xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

กฎหมายฟอกเงินที่ประชาชนและภาคธุรกิจควรรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อนุรักษ์ นิยมเวช



นายอนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด
anurak@anurakbusinesslaw.com


การฟอกเงินเป็นกระบวนการยักย้ายถ่ายเทหรือเปลี่ยนสภาพเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ เพื่อปกปิดความเป็นเจ้าของหรือแหล่งที่มาของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งหากปล่อยให้มีการกระทำในลักษณะดังกล่าว ผู้กระทำความผิดจะก็สามารถหลีกเลี่ยงการติดตามตรวจสอบการกระทำผิด และนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นกลับมาใช้เป็นต้นทุนในการกระทำความผิดต่อไปได้ นานาประเทศจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อตัดวงจรอาชญากรรมดังกล่าว

สำหรับประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายหลักที่ใช้บังคับ โดยมีการกำหนดมาตรการทางอาญาในการลงโทษผู้กระทำผิดฐานฟอกเงิน และมาตรการทางแพ่งในการขอให้ทรัพย์สินจากการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน

ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของไทย การกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ได้แก่ การกระทำในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้ (1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ (2) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (3) ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งจะเห็นได้ว่าการฟอกเงินนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธีการทีเดียว เช่น การเปิดบริษัทเป็นธุรกิจบังหน้า การซื้อสังหาริมทรัพย์มีค่าอย่างเช่นทองคำแท่ง เพชร ฯลฯ การลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การถือทรัพย์สินแทน เป็นต้น โดยผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดอาญาเองโดยตรง แต่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าว ก็จะถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินได้

ทั้งนี้ ความผิดฐานฟอกเงินข้างต้นจะต้องเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับ “ความผิดมูลฐาน” หรือ “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ซึ่งหมายถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอน เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว รวมทั้งดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย

หากกล่าวโดยย่อแล้ว ความผิดมูลฐานที่เข้าข่ายกฎหมายฟอกเงิน ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับ 1. ยาเสพติด 2. ค้ามนุษย์ ค้าหญิงและเด็ก 3. ฉ้อโกงประชาชน 4. ยักยอก ฉ้อโกง กระทำทุจริต โดยกรรมการหรือผู้จัดการของสถาบันการเงิน 5. ความผิดต่อหน้าที่ราชการ หรือความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ 6. กรรโชก รีดเอาทรัพย์ โดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร 7. ลักลอบหนีศุลกากร 8. การก่อการร้าย 9. จัดให้มีการเล่นการพนันโดยมีวงเงินตั้งแต่ห้าล้านบาท หรือผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 10. การเป็นสมาชิกอั้งยี่ หรือการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรม 11. การรับของโจรเฉพาะที่มีลักษณะเป็นการค้า 11. ปลอมแปลงเงินตรา แสตมป์ ฯลฯ อันมีลักษณะเป็นการค้า 13. การปลอมหรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า หรือมีลักษณะเป็นการค้า 14.ปลอมเอกสารสิทธิ์ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ พาสปอร์ต เป็นปกติธุระหรือเพื่อการค้า 15. ใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบอันมีลักษณะเป็นการค้า 16. ประทุษร้ายชีวิตหรือร่างกายอย่างสาหัสเพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน 17. หน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ 18. ลักทรัพย์ ชิงปล้น ฉ้อโกง อันมีลักษณะเป็นการค้า 19. โจรสลัด 20. การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฯลฯ 21. ค้าอาวุธหรือยุทธภัณฑ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าความผิดมูลฐานในภาพรวมนั้นก็คือ ความผิดร้ายแรงที่กระทบต่อสังคมในวงกว้าง หรือมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม

สำหรับทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดฟอกเงินนั้น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ได้กำหนดมาตรการทางแพ่งเอาไว้ว่า หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินใดที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแล้ว คณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายนี้มีอำนาจที่จะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกินเก้าสิบวัน และในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคําร้องขอให้ศาล (ศาลแพ่ง) มีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว โดยหากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จําหน่าย หรือยักย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เลขาธิการฯ จะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคําขอฝ่ายเดียวร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวก่อนศาลมีคำสั่งก็ได้

เมื่อศาลรับคําร้องที่พนักงานอัยการยื่นต่อศาลแล้ว ศาลจะทำการประกาศคำร้องเพื่อให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินมายื่นคําร้องขอก่อนศาลมีคำสั่ง และถ้ามีหลักฐานแสดงว่าผู้ใดอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน ก็ให้เลขาธิการฯ มีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบ โดยตรงด้วย ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ให้เลขาธิการฯ ขอให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นําทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินด้วยในคราวเดียวกัน

สำหรับผู้ยื่นคำร้องขออ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น จะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ

เมื่อศาลไต่สวนคําร้องของพนักงานอัยการแล้ว หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคําร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคําร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สิน (ถ้ามี) ฟังไม่ขึ้น ศาลก็จะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไป แต่หากศาลเห็นว่าทรัพย์สินตามคําร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลก็จะสั่งคืนทรัพย์สินนั้นไป

สำหรับประชาชนและภาคธุรกิจนั้น เมื่อจะรับเงินหรือทรัพย์สินใดๆ จากบุคคลอื่น ก็ควรพึงระวังหรือตรวจสอบให้ดีว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นมีที่มาที่ไปชัดเจนหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ และควรหลีกเลี่ยงที่จะรับเงินหรือทรัพย์สินที่ดูมีข้อพิรุธหรือไม่น่าไว้ใจ เพราะหากทรัพย์สินที่รับหรือได้มานั้นมีแหล่งที่มาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินเสียแล้ว ผู้รับก็อาจตกเป็นผู้ต้องหาว่าเป็นผู้กระทำผิดฐานฟอกเงินได้ ซึ่งมีระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


กำลังโหลดความคิดเห็น