xs
xsm
sm
md
lg

“ตะวัน-แบม”ประโยชน์ของใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ถ้าจนถึงบทความนี้เผยแพร่หากว่าทานตะวัน ตัวตุลานนท์หรือตะวันและอรวรรณ ภู่พงษ์หรือแบมสองนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขอศาลถอนประกันตนเองยังอดอาหารประท้วงอยู่ก็น่าจะผ่านมาเกือบสองสัปดาห์แล้ว แต่แม้อาการทั้งสองจะแย่ลง ก็ยังโชคดีที่อยู่ในการดูแลของแพทย์ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์

ทนายความของทั้งสองได้เปิดเผยรายงานของแพทย์ระบุภายใต้หัวข้อ “การสื่อสารของนางสาวทานตะวันและนางสาวอรวรรณต่อสังคม”ว่า ทั้งสองไม่กลัวตายหากการตายนี้จะนำมาซึ่งความยุติธรรมและอิสรภาพของผู้ที่ออกมาเรียกร้องและถูกดำเนินคดีเพียงเพราะต้องการการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่ลดลง การมีชีวิตและประเทศชาติที่ดีขึ้นก็ยินดีเสียชีวิต อย่างไรก็ตามเป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การตายและเห็นว่าการมีชีวิตต่อเพื่อการต่อสู้กับสิ่งที่เป็นเป้าหมายหลักสำคัญยังเป็นประเด็นที่สำคัญที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

ข้อเรียกร้องของตะวันและแบมในการขอให้ศาลถอนประกันตัวแล้วอดอาหารประท้วงคือ

1) ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2) ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง

3) พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

ในความเห็นของผมเห็นว่าข้อเรียกร้องของทั้งสองนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

ในข้อ 1 นั้นอย่างไรศาลก็ต้องบอกว่าการดำเนินคดีอยู่ในภายใต้ขอบเขตของกฎหมายอยู่แล้ว และผู้พิพากษาต่างมีอิสระในการพิจารณาคดีที่ผู้บริหารศาลไม่อาจแทรกแซงได้อยู่แล้วเช่นเดียวกัน

ข้อ 2 นั้นรัฐธรรมนูญให้เสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองก็จริง แต่หากการแสดงออกนั้นละเมิดต่อกฎหมายก็ย่อมจะต้องถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการแสดงออกนั้นมีจุดมุ่งหมายต่อระบอบและประมุขของรัฐด้วยแล้ว ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะปล่อยให้กระทำโดยเสรีแน่

ข้อ 3 เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 ไม่มีวันเป็นไปได้ เพราะมาตรา 112 เป็นมาตราที่ปกป้องประมุขของรัฐซึ่งทั่วโลกต้องมีมาตรานี้เหมือนกันหมด และมาตรา 116 เป็นมาตราที่ปกป้องระบอบของรัฐ มาตรานี้จึงเป็นหลักสากลที่ทุกรัฐต้องมี

ดังนั้นฟันธงเลยว่าข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของตะวันและแบมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ไม่ว่าจะแลกด้วยชีวิตหรือไม่ เพราะการปกป้องประมุขของรัฐและการปกป้องระบอบของรัฐนั้นย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ไม่มีรัฐไหนหรอกที่จะยอมจำนนด้วยเงื่อนไขแบบนี้

ตอนที่ขอถอนประกันตัวเองนั้นทั้งสองอ้างว่าต้องการให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีตามมาตรา 112 และ 116 ที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ แต่ถามว่า โดยหลักการของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมจะยอมต่อข้อเรียกร้องแบบนี้หรือ ถ้าเพียงแต่ใครออกมาข่มขู่และศาลจะต้องปฏิบัติตามบ้านเมืองก็จะมีกฎหมายหมู่ที่อยู่เหนือกฎหมายทันที

ข้อเรียกร้องนี้ทุกคนรู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ แต่นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการคือเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้การปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ต้องหาแต่ละคน ผู้ต้องหาต้องประสงค์เสียก่อนการพิจารณาว่าจะให้หรือไม่เรียกหลักประกันหรือไม่ควรใช้มาตรการหรือเงื่อนไขใดต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลด้วยเหตุผลเฉพาะตัวด้วยพฤติการณ์เฉพาะคนการกระทำของทั้งสองคนอาจมองได้ว่าเป็นการขู่ด้วยซ้ำ การทำร้ายตนเองเพื่อให้ศาลยอมตามข้อเรียกร้องหรือเงื่อนไขที่ต้องการไม่มีอะไรรองรับ

