xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ (ตอนที่ ๓๘) : พระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรนอร์เวย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายโยฮัน สวีร์ดรูปป์ (Johan Sverdrup)
 คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) กระบวนการการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแบ่งออกได้เป็นสองแบบ แบบแรกคือ จะต้องมีการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน แล้วค่อยทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ อีกแบบหนึ่งคือ ไม่ต้องผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร 
 
ในกรณีของประเทศที่ไม่ต้องผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ภูฏาน และมาเลเซีย ผู้เขียนได้กล่าวในรายละเอียดไปสองประเทศแล้ว นั่นคือ สหราชอาณาจักรและเดนมาร์ก ในตอนนี้ จะขอกล่าวถึงนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน
นอกจากหลังการเลือกตั้ง พระมหากษัตริย์นอร์เวย์จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้ว ระบบรัฐสภานอร์เวย์ยังมีเงื่อนไขที่น่าสนใจและแตกต่างจากระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยทั่วไปอีกด้วย นั่นคือ ระบบการเมืองของนอร์เวย์จะไม่มีการยุบสภาเกิดขึ้นจนกว่าสภาจะครบวาระไปเอง
 
การที่สภานอร์เวย์จะไม่สามารถถูกยุบได้จนกว่าจะครบวาระ ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้แต่แรกในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้นอร์เวย์ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ถูกกำหนดขึ้นภายหลัง และถือว่าเป็นวิวัฒนาการของระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวของนอร์เวย์เลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน หลังที่นอร์เวย์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของนอร์เวย์ ก็ยังไม่ได้แต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง
 
เงื่อนไขการแต่งตั้งรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเงื่อนไขที่เรามักพบเห็นในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปัจจุบัน แต่เงื่อนไขดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่จะค่อยๆวิวัฒนาการมา ในกรณีของนอร์เวย์ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 รัฐธรรมนูญยังเปิดให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งข้าราชการประจำหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงปี ค.ศ. 1884 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยพระมหากษัตริย์จะต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการไปแก้ไขรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่ได้ขัดกับข้อความในรัฐธรรมนูญ เพราะข้อความในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องแต่งตั้งจากข้าราชการประจำและ/หรือสมาชิกสภาฯ

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการเมืองนอร์เวย์ในปี ค.ศ. 1884 จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางประเพณีการปกครอง และเมื่อเวลาผ่านไป จึงค่อยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีข้อความตรงกับการปฏิบัติที่เกิดขึ้น
 


ในทางวิชาการ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการเมืองนอร์เวย์ ค.ศ. 1884 ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เงื่อนไขที่รัฐสภาเป็นใหญ่หรือที่เรียกว่า  “parliamentarism”   การที่รัฐสภาเป็นใหญ่นี้ นอกจากสภาจะทำหน้าที่นิติบัญญัติแล้ว ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะต้องมาจากสมาชิกรัฐสภาที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาด้วย

 นักการเมืองนอร์เวย์ที่มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ให้รัฐมนตรีจะต้องมาจากสมาชิกสภาคือ นายโยฮัน สวีร์ดรูปป์ (Johan Sverdrup) หนึ่งในผู้นำของพรรค Venstre (Venstre แปลว่า ซ้าย แต่ในขณะนั้น พรรค Venstre มีจุดยืนแบบเสรีนิยม)


นายโยฮัน สวีร์ดรูปป์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลเสรีนิยมในนอร์เวย์ขึ้นเป็นครั้งแรกและแม้ว่า โยฮัน สวีร์ดรูปป์ จะได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นผู้ที่บุกเบิกต่อสู้ให้รัฐสภาเป็นใหญ่ (parliamentarism) ในการเมืองนอร์เวย์ แต่เขากลับเป็นนักการเมืองที่ไม่เข้าใจเงื่อนไขสำคัญของการที่รัฐสภาเป็นใหญ่และกลับล้มเหลวกับสภาวะที่รัฐสภาเป็นใหญ่ที่เขาต่อสู้เพื่อให้ได้มา

