xs
xsm
sm
md
lg

ประชุม G7 ที่ฮิโรชิมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
เป็นการประชุมสุดยอด G7 ครั้งที่ 48 โดยปีนี้ สมาชิก G7 ประเทศเดียวจากเอเชียคือ ญี่ปุ่น เป็นประธานตลอดปี ’23 และนายกฯ คิชิดะ ได้เลือกเมืองบ้านเกิดของเขาคือ ฮิโรชิมา เป็นเมืองจัดการประชุม ซึ่งต้องมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นแก่ผู้ร่วมเข้าประชุม ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกได้แก่ 2 ประเทศจากอเมริกาเหนือคือ สหรัฐฯ และแคนาดา; 4 ประเทศจากยุโรปได้แก่ เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และอิตาลี; และญี่ปุ่นจากเอเชีย และยังมีแขกประจำคือ ยูเอ็น (เลขาธิการ) สหภาพยุโรป; องค์การอนามัยโลก เป็นต้น

คราวนี้ประเทศญี่ปุ่นเจ้าภาพมีสิทธิเชิญประเทศร่วมประชุมแบบผู้สังเกตการณ์ได้แก่ ออสเตรเลีย, บราซิล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, หมู่เกาะคุก, เกาหลีใต้ และเวียดนาม

น่าสังเกตว่า มี 2 ประเทศจากอาเซียนของเราที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมคือ อินโดนีเซีย (ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดทั้งเศรษฐกิจและประชากรใหญ่สุดของอาเซียน และยังเป็นประธานของอาเซียนในปีนี้ด้วย และก็เป็นประเทศที่มีระดับประชาธิปไตยที่สูงสุดในอาเซียนด้วย) และเวียดนาม ซึ่งนาทีนี้กำลังตกเป็นเป้าที่สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก รวมทั้ง G7 พยายามสร้างความใกล้ชิด เพื่อหาทางขอความสนับสนุนในการร่วมปิดล้อมจีนด้วย ซึ่งผู้นำของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นรองปธน.แฮร์ริส หรือรมต.กลาโหม ออสติน ได้เดินทางถี่ยิบมาผูกสัมพันธ์กับเวียดนาม

เพราะเวียดนามอยู่ในสถานะที่ไม่พอใจการขยายอิทธิพลของจีนตามแนวเส้นประ 9 เส้นที่จีนได้อ้างว่า แสดงถึงอาณาเขตของประเทศจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเขตมั่งคั่งทับซ้อนกับน่านน้ำของเวียดนามในบริเวณเกาะพาราเซล ซึ่งกำลังรอการสำรวจทรัพยากรพวกน้ำมัน, แก๊สธรรมชาติ เป็นต้น

ประกอบกับเวียดนามก็เคยมีประวัติศาสตร์ที่เคยรบรากับจีนมาในอดีต รวมทั้งสงครามสั่งสอนเวียดนามที่จีนได้ทำในยุคสงครามเวียดนาม ก็เป็นแผลเป็นที่อเมริกาจะใช้ตอกย้ำ เพื่อให้เวียดนามไม่ไว้วางใจจีน และหันมาใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เพื่อร่วมกันสกัดกั้นปิดล้อมจีนด้วย

ก็น่าแปลกที่คนรุ่นใหม่ที่เวียดนามจะไม่ค่อยให้น้ำหนักกับอดีตที่แสนเจ็บปวดที่สหรัฐฯ ได้ทำสงครามฆ่าคนเวียดนามตายเป็นล้านรวมทั้งฝนเหลืองที่ยังคงมีสารตกค้างที่ยังทำลายตกทอดสู่คนรุ่นหลังสงครามเวียดนาม เพราะหลังสงครามเวียดนามผ่านไป 20 ปี สหรัฐฯ ก็พยายามเปิดความสัมพันธ์กับเวียดนาม รวมทั้งช่วงโควิดก็มีบริษัทของสหรัฐฯ และตะวันตก (ยุโรป) รวมทั้งญี่ปุ่น ที่หนีการล็อกดาวน์ของจีน แห่มาลงทุนในเวียดนามจำนวนมหาศาล; ทั้งการพยายามตัดขาดจากจีน (Decoupling) ที่เริ่มจากสมัยปธน.ทรัมป์ จนส่งต่อมายังสมัยของปธน.ไบเดน ทำให้สหรัฐฯ เปิดทางให้ทุนสหรัฐฯ หันออกจากจีนแล้วมาเข้าที่เวียดนาม

