xs
xsm
sm
md
lg

STARK ทรุดต่อหากงบปี 65 แย่ ลุ้นเม็ดเงิน 3 หมื่นล้านยังพอเหลือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้น “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” ทรุดตั้งแต่วันแรกที่หวนกลับเข้าซื้อขายในกระดาน เทรดแค่ 2 วันเหลืออยู่เพียง 22 สตางค์ จาก 2.38 บาท/หุ้น คาดมีโอกาสดิ่งต่อหากงบเจ้าปัญหาปี 65 ออกมาไม่สวย ขณะหลายฝ่ายเฝ้าจับตาเม็ดเงินระดมทุนและกำไรสะสมที่รวมกว่า 3 หมื่นล้านบาทจะเหลือมากน้อยเพียงใด พร้อมติดตามแนวทาง ก.ล.ต. หาทางออกและจัดการเรื่องนี้เพื่อไม่ให้ลุกลามเหมือนกรณีหุ้น “มอร์ รีเทิร์น” หลังบริษัทเริ่มส่งสัญญาณเบี้ยวชำระหนี้

หลังจากกลับมาซื้อขายแค่เพียงวันแรก (1 มิ.ย.) ราคาหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ก็ถูกเทขายออกมาอย่างหนักหน่วงจนปิดลดลง 2.20 บาทต่อหุ้น เหลือเพียง 0.18 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 92.44% จากราคาปิดก่อนถูก XP ที่ระดับ 2.38 บาทต่อหุ้น มูลค่าซื้อขาย 1,100.56 ล้านบาท โดยระหว่างวันปรับตัวขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 0.34 บาทต่อหุ้น และต่ำสุดที่ระดับ 0.13 บาทต่อหุ้น การลดลงอย่างหนักของราคาหุ้นไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ของบริษัทในขณะนี้

ต่อมา วันที่ 2 มิ.ย.66 ราคาหุ้น STARK ปิดตลาดโดยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยที่ระดับ 0.22 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 0.04 บาท หรือ 22.22% มูลค่าการซื้อขาย 438.95 ล้านบาท ฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อยจากวันแรก แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าราคาหุ้น STARK จะยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ โดยราคาหุ้นยังมีความเสี่ยงที่จะลดลงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่องบผลประกอบการที่คาราคาซังประกาศออกมา

สำหรับหุ้น STARK นั้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้กลับมาซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย.2566 ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไข 1.ให้หลักทรัพย์ STARK ซื้อด้วยบัญชี Cash Balance กล่าวคือ ผู้ซื้อต้องชำระเงินทั้งจำนวนก่อนการซื้อหลักทรัพย์

2.ขึ้นเครื่องหมาย NC กำกับตลอดระยะเวลาที่ให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ 3.กำหนดให้การซื้อขายหลักทรัพย์ STARK ในวันแรก (1 มิ.ย.2566) มีราคาสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) ไม่เกินหนึ่งเท่าจากราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย

และ 4.ตลาดหลักทรัพย์ฯจะไม่นำหลักทรัพย์ STARK มารวมในการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ (SET Index)หลังจากถูกสั่งห้ามซื้อขายโดยขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) มาตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2566 เนื่องจากไม่นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 จึงทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) อยู่ที่ 2,413.15 ล้านบาท จาก 31,907.24 ล้านบาท ณ วันที่ 31 พ.ค.2566

ทั้งนี้ หุ้น STRAK ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.66 เนื่องจากไม่ส่งงบการเงินประจำปี 2565 ตามเงื่อนเวลาที่กำหนด โดยบริษัทชี้แจงว่า จะส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 มีนาคม แต่ขอเลื่อนส่งงบออกไปอีก โดยอ้างว่าข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการและอยู่ในการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี และยืนยันว่าจะส่งงบภายในวันที่ 21 เมษายนนี้ หรือส่งงบหลังสงกรานต์ แต่จนแล้วจนรอดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ทำให้ STARK มีความจำเป็นต้องขอเลื่อนส่งงบการเงินปัญหาออกไปอีก และคาดว่าจะสามารถส่งได้ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้

ย้อนกำเนิดหุ้นร้อน STARK

สำหรับ STARK เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM เมื่อปลายปี 2561 โดยกลุ่ม “วนรัชต์ ตั้งคารวะคุณ” เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจง ในราคาหุ้นละ 60 สตางค์ และเข้ามาเป็นถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนประมาณ 94% ของทุนจดทะเบียน จากนั้นทยอยขายหุ้นออกเพื่อแก้ปัญหาสัดส่วนผู้ถือรายย่อย (ฟรีโฟลท) จนล่าสุด “วนรัชต์” เหลือถือหุ้นในสัดส่วนเพียง 26.85% เรียกได้ว่าเป็นกำไรแรกๆ ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้รับจากการทยอยตัดขายหุ้นออกมา 67.15% เนื่องจากเพราะต้นทุนหุ้นที่ซื้อมามีราคาเพียง 60 สตางค์เท่านั้น

โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งรายเก่าและรายใหม่ ประกอบด้วย นายวนรัชต์ (26.85%) CREDIT SUISSE AG, SINGAPORE BRANCH (21.85%) Stark Investment Corporation Limited (21%) บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 304.11 ล้านหุ้น (2.55%) กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 276.19 ล้านหุ้น (2.32%) SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED (1.70%) MR.Vonnarat Tangkaravakoon (1.47%) นายณัฐภัทร ศุภนันตฤกษ์ (1.40%) นายนเรศ งามอภิชน (1.09%) และ บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) (ต่ำกว่า 1%)

นอกจากเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว STARK ยังปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล โดยบริษัทลูกเป็นผู้ดำเนินการ และใช้เงินกว่า 500 ล้านบาท ซื้อบริษัทผลิตไฟฟ้าในเวียดนามเมื่อประมาณกลางปี 2563 และดันให้บริษัทเป็นผู้นำในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขึ้นสู่ผู้ผลิตสายไฟฟ้าระดับ 14 ของโลก และทำให้ผลประกอบการฟื้นตัวขึ้น มีกำไรเติบโตต่อเนื่อง ราคาหุ้นปรับตัวตามจนเป็นหุ้นที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนรายย่อย รวมทั้งนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ

ภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาจนดูดี กลายเป็นบริษัทที่มีอนาคตสดใส ทำให้ STARK ระดมทุนได้อย่างคล่องตัว สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ กว่า 8,000 ล้านบาท ออกหุ้นกู้จำนวนกว่า 9,000 ล้านบาท ขายได้หมดเกลี้ยง ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,500 ล้านหุ้น ขายให้นักลงทุนสถาบันจำนวน 11 ราย ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท ก็ขายเกลี้ยง ได้เงินรวม 5,580 ล้านบาท


ปิดงบไม่ได้-เงินเพิ่มทุนไม่คืน

นั่นเพราะนับตั้งแต่ “วนรัชต์” เข้าไปบริหาร และมี “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ส่งผลให้ผลประกอบการ STARK ดีขึ้นต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 123.92 ล้านบาท ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 1,608.88 ล้านบาท ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 2,783.11 ล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกปี 2565 มีกำไรสุทธิ 2,216.47 ล้านบาท แต่ไตรมาสที่ 4/65 กลับมีความยุ่งเหยิงในการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 จนไม่สามารถส่งตลาดหลักทรัพย์ตามกำหนดได้ เพราะอาจมีรายการการใช้จ่ายเงินที่ไม่พึงประโยชน์โผล่ขึ้นมา

ขณะเดียวกัน บริษัทมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงิน และอาจไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นได้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน จนนำไปสู่คำถามคือ เงินของบริษัทไหลออกไปทางไหน? เพราะบริษัทไม่เคยจ่ายเงินปันผลคืนกลับผู้ถือหุ้น แม้บริษัทมีกำไรต่อเนื่องก็ตาม และไม่ยอมคืนเงินเพิ่มทุนให้นักลงทุนสถาบัน 11 แห่ง ที่ลงขันซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 5,580 ล้านบาท เช่น เครดิตสวิส แบงก์กสิกรไทย บริษัท เอส ซี บี แอสเซท แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมอีกหลายแห่ง

ทั้งที่แผนการซื้อหุ้นบริษัท LEONI AG และ LEONI Bordnetz-Systeme GmbH และหุ้น LEONI Kabel GmbH ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมนีในสัดส่วนร้อยละ 100 ของทุนจดทะเบียน มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 560 ล้านยูโร หรือประมาณ 20,588.90 ล้านบาท ได้ถูกยกเลิก ดังนั้นบริษัทควรนำเงินคืนผู้ซื้อหุ้น แต่กลับเก็บไว้ อ้างว่าจะนำไปใช้ขยายการลงทุนด้านอื่นแทน ถือเป็นการผิดวัตถุประสงค์จากการเพิ่มทุนที่ประกาศไว้ครั้งแรก