เงื่อนไขสำคัญของการเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นสมาชิกสภาคือ จะต้องรักษาเสียงข้างมากในสภาไว้ให้ได้ แต่โยฮัน สวีร์ดรูปป์กลับไม่สนใจที่จะหายุทธศาสตร์ต่างๆในการรักษาเสียงข้างมากไว้ให้ได้ แต่กลับคาดหวังให้บรรดาสมาชิกสภาผู้สนับสนุนเขาต้องยอมรับเขาเหมือนในช่วงเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งสามสิบปีที่ผ่านมานั้น เขามีสถานะเป็นหัวหน้าฝ่ายค้านและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบรัฐบาล แต่เมื่อเขาเป็นรัฐบาลเอง เขากลับไม่ตระหนักถึงสถานะที่เปลี่ยนแปลงไป และบทบาทที่จะควรจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เขาไม่ประนีประนอมที่จะยอมรับสมาชิกในปีกหัวรุนแรงในพรรค ไม่สนใจข้อเสนอของสมาชิกในปีกดังกล่าวในการแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เขาล้มเหลวพ่ายแพ้ในสภาตลอดระยะเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี จนในที่สุด เขาและคนของเขาได้กลายเป็นกลุ่มเสียงข้างน้อยในพรรค และถูกขับออกจากพรรคและต้องไปตั้งพรรคของตัวเองใหม่ในที่สุด

การเป็นฝ่ายค้านสามารถวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสามารถเสนอนโยบายที่สุดโต่งเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างจากนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ในการเสนอนโยบายสุดโต่ง ฝ่ายค้านก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่านโยบายที่ตนเสนอนั้นจะปฏิบัติได้จริงหรือจะมีคนยอมรับมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาด้วยกันหรือประชาชนทั่วไป แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาล หากจะเสนอนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงมาก ย่อมทำให้เกิดความเห็นต่าง ทั้งจากสมาชิกในพรรคหรือในสภาเอง รวมทั้งจากกลุ่มพลังภายนอกสภา

 ความผิดพลาดของโยฮัน สวีร์ดรูปป์คือ เขาพยายามผลักดันนโยบายเสรีนิยมที่สุดโต่งเพื่อมุ่งตอบสนองกลุ่มชาวนาที่เป็นพันธมิตรทั้งในและนอกสภา โดยลืมไปว่าความขัดแย้งหลักของสังคมการเมืองสวีเดนขณะนั้นคือความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างชาวนาและกลุ่มข้าราชการและพ่อค้า และกลุ่มข้าราชการเป็นกลุ่มที่มีอำนาจอิทธิพลมากที่สุด การขาดความยืดหยุ่นและการประนีประนอมทำให้เขาไม่ได้เสียงสนับสนุนข้างมากในสภา และนำมาซึ่งความล้มเหลวทางการเมืองของเขาในที่สุด 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาจะล้มเหลว แต่ความสำเร็จและคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของเขาก็คือ เขาสามารถได้ชัยชนะในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1884 และผลจากจำนวน ส.ส. พรรค Venstre ที่ท่วมท้นสภาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการตั้งรัฐมนตรี ที่เดิมพระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งรัฐมนตรีจากข้าราชการประจำและ/หรือสมาชิกสภามาเป็นจะต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาเท่านั้น ทำให้การเมืองการปกครองสวีเดนเข้าสู่เงื่อนไขที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา

ส่วนเงื่อนไขที่นอร์เวย์ไม่สามารถยุบสภาได้ แต่สภาจะยุบได้ก็ต่อเมื่อครบวาระไปเองนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 เช่นกัน แต่เงื่อนไขดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 91 ปี นั่นคือ ในปี ค.ศ. 1905 และเป็นปีที่นอร์เวย์ประกาศเป็นอิสระจากสวีเดนด้วย

การเริ่มประเพณีการไม่ยุบสภาจนกว่าจะครบวาระเกี่ยวข้องอย่างไรกับการประกาศเป็นอิสระจากสวีเดน โปรดติดตามตอนต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น