากับเงินละลายไปกับหุ้นตัวนี้มากถึง 73,598 ล้านบาท 

ผู้ลงทุนหุ้น STARK ได้รับความเสียหายจากมูลค่าหุ้นแทบจะกลายเป็นศูนย์ ขณะที่เจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้หุ้นกู้ที่ยังอาจพอมีหวังได้รับเฉลี่ยหนี้คืนบ้าง แม้ว่านักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะน้อมรับคำเตือน "การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง" แต่ควรเป็นความเสี่ยงจากความผิดพลาดในการลงทุนตามปกติธุรกิจ แต่กรณี STARK เกิดจากการกระทำอันไม่สุจริตของผู้เกี่ยวข้อง

 การรวมตัวของผู้ถือหุ้นรายย่อยเพื่อรวมรวมหลักฐานดำเนินการฟ้องร้องแบบหมู่ หรือ Class Action จึงเป็นไปเพื่อหวังให้เกิดความยุติธรรมและป้องปรามพฤติการณ์ฉ้อฉลในตลาดหุ้นในชั่วโมงนี้ที่ ตลท. และ กลต. ล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองนักลงทุน และเป็นเพียงแค่ “เสือกระดาษ” เท่านั้น 




กำลังโหลดความคิดเห็น