แต่การเปลี่ยนคณะผู้นำ (ตั้งแต่นายกฯ และรมต.สำคัญๆ) ของเวียดนามล่าสุด ซึ่งเลขาธิการพรรคของเวียดนาม ได้หันมาเปลี่ยนนโยบายที่จะถ่วงดุลกับนโยบายที่หันไปหาสหรัฐฯ (ในคณะบริหารชุดที่แล้ว) เพื่อให้เป็นกลางมากขึ้นนั่นเอง

เวลาที่เปลี่ยนผ่านไป ทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศที่เคยทำสงครามกัน ก็กลับกลายมาเป็นมิตรได้อย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งกรณีสหรัฐฯ ที่จ้องจะสกัดกั้นปิดล้อมจีน โดยใช้เวียดนามเป็นส่วนหนึ่งในการโอบล้อมจีนด้วย

กรณีของเมืองฮิโรชิมา ก็เช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่เป็นเมืองที่สหรัฐฯ ตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 1945 ทำลายผู้คนและเมืองทั้งเมืองพินาศในพริบตา...แต่ผ่านมา 78 ปี ก็กลายมาเป็นเมืองต้อนรับอย่างหน้าชื่นตาบาน ผู้นำของประเทศที่เคยทำลายเมืองนี้ โดยเฉพาะจากนายกฯ คิชิดะ ที่เกิดและพำนักอยู่ที่เมืองนี้ เหมือน anti-thesis คือ เป็นการเวียนมาบรรจบของความทุกข์ระทมเกลียดกลัวกันถึง 78 ปี ก็ครบรอบที่จะคืนดีกัน

ปธน.ไบเดนจะเป็นปธน.สหรัฐฯ คนที่สอง (คนแรกคือ โอบามา) ที่เดินทางมาเคารพอนุสาวรีย์สันติภาพรำลึกถึงการทิ้งระเบิดปรมาณูอันโหดเหี้ยมของสหรัฐฯ ซึ่งก่อนนั้น สหรัฐฯ ไม่เคยเข้าร่วมในพิธีไว้อาลัยเหตุการณ์โหดเหี้ยมในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินี้เลย

เพราะในขณะที่สหรัฐฯ มองว่า จีนเป็น “ศัตรู” (แม้จะเลี่ยงไม่ใช้คำนี้-แต่ไปใช้คำว่า คู่แข่งหมายเลขหนึ่งแทน) จึงจำเป็นต้องสร้างญี่ปุ่นให้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดให้มากที่สุดที่จะสกัดปิดล้อมจีน ซึ่งญี่ปุ่นก็ถูกมองว่าเป็นนายอำเภอของสหรัฐฯ นั่นเอง

แต่ไม่มีอาหารกลางวันฟรี เพราะญี่ปุ่นต้องการมีของแลกเปลี่ยน นั่นคือ การปลดปล่อยจากการถูกบอนไซของกองทัพญี่ปุ่น ที่อเมริกาได้ตราสังกองทัพญี่ปุ่นเอาไว้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ที่นายพลแมคอาเธอร์ได้เข้ามาจัดระเบียบบ้านเมืองญี่ปุ่น ถอดเขี้ยวเล็บของญี่ปุ่นออกหมด หลังวีรกรรมที่ญี่ปุ่นได้ฝากรอยแผลแห่งความโหดเหี้ยมของกองทัพญี่ปุ่น ต่อกองทหารฝ่ายสัมพันธมิตร

สหรัฐฯ ห้ามญี่ปุ่นมีกองทัพที่สามารถส่งออกไปปฏิบัติการนอกเกาะญี่ปุ่น มีก็แต่กองกำลังรักษาดินแดนเท่านั้น...และสหรัฐฯ ก็ส่งกองทัพมาประจำคอยกำราบญี่ปุ่นที่โอกินาวา รวมทั้งที่เกาะกวมและฮาวาย...ขณะเดียวกัน ก็เปิดทางให้ญี่ปุ่นทุ่มเทในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ฟื้นตัวอย่างน่าอัศจรรย์ด้านเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ปีนี้ ญี่ปุ่นได้ทีเมื่อสหรัฐฯ เปิดทางให้กองทัพญี่ปุ่นกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง โดยเพิ่มงบทหารจนสูงกว่า 2% ของจีดีพีเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เพื่อให้ญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของการโอบล้อมจีน โดยญี่ปุ่นเป็น 1 ใน 4 ชาติพันธมิตร Quad; และในการประชุม G7 ช่วง 19-21 พฤษภาคมนี้ จะมีการอนุมัติเปิดสำนักงานประสานงานนาโต (Nato Liaison Office) ที่ญี่ปุ่นด้วย! และเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อระดมกำลังปกป้องไต้หวันถ้าจีนบุกใช้กำลัง

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป 78 ปี จากประเทศศัตรูคู่อาฆาตที่ห้ำหั่นกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็กลายเป็นมหามิตรขนาดญี่ปุ่นกลายเป็นนายอำเภอของสหรัฐฯ ไปได้ (ขอหลีกเลี่ยงการนำมาเปรียบเทียบที่นายกฯ อังกฤษ โทนี แบลร์ ถูกเรียกว่าเป็นหมาพุดเดิลนั่งอยู่บนตักของปธน.บุช ในการทำสงครามอิรักเมื่อปี 2003)

หรือญี่ปุ่นจะเข็ดขยาดกับปรมาณู 2 ลูกที่ทำลายชีวิตคนญี่ปุ่นอย่างสยดสยอง จนกลายมาเป็นแค่สมุนของสหรัฐฯ ได้ถึงปานนี้!

สำหรับปธน.ไบเดน ขนาดมีเรื่องคอขาดบาดตายที่บ้านในการฟาดฟันกับประธานสภาล่าง เพื่อให้ขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ แต่ไบเดนก็จำต้องมาร่วมประชุมสำคัญที่ฮิโรชิมาในครั้งนี้ เพราะมีวาระการประชุมสำคัญ เรื่องการเพิ่มความเข้มข้นการคว่ำบาตรรัสเซีย (ที่บุกทำสงครามยูเครน) โดยจะหามติจาก G7 เพื่อลงโทษประเทศที่ฝ่าฝืนมติของ G7 ไม่ให้ไปซื้อน้ำมันจากรัสเซีย โดยสหรัฐฯ และ G7 จะลงโทษแก่ประเทศที่แอบไปซื้อน้ำมันและแก๊สจากรัสเซีย…โดยเฉพาะอินเดียที่ได้ไปตกลงซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย ภายใต้ข้อตกลงใช้ “รูปี-รูเบิล” ในการซื้อขาย ซึ่งแน่นอนหนนี้ไบเดนได้เจอกับนายกฯ โมดี ของอินเดียด้วย จะได้กดดันกันได้เต็มที่

และความสำคัญของ G7 ซัมมิต ก็ขนาดไบเดนยอมไม่บินไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเกาะแปซิฟิกใต้นิวกินี และการประชุม Quad ที่ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพ แต่เขาจะบินกลับบ้านทันทีที่ประชุม G7 จบแล้วในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม เพื่อมาประชุมกับประธานสภาล่างเรื่องการขยายเพดานหนี้นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น