เราต้องเข้าใจนะครับว่าศาลมิได้ปิดกั้นการขอประกันกรณีของตะวันและแบม ศาลก็ให้ประกันตัวไปแล้ว แต่ทั้งสองไปขอถอนประกันตัวเอง

กฎหมายให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด ถ้าไม่เห็นด้วยก็ควรใช้วิธีชี้แจงแถลงไขว่าเงื่อนไขที่ศาลกำหนดนั้นไม่เหมาะสมอย่างไรเพื่อจะได้ปล่อยโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างที่ต้องการ

แต่การใช้วิธีการอดอาหารหรือทำร้ายตัวเองแบบนี้แม้จะมีคนสงสารเห็นใจหรือสดุดีในความกล้าหาญ แต่ไม่เปิดช่องให้ศาลนำมาใช้เป็นเหตุปล่อยคนอื่นๆ ได้เลย หากจริงใจที่อยากเห็นเพื่อนๆ ได้ประกันต้องใช้ช่องทางที่กฎหมายให้ไว้เท่านั้น

ไม่ว่าศาลของประเทศไหนในโลกหรอกที่จะยอมอ่อนข้อต่อข้อเรียกร้องของผู้ต้องหา เพราะเขาต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

ผมคิดว่าผู้ใหญ่หลายคนที่อยู่ข้างหลังการเคลื่อนไหวของตะวันและแบมต่างก็รู้ว่า การอดอาหารเพื่อเรียกร้องทั้งสามข้อของทั้งสองคนนั้นเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีวันจะเป็นไปได้ แต่แทนที่จะห้ามปรามหรือพูดโน้มน้าวให้ทั้งสองเปลี่ยนแปลงความคิด เรากลับได้ยินแต่เพียงคำพูดที่ว่า “เคารพการตัดสินใจของทั้งสอง”

ดูเหมือนจะมีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เท่านั้นที่มีสติและคิดได้ เขาโพสต์เฟซบุ๊กเตือนหลายครั้งถึงทนายความให้เตือนทั้งสองคนให้ยุติการอดอาหารประท้วงที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของทั้งสองคน สมศักดิ์บอกว่า ตราบใดที่มีลมหายใจก็ไม่สายเกินไปที่จะเปลี่ยนใจทนายต้องพูดกับ “ตะวัน-แบม” ตั้งแต่ตอนนี้บอกว่าวิธีนี้ไม่ได้ผลแล้วและเปลี่ยนใจเขาให้ได้อย่าให้ต้องมาคิดย้อนหลังว่า “ตอนนั้นไม่น่าเลยน่าจะลองดูให้หนักกว่านั้นหน่อย” ทำให้ “ตะวัน-แบม” เปลี่ยนใจให้ได้

หากว่าทั้งสองเสียชีวิตลงจริง อาจจะได้รับการสรรเสริญและยกย่องจากคนที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายทางการเมืองเดียวกัน อาจจะเป็นชนวนให้ออกมาชุมนุมทางการเมือง แต่ถามว่า มันเป็นไปได้เหรอที่รัฐจะยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องเหล่านี้ ก็มีแต่ทั้งสองจะเสียชีวิตไปกับข้อเรียกร้องที่เปล่าประโยชน์ ผู้ที่ได้รับประโยชน์มีเพียงคนที่ต้องการเอาชีวิตของทั้งสองมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

แต่ขณะเดียวกันผมคิดว่า ศาลก็น่าจะลองหาทางออกในเรื่องนี้โดยที่ไม่เสียหลักการเพื่อจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ด้วยการนำเอา ป.วิอาญามาตรา 71 วรรคสามมาใช้

วรรคสามระบุตอนหนึ่งว่า “ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีหรือเป็นหญิงมีครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตรมาไม่ถึงสามเดือนหรือเจ็บป่วย ซึ่งถ้าต้องขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ศาลจะไม่ออกหมายขังหรือจะออกหมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกขังอยู่นั้นก็ได้”

ซึ่งในขณะนี้ทั้งสองคนมีอาการเจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิต แล้วใช้เงื่อนไขนี้ปล่อยตัวทั้งสองคนออกจากเรือนจำ หากทั้งสองยังอดอาหารประท้วงก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแล้ว

ผมย้ำว่าการกระทำของตะวันและแบมนั้นไม่มีประโยชน์เพราะไม่มีวันได้ในสิ่งที่เรียกร้องแต่มีคนต้องการใช้ชีวิตของทั้งสองเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น