พรรคเพื่อไทยประกาศว่า ไม่มีพรรคพี่พรรคน้องไม่มีพรรคสาขา ต้องเลือกพรรคเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 310 เสียง คำประกาศเช่นนั้นก็เพื่อกระตุ้นมวลชนฝั่งตัวเองให้ลงคะแนนในเชิงยุทธศาสตร์คือ ลงให้พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหมต้องตอบว่ายากมาก แม้ในอดีตสมัยที่เป็นพรรคไทยรักไทยในปี 2548 ทักษิณเคยนำทัพชนะเลือกตั้งได้ 377 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่งมาก่อน แต่ตอนนั้นประชาชนยังไม่แตกออกเป็นสองขั้วดังเช่นทุกวันนี้
พรรคเพื่อไทยหวังว่าจะได้ ส.ส.เขตประมาณ 260 ที่นั่งและได้ ส.ส.ประมาณ 50 เสียง รวมเป็น 310 ที่นั่ง นั่นเท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยต้องได้คะแนนมากกว่า 50% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,332,824 คนจากการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2565
ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ 310 เสียงจริง เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งถึง 62% ของจำนวน 500 ที่นั่ง เหลือเพียง 190 ที่นั่งหรือ 38% ให้พรรคอื่นแบ่งกัน แล้วอย่างนี้พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ ฯลฯ จะเหลือเท่าไหร่
แน่นอนว่าการแข่งขันกันจริงเพื่อวัดความนิยมนั้นแข่งกันที่ ส.ส.เขต 400 เขต เพื่อวัดความนิยมระหว่างกัน โดยมีอีก 100 บัญชีรายชื่อเป็นผลพลอยได้ ถ้าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขตถึง 260 ที่นั่งดังที่คาดหวังจริง ก็แปลว่าพรรคเพื่อไทยต้องครองใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง
หากเป็นเช่นนี้พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทยที่มีฐานมวลชนฝ่ายเดียวกับพรรคเพื่อไทยจะเหลือ ส.ส.กี่คนหรือจะบอกว่าพรรคที่เหลือที่กล่าวถึงมานี้จะได้ที่นั่งน้อยมาก เพราะว่ากันจริงแล้ว ฐานมวลชนของสองฝ่ายระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายที่อ้างตัวว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันมากขนาดนั้น แม้จะเชื่อว่าฐานมวลชนของฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะมีมากกว่าก็ตาม
โพลที่พอเชื่อถือได้เช่นนิด้าโพลสำรวจความนิยมนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองทั่วประเทศล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมปี 2565 สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้พบว่าอันดับ 1 ร้อยละ 42.95 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 16.60 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 8.30 ระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย อันดับ 4 ร้อยละ 6.95 ระบุว่าเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 5 ร้อยละ 5.35 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 5.25 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย อันดับ 7 ร้อยละ 4.00 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 8 ร้อยละ 3.40 ระบุว่าเป็นพรรคเสรีรวมไทย อันดับ 9 ร้อยละ 3.25 ระบุว่าเป็นพรรคไทยสร้างไทย อันดับ 10 ร้อยละ 1.35 ระบุว่าเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า และร้อยละ 2.60 ระบุอื่นๆ ได้แก่พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคกล้า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยภักดี พรรคประชาชาติ พรรคไทยศรีวิไลย์ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ
หากรวมความนิยมของประชาชน 4 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย ซึ่งมีฐานมวลชนในฝ่ายเดียวกันจะมีเสียงรวมกัน 66.20% หากคิดจาก ส.ส.เขต 400 ที่นั่ง จะได้ ส.ส.รวมกัน 264 คน
แล้วถามว่าหากความเชื่อของพรรคเพื่อไทยที่จะกวาดที่นั่ง ส.ส.เขตให้ได้ 260 ที่นั่งจาก 400 ที่นั่งจริง ถามว่า เป็นไปได้หรือที่จะแทบไม่เหลือที่นั่งให้พรรคการเมืองในฝ่ายเดียวกันอย่างพรรคก้าวไกลที่กำลังมาแรงและมีฐานคนรุ่นใหม่ พรรคเสรีรวมไทยที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่มีความนิยมส่วนตัวไม่น้อย เช่นเดียวกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ของพรรคไทยสร้างไทย
