xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใต้เงาจีน (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จัตุรัสเทียนอันเหมิน(ภาพ : วิกิพีเดีย)
 ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 ก่อนบาทก้าวแรก 


ก่อนที่บาทก้าวแรกของผมจะได้เหยียบย่างบนแผ่นดินจีนราวสามปี ผมได้นำตนเองเข้ามาขลุกอยู่กับวงวิชาการแล้ว การเข้ามาในวงนี้ไม่ใช่เป้าหมายแรกของชีวิตดังที่ตั้งใจไว้ตอนหนุ่ม แต่หากจะมีสิ่งใดที่ใกล้เคียงกับวงนี้บ้างแล้ว สิ่งนั้นน่าจะเป็นอาชีพที่เกี่ยวกับขีดๆ เขียนๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมชื่นชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว

ครั้นพอเข้ามาในวงวิชาการสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในความคิดมาตั้งแต่แรกเริ่มเลยเช่นกันก็คือ การเป็นนักวิชาการด้านจีนศึกษา แต่เนื่องจากชีวิตในวัยที่จะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ ผมจึงจับพลัดจับผลูมาเป็นนักวิชาการด้านนี้ในที่สุด และสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตอนที่ผมถูกสัมภาษณ์นั้น ผู้สัมภาษณ์ (ที่ต่อไปจะเป็นผู้บังคับบัญชาหรือเจ้านายของผม) ได้ถามผมว่า หากให้เลือกประเทศที่ผมสนใจจับเป็นพื้นที่ที่จะศึกษาวิจัยแล้ว ผมจะเลือกประเทศไหน

ผมตอบไปโดยไม่ต้องคิดเลยว่า ประเทศจีน

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า จีนเป็นพื้นที่เดียวที่ผมพอรู้ภาษาจีนพอที่จะสื่อสารได้ หากเอาจีนเป็นพื้นที่ที่จะศึกษาก็คงจะดีกว่าประเทศอื่นๆ เป็นแน่ และตอนที่ตอบไปเช่นนั้น ผู้สัมภาษณ์ก็ลองสัมภาษณ์ผมเป็นภาษาจีน 2-3 คำถาม ซึ่งผมก็ตอบได้หมด หลังจากนั้นไม่นานผมก็ได้เข้ามาเป็นนักวิชาการในวัยละอ่อนในที่สุด

 ตอนที่ผมเริ่มอาชีพนักวิชาการนั้น จีนได้เปิดประเทศของตนมาได้ราว 6-7 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นมีคนไทยหลายคนที่แทบทั้งหมดจะมีเชื้อสายจีนต่างก็ได้เดินทางไปจีนกันแล้ว และผมก็ได้ฟังและอ่านสิ่งที่คนเหล่านี้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับจีนมาก่อน แต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น บางเรื่องฟังดูแล้วก็ขำ

เช่น ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่า ผักที่เมืองจีนมีต้นและใบที่ใหญ่ยาวกว่าผักเมืองไทยหลายเท่า ทำเอาทุกคนในวงสนทนาขำกันใหญ่ แล้วหาว่าท่านพูดเกินจริงหรือโม้มากไป เป็นต้น 

ครั้นพอทำงานไปได้ 2-3 ปี งานวิจัยที่ทำอยู่ก็มีอันทำให้ผมได้ไปจีนในที่สุด

ตอนที่รู้ว่าจะได้ไปจีนนั้น ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมาก ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะจะได้ไปต่างประเทศแต่อย่างไร แต่เพราะผมรู้สึกมาโดยตลอดว่ารากเหง้าของผมอยู่ที่จีน การได้ไปจีนในด้านหนึ่งก็คือการได้คืนสู่ดินแดนอันเป็นรากเหง้าของตนเอง ซึ่งจะบอกว่า ผมไม่เคยลืมรากเหง้าของตัวเองก็คงไม่ผิด

 ปี 1989 (2532) คือปีที่ผมจะได้ไปจีนเป็นครั้งแรกในชีวิต 

หากใครที่ติดตามเรื่องจีนอย่างใกล้ชิดแล้วย่อมรู้ว่า ปีดังกล่าวคือปีที่ได้เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินจนเป็นข่าวฉาวไปทั่วโลก และช่วงที่ผมไปนั้นก็เป็นช่วงที่ว่าพอดี เรียกได้ว่าไปตอนที่จีนกำลังมีเรื่องวุ่นวาย

จากเหตุดังกล่าวจึงทำให้การเตรียมการที่จะไปจีนในช่วงนั้นมีปัญหาอยู่บ้าง คือทางเราฝ่ายไทยได้ติดต่อกับทางจีนไปก่อนหน้านั้นไม่ต่ำกว่าครึ่งปีแล้วว่าเราจะไป ตอนที่ติดต่อไปนั้นจีนยังไม่ได้มีเรื่องที่ต้องหนักใจใดๆ ในทางการเมือง ทุกอย่างจึงเป็นไปอย่างปกติ

แต่พอใกล้ถึงวันเดินทาง ทางจีนก็ขอให้เราระงับการไปจีนเอาไว้ก่อนโดยให้เหตุผลว่า ที่จีนกำลังมีการชุมนุมของนักศึกษา เกรงว่าหากมีความวุ่นวายเกิดขึ้นแล้วอาจทำให้เราไม่ปลอดภัยได้ แต่ทางเราก็ยืนยันไปว่าเราจะไป เพราะกว่าจะเตรียมการได้ต้องใช้เวลายาวนานมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบราชการไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวลานั้นยังไม่มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้กัน ไม่มีโทรสาร ทุกอย่างต้องทำผ่านจดหมายทางไปรษณีย์สถานเดียว

เมื่อยืนยันไปเช่นนั้น ทางจีนก็มิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป จึงได้แต่คอยเตรียมการต้อนรับฝ่ายเราอยู่ที่ประเทศของตัวเอง

เนื่องจากเรื่องที่วิจัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเล พื้นที่วิจัยที่เราจะไปจึงเป็นภูมิลำเนาเดิมของชาวจีนโพ้นทะเลที่อยู่ในไทย ถึงตรงนี้ผมก็มีเรื่องที่ต้องชี้แจงแถลงไขว่า หากจะลงพื้นที่วิจัยจริงแล้วคงต้องใช้นานหลายเดือน หรือถ้าจะให้ดีก็อาจจะนานเป็นปีๆ

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะชาวจีนโพ้นทะเลในไทยมีภูมิลำเนาเดิมอยู่หลายที่หลายแห่งในจีน แต่ละแห่งแต่ละที่ยังตั้งห่างไกลกันมากโข หากจะศึกษากันจริงๆ แล้ว ลำพังแค่เดินทางอย่างเดียวก็เสียเวลาไปไม่รู้จะเท่าไหร่ ยิ่งเวลานั้นการเดินทางภายในจีนยังไม่ได้เจริญหรือสะดวกแบบทุกวันนี้ก็จะยิ่งกินเวลามาก

 ถึงตรงนี้คนไทยที่ไม่เคยไปจีนอาจนึกภาพไม่ออกว่าทำไมจึงต้องใช้เวลานานขนาดนั้น ผมก็ขอยกตัวอย่างพอให้เข้าใจว่า ทุกวันนี้เราเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่จะใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง หรืออาจน้อยกว่านั้นสำหรับคนที่ขับรถเก่ง แต่กับจีนในเวลานั้นในบางพื้นที่ต้องใช้เวลาถึง 3 วัน และ 3 วันที่ว่านี้หมายความว่า ค้างแรมตอนกลางคืน และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถนนหนทางของจีนในเวลานั้นไม่สู้ดีนัก อีกทั้งในหลายพื้นที่ยังถูกขวางกั้นด้วยภูเขาหลายลูก  

รถที่วิ่งต้องคอยวิ่งขึ้นวิ่งลงภูเขาแต่ละลูกด้วยความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่นนี้แล้วการเดินทางในจีนจึงต้องใช้เวลานานหลายวัน

จากเหตุดังกล่าว พื้นที่ที่เราเลือกศึกษาจึงต้องถูกจำกัดด้วยการต้องเลือกเอาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ และพื้นที่ที่เราเลือกก็คือ เมืองแต้จิ๋ว ด้วยเป็นเมืองที่เป็นภูมิลำเนาเดิมของชาวแต้จิ๋วในไทย ซึ่งเป็นชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มใหญ่ที่สุดทั้งในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 ถึงตรงนี้ก็ต้องบอกด้วยว่า ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยมีหลายกลุ่มภาษาถิ่นคือ แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ไหหลำ ฮกเกี้ยน และแคะ จีนภาษาถิ่นอื่นก็มีเหมือนกัน เช่น เซี่ยงไฮ้ แต่มีน้อยเหลือเกิน จึงไม่ถูกนับเข้าไปในสารบบ นอกจากในทะเบียนราษฎร์ของทางราชการไทยเท่านั้น 

 และที่ต้องบอกในประการต่อมาคือ จีนที่แยกตามภาษาถิ่นข้างต้น ในภาษาจีนกลางคือ เฉาโจว กว่างตง ไห่หนัน ฝูเจี้ยน และเค่อจยา ตามลำดับ ซึ่งในที่นี้ผมจะขอกล่าวถึงจีนเหล่านี้ตามภาษาถิ่นเป็นหลัก ยกเว้นในกรณีที่ไม่เป็นที่คุ้นหูของเราคนไทย หรือที่อยู่ในบริบทอื่นๆ ที่พึงใช้ภาษาจีนกลาง 

ส่วนการวางแผนการเดินทางนั้น เราได้รับคำแนะนำจากคนที่เคยไปในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อนมาช่วย ถึงตรงนี้ก็ขอบอกว่า การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช่แต่จะมีนักวิจัยที่อยู่ในสถานศึกษาเดียวกัน หากแต่ยังมีนักวิจัยรับเชิญจากภายนอกมาร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งในทางราชการก็คือ เราได้ขอยืมตัวบุคคลเหล่านี้จากต้นสังกัดของแต่ละคนมาร่วมงานนี้ชั่วคราว จบโครงการเมื่อไรก็จบการยืมตัวเมื่อนั้น

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้รู้จักบุคคลเหล่านี้ด้วยความเคารพนับถือมาจนทุกวันนี้ และอยู่ในความระลึกถึงเสมอมา แม้บางคนจะไม่ได้พบเจอกันมานานนับสิบปีแล้วหลังจบโครงการนี้แล้วก็ตาม

แต่ก็ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า เวลานั้น (1989) จีนยังไม่ได้เจริญดังทุกวันนี้ การเดินทางของเราในครั้งนั้นจึงไม่ได้ “เจริญ” ไปด้วย นั่นคือ เราไม่ได้ขึ้นเครื่องบินตรงไปยังพื้นที่วิจัยที่จีนได้ในทันทีดังทุกวันนี้ หากแต่ต้องนั่งเครื่องบินไปฮ่องกงก่อน และจากฮ่องกงเราก็ต่อเรือไปจีนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งตอนที่เราไปนั้นเป็นการเดินทางในเวลากลางคืน

 โดยจุดหมายปลายทางที่จีนก็คือ ซัวเถา 


กำลังโหลดความคิดเห็น