ท่ามกลางการกดดันอย่างหนักจากสหรัฐฯ ต่อเหล่าพันธมิตรในจี 7, นาโต, สหภาพยุโรป, พันธมิตร QUAD, พันธมิตร AUKUS ให้คว่ำบาตรรัสเซียด้านการเงิน, การค้า และการลงทุน เพราะรัสเซียทำผิดกฎหมายสากลโดยบุกเข้ายึดดินแดนของยูเครนจนเกิดสงครามคาราคาซังมาถึง 14 เดือนแล้ว
เป้าหมายของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่อการคว่ำบาตรรัสเซีย ก็เพื่อทำให้เศรษฐกิจรัสเซียถดถอยตกต่ำเกิดความระส่ำระสายในรัสเซีย แล้วจะทำให้เกิดแรงกดดันทางการเมืองในรัสเซียจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารจากปูตินไปเป็นกลุ่มอื่น ซึ่งแนวคิดนี้ก็ไม่ต่างกับแนวคิดอนุรักษ์สมัยใหม่ หรือ NEO-CON (Neo-Conservative) ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ใช่มีแต่ในพรรครีพับลิกัน ที่เห็นชัดในสมัยปธน.บุช ผู้ลูกกับรองปธน.ดิก เชนีย์, กับรมต.ต่างประเทศ คอนโดลีซซา ไรซ์ ที่ได้พยายามเปลี่ยนการปกครองในหลายประเทศ ทั้งที่อิรัก (กำจัดซัดดัม ฮุสเซน ได้สำเร็จ) จนถึงกัดดาฟีในลิเบีย และรวมทั้งการเปลี่ยนรัฐบาลที่ยูเครนมาเป็นรัฐบาลนิยมตะวันตกในปัจจุบัน
แต่ในพรรคเดโคแครต ก็มีทีมงานด้านความมั่นคงและต่างประเทศ ที่มีแนวคิดนีโอคอน นำโดย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นางวิคตอเรีย นูแลนด์ รวมทั้งที่ปรึกษาด้านความมั่นคง นายเจค ซัลลิแวน ตลอดจนรมต.ต่างประเทศแอนโทนี บลิงเคน ที่หว่านล้อมแวดล้อมปธน.ไบเดน ให้ปักหลักเดินแนวทางนี้ ถึงขนาดไบเดนตัดสินใจในนาทีสุดท้าย (หลังถูกโน้มน้าวอย่างหนัก) ให้ออกคำสั่งกดระเบิดทำลายท่อส่งแก๊ส LNG 2 ท่อยักษ์ Nordstream I และ II ได้ลงคอ เพื่อให้รัสเซียหมดแนวทางตลอดไปที่จะหารายได้จากการขายแก๊สเข้ายุโรป ตลอดจนทำให้ชาวยุโรป (มิตรรักของสหรัฐฯ) ต้องแข็งตายในฤดูหนาวที่ผ่านมา เพราะไม่มีแก๊สราคาถูกไว้ทำความอบอุ่นที่อยู่อาศัย หรือเชื้อเพลิงราคาถูกสำหรับโรงงานหัวใจของอุตสาหกรรมของเยอรมนี
ปี 2022 ตลอดเวลาแห่งสงครามยูเครน ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียหดตัวไปถึง 2.1%...สมใจสหรัฐฯ
ที่รมต.คลังหญิงคนแรกของสหรัฐฯ คือนางเจเน็ต เยลเลน พูดสรุปขณะให้การต่อคณะกรรมาธิการธนาคารของวุฒิสภาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อไป พร้อมกับเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ในกลุ่มการค้าและกลุ่มความมั่นคง เพื่อคว่ำบาตรรัสเซียให้เข้มข้นขึ้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจรัสเซียต้องถึงล่มสลายในที่สุด (เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ปูตินต้องถูกโค่นออกไป)