นั่นคือหากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.สองระบบรวมกันตามเป้า 310 คนตามที่ประกาศไว้ ก็เท่ากับว่า มวลชนแทบทั้งหมดของฝั่งที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยแทบจะต้องกาพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวในบัตรทั้งสองใบ โดยทิ้งพรรคการเมืองอื่นในฝั่งเดียวกันไปทั้งหมด
แล้วจะเป็นไปได้เหรอที่คนรุ่นใหม่เจเนอเรชัน Z ซึ่งมีอายุ 18-25 ปีที่มี 6,689,453 คนคิดเป็นร้อยละ 12.78 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด จะไม่ลงให้พรรคก้าวไกลเลยเช่นเดียวกับเจเนอเรชัน Y ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 26-41 ปีมี 15,103,892 คนคิดเป็นร้อยละ 28.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
ดังนั้น 310 เสียงของพรรคเพื่อไทยเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ 42.95% ตามที่นิด้าโพลสำรวจทั่วประเทศล่าสุดในเดือนธันวาคมก็จะได้ที่นั่ง ส.ส.เขต ประมาณ 172 ที่นั่ง หากพรรคเพื่อไทยได้บัญชีรายชื่อในสัดส่วนเดียวกันก็จะได้บัญชีรายชื่ออีก 43 คนรวมกันเป็น 215 คนเท่านั้นเอง
ซึ่งไม่ต่างกับที่ผมเคยคาดการณ์ไว้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ทั้งสองระบบประมาณ 200 คนบวกลบ ในขณะที่พรรคก้าวไกลน่าจะได้ประมาณ 50 คนบวกลบ ซึ่งต้องรอพิสูจน์ว่าจะเป็นเช่นนั้นไหม ซึ่งแน่นอนว่า อาจได้ ส.ส.ตามที่ผมคาดการณ์พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคพันธมิตรฝั่งนี้อีกจำนวนหนึ่งก็จะมีเสียง ส.ส.รวมกันเกิน 250 คนเป็นกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทำให้ปิดทางฝั่งพรรคขั้วรัฐบาลที่จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่หากอาศัยเสียง 250 ส.ว.ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แม้จะเป็นรัฐบาลได้ก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้
ความเห็นข้างบนนั้นเท่ากับผมเองก็ยอมรับนะครับว่า พรรคขั้วรัฐบาลเดิมจะแพ้เลือกตั้ง ทั้งฐานมวลชนที่น้อยกว่า ทั้งการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบที่เข้าทางพรรคเพื่อไทย และเป็นไปได้ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นการรวมกันของ 3 พรรคหลักอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงพรรคบริวารพรรคเพื่อไทยอย่างพรรคประชาชาติของวันมูหะมัดนอร์ มะทา แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถึง 376 เสียง แม้ว่าพรรคก้าวไกลที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลจะยกมือให้พรรคฝั่งนี้ตั้งรัฐบาลด้วยก็ตาม ดังนั้นจึงต้องพึ่งเสียงของ ส.ว.อีกจำนวนหนึ่งในปีกของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณที่กล่าวกันว่ามีอยู่ประมาณ 80 เสียง
ผมเห็นนักวิชาการสองสามคนบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์อาจจะเข้าร่วมรัฐบาลด้วย แต่ส่วนตัวผมไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ เพราะถ้าพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย พรรคก็จะยิ่งตกต่ำลงไปอีก
นี่หมายความว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ประมาณ 200 บวกลบอย่างที่ผมคาดการณ์ไม่ได้ถึง 310 เสียงอย่างที่พรรคเพื่อไทยประกาศอย่างอหังการในเวลานี้
แต่เข้าใจนะครับว่า การประกาศ 310 เสียงของพรรคเพื่อไทยนั้น เพื่อกดดันมวลชนฝั่งตัวเองให้เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์เพื่อจะขับรัฐบาลประยุทธ์ออกจากอำนาจให้ได้ แต่ก็อย่างที่บอกแหละว่า เป็นไปได้หรือที่มวลชนของพรรคก้าวไกลที่เป็นคนรุ่นใหม่จะทิ้งพรรคของตัวเองมาลงให้พรรคเพื่อไทยเพื่อจะให้แลนด์สไลด์ถึง 310 เสียง
ใครที่มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. 310 ที่นั่งก็ว่าไป แต่ผมฟันธงว่าไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan