xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ ชี้กรณี STARK ฉุดความเชื่อมั่นตลาดหุ้น มองส่อล้มละลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กูรูชี้กรณี STARK ฉุดความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย ทำฟันด์โฟลว์ไหลออก Turnover ยังมีโอกาสปรับลดลง อาจซ้ำรอยหุ้น MORE ขณะที่มองบริษัทส่อแววล้มละลายหลังฐานะร่อแร่ อาจฟื้นฟูไม่ไหว ขณะที่เจ้าหนี้-ผู้ถือหุ้นไร้ความเชื่อมั่น แนะหลีกเลี่ยงเก็งกำไร หุ้นเข้าใกล้ศูนย์ ใครมีให้ขายลดเสี่ยง!

ASPS มองกรณี STARK กระทบความเชื่อมั่นตลาด

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก บล.เอเซีย พลัส (ASP) ระบุว่า จากก่อนหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ติดเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว) แก่ STARK และได้นำออกจากการคำนวณดัชนี SET100 (มีผลตั้งแต่ 7 เม.ย.66) หลังจากบริษัทไม่ส่งงบการเงินประจำปี 2565 โดยล่าสุด STARK ส่งงบการเงินปี 2565 ที่แท้จริง พบว่าผลการดำเนินงานพลิกจากกำไรเป็นขาดทุน

ประเด็นดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยได้ เฉกเช่นในอดีตช่วงปลายปีที่แล้ว หรือ พ.ย.65 ที่มีประเด็นหุ้น MORE สังเกตได้จากก่อนหน้า มูลค่าซื้อขายผ่านบัญชี Margin เคยอยู่สูงระดับ 2 แสนกว่าล้านบาท/เดือน (ในช่วงต้น-กลางปี 2565) ขณะที่ปัจจุบันผ่านเหตการณ์หุ้น MORE และ STARK มา มูลค่าซื้อขายผ่านบัญชี Margin เดือน เม.ย.66 ลดลงอยู่ระดับ 7.6 หมื่นล้านบาท/เดือนเท่านั้น เป็นอีกมุมที่กดดัน Turnover ของ SET ให้ปรับตัวลดลงอีก ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับ 66.0%(Ytd) ขณะที่ปี 2021-2022 Turnover SET อยู่ระดับ 80-110%

ระบุ Turnover ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับลดลง

ปัจจุบันตลาดหุ้นบ้านเรามีขนาด Market Cap รวมอยู่ที่กว่า 19 ล้านล้านบาท แต่ในอีกทางหนึ่งกลับพบว่ามูลค่าการซี้อขายกลับปรับตัวลดลง เห็นได้จากระดับ Turnover ช่วง Ytd ปรับลดลงมาเหลือต่ำเพียง 66% ซึ่งถือเป็นระดับที่ไม่เพียงพอที่จะพยุง SET Index ให้อยู่ระดับสูงได้ นอกจากนี้ ยังอยู่ในภาวะที่ Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง ถือเป็นอีกหนึ่งแรงกดดัน ส่วนประเด็นเรื่อง MORE และล่าสุด STARK มีส่วนทำให้ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง และน่าจะทำให้ Turnover ของตลาดหุ้นบ้านเรายังมีโอกาสปรับลดลง

DBSV คาดราคาหุ้นเข้าใกล้ศูนย์ แนะระมัดระวัง

ด้าน บล.ดีบีเอส วิเคอร์ส ระบุว่า STARK งบปี 65 ขาดทุน 6.6 พันล้านบาท ปี 64 หลังปรับปรุงขาดทุน 6.0 พันล้านบาท โดยคาดว่าราคาหุ้นเข้าสู่ศูนย์ ควรระมัดระวังการลงทุนอย่างยิ่ง เพราะแม้กระทั่งส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ ณ สิ้นปี 65 เป็น -4.4 พันล้านบาท นั่นคือมูลค่าทางบัญชี (book value) ติดลบ มีขาดทุนปี 65 จำนวนมากถึง 6.6 พันล้านบาท หาค่า P/E และ P/BV ไม่ได้ยอดขาดทุนสะสมสูงไปถึง 10.4 พันล้านบาท ปี 64 เดิมกำไร 2.9 พันล้านบาท ปรับปรุงจนกลายเป็นขาดทุน 6.0 พันล้านบาท ผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้ความเห็นได้เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ และมีความสงสัยต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อไปได้อย่างต่อเนื่องของกิจการในอนาคต และมีรายการผิดปกติต่างๆเกิดขึ้นมาก

อีกทั้งบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน กระแสเงินสดจากการดำเนินงานปี 65 เป็น -4.6 พันล้านบาท ต้องเจรจากับเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้ทางการเงิน ได้แก่สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้เพื่อปรับ โครงสร้างหนี้ คาดว่าบริษัทต้องเข้าสู่ภาวะการฟื้นฟูกิจการ มีความเสี่ยงที่จะถูกเพิกถอนออกจาก SET เพราะผู้สอบบัญชีไม่ให้ความเห็น และส่วนผู้ถือหุ้นติดลบรายการที่ผิดปกติ เช่น 1) สินค้าคงเหลือหายไป 2) รายการระหว่างกันผิดปกติ 3) ยอดขายบางส่วนไม่มีการส่งมอบจริง แม้ว่าได้เสียภาษีแล้ว 4) บันทึกว่ามีการจ่ายค่าสินค้าล่วงหน้า แต่เงินกลับถูกโอนไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้อง 5) จัดทำวิเคราะห์อายุลูกหนี้อย่างไม่ถูกต้อง เป็นต้น

ยูโอบีมองส่อแววล้มละลาย อาจฟื้นฟูไม่ไหว

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีทุจริต ใน STARK เชื่อว่าในที่สุด STARK น่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่อาจจะคาดหวังกับการฟื้นฟูกิจการไม่ได้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เสียไป ทำให้ความร่วมมือที่จะช่วยในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งจากผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้แบงก์ อาจไม่ได้เยอะมาก ดังนั้น อาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ STARK ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

ปัจจุบัน สถานะของ STARK มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ซึ่งภาระผูกพันที่เกี่ยวกับการค้าถือว่าหักลบกันได้ ขณะที่เงินสดในมืออยู่ที่ 6,000 ล้านบาท แต่มีหนี้สินมากกว่า 3 เท่าของเงินสดในมือ ดังนั้น หากมองในเชิงที่เลวร้ายที่สุด คือ ไม่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ และต้องชำระบัญชี หรือล้มละลาย อาจทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ หรือเจ้าหนี้อาจได้เงินคืนบ้าง แต่ไม่ครบ โดยปัจจุบัน หากดูสัดส่วนจะเป็น 1 ต่อ 3 เท่านั้น

ขณะที่ผู้ถือหุ้น ในกรณีที่ STARK ไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้จะไม่เหลืออะไร หรือเท่ากับศูนย์ เนื่องจาก STARK จะต้องใช้คืนเจ้าหนี้ก่อน ดังนั้นจะไม่มีส่วนที่เหลือมายังผู้ถือหุ้น

นายกิจพณ กล่าวว่า สำหรับผู้ถือหุ้นหากพิจารณาว่า ต่อให้ STARK สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าหุ้นจะสามารถกลับไปได้ คงต้องใช้เวลาที่จะต้องคืนเงินฝั่งเงินกู้ และเห็นในเรื่องการปรับรายได้ และต้นทุนต่างๆ แสดงว่า จากเดิมที่มีกำไร ความจริง ความสามาถในการทำกำไรอาจไม่สูง หรืออาจไม่มีกำไร ดังนั้น การที่จะคืนเงินกู้ของกิจการให้ได้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ลักษณะนี้นักลงทุนอาจจะต้องตัดใจว่าการลงทุนหุ้นตัวนี้ อาจเป็นความผิดพลาดที่อาจไม่ได้มีผลตอบแทนกลับมาให้นักลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น