xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ (ตอนที่ ๓๒) : พระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรนอร์เวย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) กระบวนการการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแบ่งออกได้เป็นสองแบบ แบบแรกคือ จะต้องมีการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน แล้วค่อยทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ อีกแบบหนึ่งคือ ไม่ต้องผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร 
 
และในกรณีของประเทศที่ไม่ต้องผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ ของสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ภูฏาน และมาเลเซีย ผู้เขียนได้กล่าวในรายละเอียดไปสองประเทศแล้ว นั่นคือ สหราชอาณาจักรและเดนมาร์ก ในตอนนี้จะขอกล่าวถึง  นอร์เวย์  ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน
นอกจากหลังการเลือกตั้งแล้ว พระมหากษัตริย์นอร์เวย์จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรก่อน ระบบรัฐสภานอร์เวย์ยังมีประเด็นที่น่าสนใจและแตกต่างจากระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยทั่วไปอีกด้วย
 
ในการอธิบายกรณีของนอร์เวย์ ผู้เขียนจะเริ่มจากตัวรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของนอร์เวย์ ซึ่งประกาศใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1814 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน การกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 จำเป็นต้องกล่าวถึงประเทศในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียอีกสองประเทศ อันได้แก่  เดนมาร์กและสวีเดน การกำเนิดรัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ค.ศ. 1814 เกี่ยวพันกับอีกสองประเทศที่กล่าวไป
 
เมื่อเปรียบเทียบการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของทั้งสามประเทศ จะพบว่า สวีเดนเป็นประเทศแรกที่มีรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1809 (จริงๆ แล้ว สวีเดนเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี ค.ศ. 1718) ต่อมาคือนอร์เวย์ในปี ค.ศ. 1814 ส่วนเดนมาร์กเปลี่ยนแปลงการปกครองช้าที่สุดคือ ปี ค.ศ. 1849
 
 ทั้งสามประเทศนี้เคยเข้าทำข้อตกลงเข้าร่วมเป็นสหภาพภายใต้พระมหากษัตริย์องค์เดียวมาก่อน สหภาพที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า สหภาพคาลมาร์ (Kalmar Union) ซึ่งเป็นผลที่ทำให้นอร์เวย์ต้องอยู่ภายใต้เดนมาร์กมาเป็นเวลากว่า 400 ปีต่อมา  
 
กำเนิดสหภาพคาลมาร์มีสาเหตุมาจากการที่กลุ่ม  “the Hanseatic League” ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าทางเยอรมนีตอนเหนือที่รวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ด้านการค้าและเศรษฐกิจ และได้ขยายอิทธิพลตามชายฝั่งทะเลของยุโรปเหนือตั้งแต่ทะเลบอลติกไปจนถึงทะเลเหนือ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อเดนมาร์ก นอร์เวย์และสวีเดน แม้ว่าเดนมาร์ก นอร์เวย์และสวีเดนจะมีความขัดแย้งกันเอง แต่ขณะเดียวกันก็มีสายสัมพันธ์ทางการแต่งงานในหมู่เจ้าและอภิชน
 
 ทั้งสามอาณาจักรนี้เห็นว่า หนทางที่ดีที่สุดที่จะต้านกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากเยอรมนีนี้คือ การรวมกำลังเป็นหนึ่งเดียว การเชื่อมโยงประเทศเข้าด้วยกันจะทำให้เข้มแข็งกว่าและสามารถที่จะต้านการรุกรานจากเยอรมนีได้ ในที่สุด รูปแบบที่ตกลงกันได้ในการหาทางร่วมกันในการทัดทานอำนาจอิทธิพลของ “the Hanseatic League” ก็คือ การกำเนิดสหภาพคาลมาร์ ในปี ค.ศ. 1397 โดยคำว่า คาลมาร์นี้เป็นชื่อของท่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของสวีเดน อันเป็นสถานที่ที่มีการลงนามทำสัญญาในการก่อตั้งสหภาพแห่งสามอาณาจักร 

สหภาพคาลมาร์เป็นการรวมสถาบันกษัตริย์ของสามประเทศ อันได้แก่ สวีเดน เดนมาร์กและนอร์เวย์ภายใต้สถาบันกษัตริย์หนึ่งเดียว ภายใต้การนำของกษัตริย์เดนมาร์ก


หลายคนอาจจะคิดว่า การรวมตัวกันของสามอาณาจักรเพื่อรับมือกับกลุ่มพ่อค้าเยอรมนีนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ทั้งสามอาณาจักรก็มีสถาบันกษัตริย์ของตัวเอง ไฉนสวีเดนและนอร์เวย์จึงจะยอมอยู่ภายใต้กษัตริย์เดนมาร์ก ?

 กล่าวได้ว่า เงื่อนไขและสภาพการณ์ที่อำนวยให้ทั้งสามประเทศอยู่ภายใต้การนำของกษัตริย์พระองค์เดียวนี้ดูจะเป็นเรื่องของความบังเอิญและโชคชะตาไม่น้อยทีเดียว มิฉะนั้นแล้ว กษัตริย์หรือเอกบุคคลที่เป็นตัวแสดงทางการเมืองที่มีอำนาจสำคัญยิ่งสวีเดนและนอร์เวย์จะยอมอยู่ภายใต้กษัตริย์พระองค์เดียวได้อย่างไร ? 

ก่อนจะกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ขอกล่าวถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่เป็นไปได้ในการรวมตัวกันเป็นสหภาพของทั้งสามอาณาจักรนี้ ในแง่ของประชากร จะพบว่าประชากรในสามอาณาจักรนี้มีสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงร่วม ภาษาที่ใช้ในสมัยนั้นก็มีความใกล้เคียงกันกว่าในปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้น ตระกูลอภิชนในสามรัฐนี้ก็มีสายสัมพันธ์ร่วมกันผ่านการแต่งงานกันและกัน ซึ่งการมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นเครือญาติดังกล่าวในหมู่อภิชนในสามรัฐนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความคิดเรื่องการรวมตัวกันมีความเป็นไปได้สำหรับประชาชนทั่วไปในสามรัฐนี้ด้วย

ส่วนเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังในการรวมตัวกันนี้ นอกจากความคล้ายคลึงกันทางด้านวัฒนธรรมและกฎหมายดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีแรงจูงใจสำคัญที่เป็นรูปธรรมในการก่อตั้งสหภาพ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ นั่นคือ ความวิตกกังวลต่ออิทธิพลของเยอรมนีที่ปรากฏในการปกครองของกษัตริย์อัลเบิร์ตแห่งเมเคลนเบิร์กในสวีเดนที่อาศัยการสนับสนุนจากกลุ่มพ่อค้า  “the Hanseatic League” 

ความวิตกกังวลนี้ส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อประชาชนชาวสแกนดิเนเวีย โดยต้องการปลดปล่อยให้การค้าของสแกนดิเนเวียปลอดจากอิทธิพลครอบงำของกลุ่มพ่อค้าเยอรมันดังกล่าว อีกทั้งต้องการต่อต้านศักดินาแบบเยอรมันด้วย เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้เห็นความจำเป็นในการร่วมมือกันระหว่างสามอาณาจักรในการก่อตัวแนวร่วมต่อต้านเยอรมันขึ้น

และถ้าพิจารณาลงไปรายละเอียดของกลุ่มคนในแต่ละรัฐ จะพบว่า กลุ่มชาวนาต้องการให้เกิดการรวมตัวด้วย เพราะการรวมตัวกันจะนำมาซึ่งการสิ้นสุดของความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนและจะทำให้พวกเขาสามารถทำมาหากินใช้ชีวิตได้อย่างสงบปลอดภัย ในส่วนของศาสนจักรก็สนับสนุนการรวมตัวกันเพราะจะทำให้การปกครองของฝ่ายสงฆ์สามารถขยายตัวได้มากขึ้น และแน่นอนว่า การรวมตัวกันย่อมจะทำให้พระราชอำนาจของกษัตริย์มีปริมณฑลกว้างขวางครอบคลุมขึ้น แต่ปัจจัยที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในสวีเดนคือ กลุ่มอภิชน

การรวมตัวกันเป็นสหภาพคาลมาร์เป็นผลงานของกลุ่มอภิชนสวีเดนที่ทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่ง ที่ในอดีตได้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาในพระองค์ขึ้น อภิชนกลุ่มนี้เป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ที่กระจายไปทั่วทั้งสองฝั่งบริเวณชายแดนเดนมาร์กและสวีเดน การรวมตัวเป็นสหภาพจะสร้างหลักประกันให้แก่อภิชนดังกล่าวในการสืบสานรักษาอภิสิทธิ์ของตน และจะได้ประโยชน์จากการความมั่นคงทางการทหารและประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และจะส่งผลให้มีศักยภาพที่จะสามารถมีส่วนร่วมได้กว้างขวางมากขึ้น ดังนั้น พวกอภิชนในแถบชายแดนจะมีความกระตือรือร้นที่จะให้เกิดการรวมตัวกัน

ขณะเดียวกัน การรวมตัวกันภายใต้กษัตริย์เดนมาร์กที่ไม่ได้อยู่ในสวีเดน ย่อมจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้อภิชนในสภาที่ปรึกษาในสวีเดนสามารถมีอำนาจการปกครองในสวีเดนอย่างอิสระ และโดยปกติ อภิชนเหล่านี้จะไม่พอใจกับการที่กษัตริย์มีพระราชอำนาจมากอยู่แล้ว และมักจะหาทางกดดันกษัตริย์ที่พวกเขาเลือกผ่านการออกกฎบัตรและสัญญาที่กษัตริย์ต้องทำร่วมกันกับพวกตน

 กล่าวโดยสรุปคือ ทั้งสามรัฐมีความปรารถนาที่จะรวมตัวโดยอยู่ภายใต้กษัตริย์พระองค์เดียวกันโดยมีเหตุผลในเรื่องนโยบายต่างประเทศเป็นสำคัญ ส่วนในกรณีของสวีเดน ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีเหตุผลของตัวเองในการที่จะเข้าร่วมดังกล่าว และปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือ การที่อภิชนสวีเดนจะได้ประโยชน์สูงสุดในการรวมตัวนี้ 

และด้วยเหตุนี้เองที่เราสามารถกล่าวได้ว่าการกำเนิดสหภาพคาลมาร์ในส่วนของสวีเดนเกิดจากความต้องการและผลประโยชน์ร่วมกันของชาวนาและอภิชน โดยมีน้ำหนักความสำคัญมากน้อยแตกต่างกันไปตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ดังนั้น สหภาพคาลมาร์ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1397 เป็นการเปิดให้รัฐทั้งสามในสแกนดิเนเวียอยู่ภายใต้แนวร่วมกษัตริย์พระองค์เดียวกันเพื่อทัดทานอำนาจของต่างชาติ โดยเฉพาะการคุกคามของเยอรมนี โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญในระดับสถาบันกษัตริย์คือ  พระราชินีมาร์กาเรตที่หนึ่ง (Margaret I) แห่งเดนมาร์ก 

นอกเหนือจากเหตุผลในการเข้าร่วมจัดตั้งเป็น the Union ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การรวมตัวกันภายใต้กษัตริย์พระองค์เดียว (composite monarchy) จะเกิดขึ้นได้ยากลำบากมาก หากไม่เกิดปัญหาในเรื่องการสืบบัลลังก์ในสามรัฐในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้เองที่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเรื่องของความบังเอิญและโชคชะตาไม่น้อยทีเดียว  เพราะหากไม่เกิดปัญหาดังกล่าวนี้ ก็จะเกิดปัญหาการแก่งแย่งขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสหภาพ ดังจะได้กล่าวถึง “โชคชะตาความบังเอิญของการสืบราชบัลลังก์ของสามรัฐ” ในตอนต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น