เธอบอกว่าสิ่งที่สหรัฐฯ และพันธมิตรกำลังกดดันอย่างแรงต่อรัสเซียขณะนี้ กำลังได้ผลเป็นอย่างดี
และการกดดันทางเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจรัสเซียล่มสลายจะต้องใช้เวลาในการคว่ำบาตรต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้น
ซึ่งเป็นเหตุผลที่สหรัฐฯ ต้องการให้เกิดความยืดเยื้อในการทำสงครามในยูเครน ประหนึ่งให้รัสเซียเข้ามาติดกับดักในยูเครนจนถอนตัวไม่ขึ้น ขณะที่ต้องนำทรัพยากรมาทุ่มที่สงครามยูเครน และเหลือทรัพยากรส่วนน้อยเพื่อไปทำนุบำรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนนั่นเอง
โมเดลนี้ยังอาจนำไปใช้ที่ไต้หวัน ที่จะยั่วยุให้จีนมาติดกับดักเช่นที่รัสเซียกำลังถูกสะกดจิตให้มาหมกหมุ่นอยู่กับสงครามยูเครนเพื่อให้ได้ชัยชนะเด็ดขาด
หลังรัสเซียถูกคว่ำบาตรไม่นาน รัสเซียพยายามฝ่าวงล้อมปิดกั้นจากสหรัฐฯ ด้วยการประกาศขายน้ำมันและแก๊ส LNG ราคาถูก ตัดราคาผู้จำหน่ายคนอื่นๆ ทั้งหมด และได้ตลาดใหญ่คือ จีนที่หันไปซื้อน้ำมันและแก๊สจำนวนมากจากรัสเซีย โดยจ่ายเป็นเงินหยวนด้วยซ้ำ
นายกฯ อินเดีย นเรนทรา โมดี ก็ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายน้ำมัน และแก๊สจากรัสเซีย ทั้งๆ ที่อินเดียอยู่ในพันธมิตร QUAD กับสหรัฐฯ โดยข้อตกลงใช้สกุลรูปี-รูเบิลในการซื้อขาย
สหรัฐฯ กดดันอินเดียโดยตรง แต่ก็ได้รับคำตอบจากรมต.ต่างประเทศของอินเดียว่า ขอให้เห็นใจอินเดียที่เป็นประเทศยากจน จึงจำเป็นต้องซื้อพลังงานในตลาดโลก จากผู้ขายคนใดก็ได้ (ไม่สนใจว่าประเทศใดจะขาย) ตราบเท่าที่เป็นราคาต่ำสุดในตลาดโลก
ขณะนี้อินเดียนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียวันละ 1 ล้านบาร์เรล ทั้งๆ ที่แต่เดิมแทบไม่ได้ซื้อน้ำมันจากรัสเซียเลย (เพราะค่าจัดส่งมาทางเรือแพงมาก) โดยซื้อจากอิรักเป็นอันดับหนึ่ง แต่ตอนนี้นำเข้าจากรัสเซียเป็นอันดับหนึ่ง และทำให้อินเดียนำเข้าสินค้าจากรัสเซียเพิ่มเป็น 4 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนสงครามยูเครน...โดยมีข้อมูลที่รั่วออกมาว่า อินเดียซื้อจากรัสเซียได้ด้วยราคาต่ำแค่ 30 เหรียญต่อ 1 บาร์เรล ขณะที่ราคาในตลาดโลกอยู่ประมาณ 80-90 เหรียญ!!
เมื่อปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีคณะนักธุรกิจระดับสูงจากรัสเซีย 50 คน นำโดยรองนายกฯ และรมต.การค้าและอุตสาหกรรม เดนิส แมนทูรอฟ ได้เดินทางไปเจรจาการค้ากับอินเดีย และโปรยยาหอมว่า อยากให้อินเดียขายสินค้าเข้ารัสเซียมากขึ้นเพื่อลดตัวเลขขาดดุลการค้าที่อินเดียเสียเปรียบรัสเซียอยู่มาก (อินเดียนำเข้าสูงถึง 46,000 ล้านเหรียญ ขณะที่ส่งเข้ารัสเซียแค่ 3,000 ล้านเหรียญ)
คณะนักธุรกิจของอินเดียไปทำรายการสั่งซื้อสินค้าจากอินเดียเพิ่มขึ้นมากมาย เป็นพวกอุปกรณ์ไอทีและสินค้าเกษตรบางตัว ทำเอารมต.ต่างประเทศ+รมต.คลังของอินเดียหน้าบานไป
และทั้งสองประเทศกำลังบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี! ที่ได้เริ่มเจรจาเอาไว้ตั้งแต่ 2020 ที่ได้ค้างเติ่งมาช่วงโควิดระบาดหนัก โดยอินเดียกำลังเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีพร้อมๆ กันอีกหลายประเทศเช่น อังกฤษ, อียู ด้วย
อินเดียถูกกดดันมาจากสหรัฐฯ ให้คว่ำบาตรการค้ากับรัสเซีย แต่อินเดียกลับใช้ความฉลาดและเห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติมาก่อนข้อผูกพันทางความมั่นคง...และอินเดียก็อยู่ในกลุ่ม BRICS+ และ SCO+ ซึ่งมีข้อตกลงในกลุ่มให้พยายามค้าขายและลงทุนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นแทนการใช้สกุลหลักเช่น ดอลลาร์หรือยูโร
ในคณะนักธุรกิจจากรัสเซีย มีคนที่ใกล้ชิดกับปูตินด้านความมั่นคงร่วมเดินทางมาด้วย และมีการส่งสัญญาณว่า ปูตินจะมาร่วมประชุมจี 20 ในเดือนกันยายนนี้ ที่อินเดียจะเป็นประธานและเป็นเจ้าภาพจัด
รมต.ต่างประเทศอินเดีย เอส. ไจแชนการ์ (Jaishankar) กล่าวย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอินเดียว่า เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยั่งยืนยงที่สุดอันหนึ่งของโลกทีเดียว
โดยตลอดช่วงสงครามเย็น อินเดียซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียจำนวนมาก รวมทั้งเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย...ต่อมาสหรัฐฯ ได้หันมาเน้นนโยบายอินโด-แปซิฟิก และได้ยอมขายอาวุธทันสมัยให้อินเดียเพื่อเป็นการเอาใจ รวมทั้งจัดตั้งกลุ่ม QUAD เพื่อให้อินเดียช่วยปิดล้อมจีนด้วย
แม้อินเดียจะไม่ได้ยกมือในยูเอ็นในการประณามรัสเซียที่ละเมิดอธิปไตยของยูเครน แต่นายกฯ โมดีได้ใช้เวทีการประชุม SCO+ ที่อุซเบกิสถานเมื่อกลางปีที่แล้ว โดยบอกกับปูตินขณะแถลงข่าวร่วมว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาทำสงครามกัน เพราะโลกเพิ่งฟื้นจากสงครามกับโควิด ซึ่งอินเดียไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม อันส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ซึ่งอินเดียก็เสนอตัวเพื่อเป็นคนกลางในการหาทางเจรจานำสู่สันติภาพยุติสงครามในยูเครนด้วย
บทบาทของอินเดียมองอย่างกว้าง ก็จะเห็นว่าคล้ายคลึงกับของจีนคือ ใฝ่สันติภาพไม่ราดน้ำมันเข้าใส่ไฟสงครามอย่างที่สหรัฐฯ, จี 7, นาโต และสหภาพยุโรปกำลังทำอยู่
เป็นภาพลักษณ์ของประเทศมหาอำนาจที่ดีของโลกนั่นเอง ขณะเดียวกัน ก็โกยผลประโยชน์จากสงครามครั้งนี้ด้วยภาพซื้อพลังงานและสินค้าเกษตรราคาถูกจากรัสเซียอย่างชาญฉลาด