ปัจจุบัน ไม่มีใครรู้ว่าฐานะการเงินที่แท้จริงของ STARK เป็นอย่างไร นอกจากข่าวลือที่ปลิวว่อนว่า เกิดการทุจริตภายในกันมโหฬาร มีการสร้างหนี้เทียม สร้างเอกสารเท็จ และผ่องถ่ายไซฟ่อนเงินจำนวนนับหมื่นๆ ล้านบาทออกไป ก่อนจะมีการโละกรรมการบริษัทชุดเก่า ซึ่งมี “ชนินทร์” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK ได้มีการเร่งชำระหนี้คืนบริษัทย่อย ทั้งที่หนี้ยังไม่ครบกำหนด หรืออาจเป็นการสูบเงินออกจาก STARK รอบสุดท้ายไม่เพียงเท่านี้ บริษัทผลิตสายไฟฟ้าในเวียดนามที่ STARK ซื้อไว้ มีข่าวลือว่าสต๊อกสายทองแดงมูลค่านับพันล้านบาท อันตรธานหายไป เหลือแต่ “สต๊อกลม ” นั่นทำให้หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นการจัดฉากที่อลังการมากของ STARK ตลอดระยะเวลา 4 ปี ด้วยการแสดงผลกำไรเติบโตก้าวกระโดดต่อเนื่อง จนกลายเป็นหุ้นพุ่งแรงทำให้นักลงทุนแห่เข้าไปเก็งกำไร เพราะหลงในภาพลวงตา ทั้งนักลงทุนต่างชาติ ทั้งสถาบันการเงินชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งบรรดากองทุน แต่ในที่สุดราคาหุ้นที่เคยลากขึ้นไปสูงสุด 5.10 บาทต่อหุ้น ในรอบ 12 เดือน ตอนนี้หล่นลงมาเหลืออยู่เพียง 22 สตางค์

จับตาเม็ดเงิน 3 หมื่นล้านยังอยู่หรือไม่?

ดังนั้น กรณีของ STARK ในตอนนี้หลายฝ่ายจึงให้ความสำคัญไปที่เม็ดเงินของบริษัทที่มีรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท เนื่องจากมีความกังวลว่าปัจจุบันจะเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด โดยเม็ดเงินเหล่านี้มาจากการออกหุ้นกู้ 9,100 ล้านบาท รวมถึงเงินกู้สถาบันการเงิน 8,000 ล้านบาท และการออกหุ้นเพิ่มทุนขายบุคคลในวงจำกัด 11 ราย เมื่อปลายปี 2565 รวมวงเงิน 5,580 ล้านบาท อีกทั้งกำไรสะสมของบริษัท 7,849 ล้านบาท ซึ่งทุกคนกังวลต่อการถูกผ่องถ่ายออกไปจากบริษัท โดยตอนนี้ได้แต่เฝ้าคอยงบการเงินปี 2565 ที่บริษัทยืนยันพร้อมส่งตลาดหลักทรัพย์ หรือ ตลท.ในช่วงกลางเดือนนี้

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีข่าวลือว่า อดีตผู้บริหาร STARK พร้อมนักกฎหมายคู่ใจได้เผ่นหนีออกนอกประเทศไปแล้ว พร้อมกับเงินนับหมื่นล้านบาท โดยไม่รอรับแจ้งข้อหาใดๆ ถือเป็นอีกครั้งที่หุ้นร้อนแรงสร้างความเสียหายให้สถาบันการเงิน รวมถึงกองทุนทั้งในและต่างประเทศ และผู้ถือหุ้นกู้

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายกำลังจับตาไปที่การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะสามารถใช้คำสั่งหรือกฎระเบียบใดออกมาควบคุมความเสียหายในครั้งนี้ไม่ให้ลุกลามไปเหมือนครั้งหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE) ได้หรือไม่? โดยเฉพาะในเรื่องของการผ่องถ่าย รวมไปถึงการตรวจสอบบริษัทอื่นๆ ที่อาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายแบบนี้ด้วยหรือไม่?

ทั้งนี้ ด้วยการที่ STARK มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหารรวมทั้งสิ้น 7 คน เนื่องจากกรณีที่บริษัทไม่สามารถจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 ให้เสร็จสมบูรณ์ภายใต้ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จนส่งผลให้ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่แสดงความประสงค์ที่จะดูแลแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ STARK จึงจำเป็นที่จะต้องขอ ตลท.เลื่อนส่งงบปี 2565 อีกรอบ จากกำหนดเดิมภายในวันที่ 21 เม.ย.2566 รวมทั้งมีข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินการและการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี โดยได้พิจารณาร่วมกับบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ในฐานะผู้สอบบัญชีของบริษัท และผู้จัดทำรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) แล้ว คาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ภายในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 ขณะเดียวกันจะเร่งรัดจัดทำและนำส่งงบการเงินของบริษัท ประจำไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ให้ทันตามข้อกำหนดของกฎหมายต่อไป

หนี้ STARK สะเทือนแบงก์-ตลาดหุ้นกู้

สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้ คือ ปัญหาของ STARK จะลุกลามหรือไม่ และจะกระทบไปที่เจ้าหนี้ธนาคารมากน้อยเพียงใด เพราะการกู้ยืมเงินจากธนาคารจำนวนมาก หากผิดนัดชำระหนี้จะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายสำรองจำนวนมากสำหรับกลุ่มธนาคาร โดย ณ ไตรมาส 3/65 STARK มีเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ 8,600 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 6,600 ล้านบาท และ 800 ล้านบาท มีหลักประกันเป็นทรัพย์สินและลูกหนี้ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 1,200 ล้านบาท เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน

นอกจากนี้ อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักประกันเงินกู้ 6,600 ล้านบาทนั้นมีราคาประเมินเพียง 1,700 ล้านบาท ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่าบัญชีลูกหนี้จะมีมูลค่าที่มีนัยสำคัญหรือไม่ ในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระ โดยสมมติว่ามูลค่าของทรัพย์สินยังคงอยู่ที่ 1,700 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีเจ้าหนี้ในรูปของหุ้นกู้อย่างน้อยๆ 9,200 ล้านบาท ที่ได้ออกไปแล้วจำนวน 5 ชุด ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566-2568 นั้นอาจมีความเสี่ยงอาจจะได้รับผลกระทบด้วย ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 9,613 ราย ถือหุ้นเท่ากับ 28.84% (ณ 4 เม.ย.2565) มีความเสี่ยงจากหุ้นถูก SP ไปก่อนแล้ว

ล่าสุด ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงสู่ระดับ "D" เนื่องจากบริษัทผิดนัดชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้หมายเลข STARK239A และ STARK249A ทั้งนี้ ตามประกาศของนายทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ได้แจ้งว่าบริษัทได้ตัดสินใจระงับการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ดังกล่าว ซึ่งมีกำหนดชำระดอกเบี้ยในวันที่ 2 มิถุนายน 2566

ทั้งนี้ STARK แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ว่า มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้บริษัทครั้งที่ 2/2565 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2567 (STARK242A) ซึ่งจัดให้มีขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 โดยมีผู้ถือหุ้นกู้เข้าประชุมจำนวน 631 ราย รวมเป็นจำนวนหุ้นกู้ทั้งสิ้น 1,388,700 หน่วย หรือคิดเป็น 35.2973% ของจำนวนหุ้นกู้ทั้งหมด ได้พิจารณายกเว้นเหตุผิดนัดอันเกิดจากการที่ผู้ออกหุ้นกู้ส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี พ.ศ.2565 ล่าช้ากว่าที่กฎหมายและข้อกำหนดสิทธิกำหนด จึงเป็นเหตุให้บริษัทมีภาระหนี้ทางการเงินที่ต้องชำระอย่างเร่งด่วน

เบื้องต้น บริษัทประเมินว่าจะมีหนี้ที่เกิดการผิดนัดทั้งสิ้นดังต่อไปนี้ 1.หนี้หุ้นกู้หมายเลข STARK239A และ STARK249A ซึ่งมีเงินต้นค้างชำระรวมจำนวน 2,241,000,000 บาท ตามที่ได้มีมติอนุมัติเรียกให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระโดยพลัน

2.การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ในข้อ (ก) จะส่งผลให้หุ้นกู้อีก 3 ชุดได้แก่หุ้นกู้หมายเลข STARK245A STARK255A และ STARK242A ซึ่งมีเงินต้นค้างชำระรวมจำนวน 5,635,400,000 บาท จะเกิดการผิดนัดไปด้วย ทำให้เป็นไปได้ยากที่บริษัทจะสามารถชำระหนี้ได้อีกต่อไป

เหตุการณ์ของ STARK ที่ไม่ยอมส่งงบประจำปี ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น แต่สิ่งที่ทำให้หุ้น STARK เป็นที่สนใจของนักลงทุนคือ ความกังวลต่อเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่บริษัทระดมทุนป่านนี้จะหรืออยู่มากน้อยเพียงใด จะถูกไซฟ่อนและถ่ายโอนไปทางไหน และหน่วยงานที่ควบคุมอย่าง ก.ล.ต.จะสามารถตามเอาคืนมาได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา เพิ่งมีกรณีหุ้น MORE เท่านั้นที่ดูเหมือน ก.ล.ต.จะสามารถเร่งดำเนินการได้อย่างรวดเร็วทันใจ ขณะเดียวกัน ทุกคนก็หวังจะให้หุ้น STARK เป็นอีกหนึ่งหลักทรัพย์ที่ ก.ล.ต.สามารถล้อมคอกไว้ได้ทัน รวมถึงมีการเอาผิดได้ทันท่วงที

ส่วนในอนาคต การระดมทุนจำนวนมากถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายอยากให้ ก.ล.ต.เพิ่มความเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมทุนแล้วไม่นำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ จะมีมาตรการรูปแบบใดออกมารับมือ เพื่อไม่ให้บริษัทอื่นนำวิธีของ STARK ไปเป็นแบบอย่าง


กำลังโหลดความคิดเห็น