xs
xsm
sm
md
lg

‘โรคแบงก์ล้ม’ ยังทรงๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



“ใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้ล้มได้” หรือ “Too big to fail” อาจจะเป็นคำพูดในยุคที่สถาบันการเงินและบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ เผชิญกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จากปัญหาฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลบารัค โอบามา ต้องเข้าไปอุ้ม อัดฉีดเงิน

ขัดหลักการ Moral Hazard ของสหรัฐฯ ที่ปล่อยให้กิจการอ่อนแอล้มไป แต่ยุค 2008 ถ้าล้ม สหรัฐฯ จะพังทั้งระบบ สถาบันธุรกิจขนาดใหญ่ไม่รอด

ล่าสุดเกิดกรณี Bank Run หรือ run on bank เกิดขึ้นกับธนาคาร Silicon Valley Bank มีขนาดใหญ่อันดับ 16 ของโลก ล้มภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากลูกค้ารายใหญ่และเล็ก แห่ไปถอนเงินเพราะข่าวลือว่าธนาคารจะล้ม

และ SVB ก็ไปไม่รอด แต่รัฐบาลเข้าไปอุ้มเงินฝาก ครอบคลุมทั้งระบบเพราะกลัวปรากฏการณ์ธนาคารล้มเป็นโรคระบาดเหมือนไฟลามทุ่ง

ในความเป็นจริง สถาบันไหนใหญ่แค่ไหนก็ล้มได้ ถ้าไม่มีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือจากรัฐบาล ถ้าเป็นธนาคารต้องอัดฉีดเงิน หรือให้ธนาคารอื่นเข้าไปอุ้ม

การอุ้มอาจเป็นการประคองสถานะ เสริมสภาพคล่อง เพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้น ออกหุ้นกู้ถ้ายังมีเครดิตเหลือ หรือเข้าไปควบรวมกิจการด้วยการแลกหุ้น

สภาวะวิกฤตที่คุกคามธนาคารและสถาบันการเงินในโลกตะวันตกขณะนี้ยังไม่น่าไว้ใจเมื่อประชาชนและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในระบบ ว่ามีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นได้จริงหรือไม่ คำประกาศของผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลังไร้พลัง

นั่นเป็นเพราะข้อมูลข่าวสาร ความคิด ความเชื่อ การตัดสินใจ บนพื้นฐานของความตื่นตระหนกทำให้ผู้ฝากเงินทั้งนักลงทุนและรายย่อยแห่ถอนเงินจากธนาคารในสหรัฐฯ จนทำให้ขาดสภาพคล่องอย่างแรง เร็วเกินกว่าจะแก้ไขได้ทัน

ทุกธนาคารไม่มีเงินสดเท่ากับเงินฝาก ถ้าถอนไม่ได้ คนยิ่งแตกตื่น จะลามไปธนาคารอื่นๆ เพราะเห็นการล้มทั้งระบบมาแล้ว ดังเช่นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำปี 1930

ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ SVB ถูกถอนเงินภายใน 48 ชั่วโมง ก็อยู่ไม่รอดเพราะการขายทรัพย์สินเพื่อเสริมสภาพคล่องก็ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างมาก

ไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใดที่จะสามารถรับกับสภาพการแตกตื่นถอนเงินของลูกค้าได้ เว้นแต่จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารอื่นๆ หรือรัฐบาล

ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค ในแคลิฟอร์เนีย ต้องถูกอุ้มโดย 11 ธนาคารซึ่งนำโดยเจพี มอร์แกน เชส และซิตี้กรุ๊ป ถึงอยู่รอดได้แต่ ยังต้องเสี่ยงว่าจะรอดตลอดไปหรือไม่

คำรับรองของผู้นำสถาบันหลักของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพียงแค่ทำให้ตลาดหุ้นและการตื่นถอนเงินทุเลาชั่วคราวแต่ยังมีแรงกระเพื่อม

