ศึกเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีตุรเคียส่อเค้าว่าจะต้องมีนัดตัดเชือกล้างตากันวันที่ 28 เดือนนี้ถ้าผู้ดำรงตำแหน่ง Recep Tayyip Erdogan แอร์โดอัน ไม่สามารถได้คะแนนเสียงถึง 50 เปอร์เซ็นต์แต่ก็เฉียดฉิวอยู่ที่ 49.49 เปอร์เซ็นต์
ถ้ามีปาฏิหาริย์ นับคะแนนจากผู้ออกเสียงต่างประเทศ แอร์โดอัน ผู้นำพรรค AK เบียดเข้าป้ายได้ ก็ไม่ต้องมีเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะชิงระหว่างคนมาที่ 1 กับที่ 2
ถือว่าเป็นการต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิงในช่วงหลาย 10 ปี นับตั้งแต่ แอร์โดอันได้เป็นประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2014 ก่อนหน้านี้ก็เป็นนายกรัฐมนตรีนาน 10 ปี
ผลการเลือกตั้งวันที่ 14 ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งสูงสุดชี้ว่า แอร์โดอันได้ 49.49 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ท้าชิง Kemal Kilicdaroglu ได้คะแนน 44.79 เมื่อผลการนับคะแนนใกล้เสร็จ โดยผู้มาที่ 3 ได้คะแนน 5 เปอร์เซ็นต์กว่า
และคะแนนนี้แหละจะเป็นตัวแปรว่าจะเลือกใครในการดวลนัดสุดท้าย
ศึกครั้งนี้สำคัญเพราะแอร์โดอันรู้ดีว่าสหรัฐฯ ประชาคมยุโรปต้องการให้คู่แข่งเข้าป้าย โดย Kilicdaroglu ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และประชาคมยุโรป
ตุรเคียเป็นสมาชิกกลุ่มนาโต แต่แอร์โดอันไม่ทำตัวเป็นเด็กดีของสหรัฐฯ มีนโยบายอิสระเพื่อความอยู่รอด มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียซึ่งมีผลประโยชน์ด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน เป็นตัวสร้างดุลยภาพในย่านนั้น
แอร์โดอันเคยมีความบาดหมางกับรัสเซียในช่วงสงครามกลางเมืองในซีเรีย ตุรเคียปิดน่านฟ้าบางส่วนของตุรเคีย ยิงเครื่องบินรบรัสเซียตก อ้างว่าบินล้ำแดน
แต่จากภาพถ่ายดาวเทียมปรากฏว่าเครื่องบินรัสเซียไม่ได้ล้ำพรมแดน ทำให้รัสเซียประกาศหยุดค้าขายกับตุรเคีย ห้ามคนรัสเซียเดินทางเข้าตุรเคีย สร้างความเสียหายด้านการค้าและการลงทุน รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปมาก
แอร์โดอันจึงเร่งผสานรอยร้าว เดินทางไปมอสโกเพื่อเจรจาขอคืนดี ทำให้รัสเซียมีบทบาทอย่างเดิม และตุรเคียก็เป็นดุลแห่งอำนาจในพื้นที่เชื่อมเอเชียกับยุโรป
ล่าสุดแอร์โดอันได้คืนสัมพันธ์กับซีเรียและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ทำตัวออกห่างจากอิทธิพลของสหรัฐฯ และไม่พอใจที่โดนแช่แข็งการเข้าเป็นสมาชิกอียู
ตุรเคียเป็นประเทศอยู่ 2 ทวีปคือยุโรปกับเอเชีย มีประชากรประมาณ 85 ล้านคน ที่ผ่านมามีปัญหาสารพัด เช่นสงครามชายแดนกับกลุ่มกบฏเคิร์ด ผู้ลี้ภัย เศรษฐกิจมีปัญหาเงินเฟ้อสูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้านี้มีภัยพิบัติแผ่นดินไหว
ความล่าช้าในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทำให้ความนิยมของแอร์โดดันลดลง
แอร์โดอันเคยตกเป็นเป้าหมายของการทำรัฐประหาร ซึ่งมีเสียงร่ำลือว่าสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง สนับสนุนกลุ่มต่อต้านแอร์โดอันซึ่งมีผู้นำคือ เฟตาตุลเลาะห์ กูเลน ซึ่งลี้ภัยอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา มีผู้สนับสนุนโดยกลุ่มต่อต้านแอร์โดอัน
การรัฐประหารไม่สำเร็จ เพราะผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูตินให้ส่งข่าวเตือนให้แอร์โดอันรู้ตัว จึงได้ทำการจับกุมผู้ก่อการซึ่งมีทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ครู อาจารย์ นักกฎหมาย นักศึกษา มากกว่า 6 หมื่นคน ให้ออกจากงานและคุมขัง
สหรัฐฯ จ้องล้มแอร์โดอันหลังจากที่ตุรเคียตัดสินใจซื้อระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานระบบ S-400 จากรัสเซีย แทนการซื้อจากสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ไม่ยอมขายเครื่องบินรบ F-16 ให้ และสั่งให้สวีเดนไม่ขายอาวุธให้เช่นกัน
ก่อนหน้าวันเลือกตั้งไม่กี่วัน สหรัฐฯ พยายามขอให้ตุรเคียส่งอาวุธรัสเซีย S-400 ให้สหรัฐฯ เพื่อทำการศึกษาหาจุดอ่อนเพื่อช่วยเหลือยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย แต่ตุรเคียปฏิเสธอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง และสหรัฐฯ ยังไม่ยอมขายอาวุธให้
แอร์โดอันได้พยายามเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้มีการเจรจากันระหว่างตัวแทนรัสเซียกับยูเครน เกือบทำให้สำเร็จ แต่โดนอังกฤษและสหรัฐฯ ขัดขวางไม่ให้มีสันติภาพ โดยให้ยูเครนเป็นเครื่องมือทำสงครามหวังให้รัสเซียอ่อนแอด้านเศรษฐกิจและแสนยานุภาพ
แอร์โดอันจึงถูกมองว่าเป็นตัวแสบในนาโตและทำตัวใกล้ชิดกับรัสเซียเกินไป
ทุกวันนี้แอร์โดอันยังขวางไม่ให้สวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโตเพราะให้ที่พักพิงกับกลุ่มพรรคแรงงานซึ่งต่อต้านแอร์โดอัน เป็นเงื่อนไขสำคัญที่แอร์โดอันขอให้เลิกหนุน
การเปลี่ยนตัวผู้นำตุรเคีย ถ้าคู่แข่งของแอร์โดอันชนะ ก็จะเปลี่ยนทิศทาง แนวนโยบายของประเทศ โดย Kilicdaroglu มีนโยบายสนับสนุนสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ได้กลับมามีอิทธิพลในพื้นที่นั้นเต็มที่ เพราะมีฐานทัพในตุรเคียอยู่แล้ว
การเดินเรือ การค้าขายและด้านภูมิรัฐศาสตร์มีความสำคัญของตุรเคียก็จะเข้าทางสหรัฐฯ อาจมีปัญหากับอิหร่านและซีเรีย ซึ่งแอร์โดอันไม่มีความสัมพันธ์อันดี
ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งที่ 2 เพื่อตัดสินว่าใครจะได้เสียงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์จึงมีความสำคัญของดุลยภาพทางการเมืองในภูมิภาครอยต่อระหว่างเอเชียกับยุโรป
แอร์โดอันถูกสหรัฐฯ และยุโรปมองว่าเป็นผู้นำรวบอำนาจหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังความพยายามทำรัฐประหารล้มเหลว จึงอยากให้แอร์โดอันตกจากอำนาจ
ทั้ง 2 คู่ชิงอยู่ในวัย 69 ปีเท่ากัน นายKilicdaroglu ประกาศว่าตัวเองเชื่อมั่นว่าจะชนะในรอบสุดท้ายเพราะรอบแรกมองเห็นว่านายแอร์โดอันไม่ได้เสียงข้างมาก
ชาวตุรเคียต้องตัดสินใจว่าจะเอาแอร์โดอันหรือคนใหม่ และมีการคาดหมายว่าจะมีการแทรกแซงจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนแต่ละฝ่าย ผลเลือกตั้งสำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในพื้นที่นั้นอย่างมาก