นักวิเคราะห์เป็นเครือข่ายสถาบันวิจัยสังคมวิทยา 4 นายจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในสหรัฐฯ ระบุว่ามีธนาคารในสหรัฐฯ อย่างน้อย 189 ซึ่งเป็นธนาคารขนาดเล็กและธนาคารระดับท้องถิ่นมีความเสี่ยงด้านขาดสภาพคล่อง และขาดทุน

ดังนั้น สถานการณ์ในสหรัฐฯ ยังไม่นิ่ง คนฝากเงินหายใจไม่ทั่วท้อง ฝ่ายรัฐก็เช่นเดียวกัน หวังว่ามาตรการต่างๆ จะไม่ทำให้การแห่ถอนเงิน เกิดขึ้นอีก

ข้อตกลงจะควบรวมกันระหว่างสองธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ยูบีเอสและเครดิต สวิส เมื่อวันอาทิตย์ยังไม่ได้สร้างความมั่นใจต่อสถาบันการเงินว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี ตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียเปิดพร้อมกับตัวแดงทั่ว

เมื่อพิจารณาข้อตกลงระหว่างสองธนาคารสวิตเซอร์แลนด์เห็นได้ว่าเป็นความพยายามของธนาคารกลางที่จะสกัดกั้นการตื่นตระหนกของตลาดและนักลงทุน

ความพยายามของฝ่ายทางการที่ให้บรรลุข้อตกลงการควบรวมในวันอาทิตย์ถือว่าเป็นความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ แม้รัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินมากถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสภาพคล่องของธนาคารในการควบรวม

ธนาคารยูบีเอสใหญ่อันดับ 1 ในสวิตเซอร์แลนด์ขณะที่เครดิต สวิสมาเป็นอันดับ 2 ที่ผ่านมาเผชิญกับความฉาวโฉ่ เกี่ยวโยงการฟอกเงินการบริหารผิดพลาดและการปล่อยกู้ให้ลูกค้ารายใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงจนขาดทุนมหาศาล

ธนาคารยูบีเอส ตกลงที่จะจ่ายเงิน 3 พันล้านสวิสฟรังก์ สำหรับค่าหุ้นของธนาคารเครดิต สวิสซึ่งจะเท่ากับว่าหนึ่งหุ้นของธนาคารยูบีเอสเท่ากับ 22.48 หุ้นของเครดิต สวิสตามมูลค่าตลาด

โดยรวมแล้วราคาหุ้นที่ยูพีเอสต้องจ่ายมีมูลค่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดของเครดิต สวิส วันศุกร์ที่ผ่านมา ยูบีเอสจะต้องรับภาระหนี้ 5.4 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นผลของการขาดทุนของเครดิต สวิส

ข้อแตกต่างระหว่างการล้มของธนาคารในสหรัฐฯ และเครดิต สวิสก็คือธนาคารซิลิคอน วัลเลย์นั้นมีลูกค้ารายใหญ่เป็นประเภทนักลงทุนและธุรกิจด้านการเงิน เมื่อการถอนเงินโดยรายใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมากก็ขาดสภาพคล่อง

ธนาคารสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ ได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาหารายได้เพราะดอกเบี้ยของธนาคารกลางอยู่ที่ 0.8% ดังนั้นจึงหาส่วนต่างจากกำไรได้

เมื่อประธานธนาคารกลางทยอยขึ้นดอกเบี้ยจนถึง 4.57% ทำให้นักลงทุนถอนเงินไปหารายได้จากการลงทุนอย่างอื่นมากกว่าดอกเบี้ยต่ำที่ธนาคารจ่าย

การแห่ถอนเงินจำนวนมากทำให้ธนาคารไม่สามารถระดมเงินได้มากจึงต้องขายพันธบัตรด้วยราคาขาดทุนเกิดวิกฤตสภาพคล่องรุนแรง ดังนั้นธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ จึงล้มภายใน 48 ชั่วโมง แต่เครดิต สวิสมีปัญหาเน่าในเรื้อรัง ขาดทุนมาก

รากเหง้าของปัญหาต่างกัน แต่มีความอ่อนแอด้านโครงสร้างแฝงอยู่ในระบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น