xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ส.พรรคก้าวไกล” จับมือ “ม็อบทะลุวัง” ยื่นประท้วง ปธ.ศาลฎีกา จี้ปล่อยนักโทษคดีหมิ่นเบื้องสูง-ยกเลิกมาตรา 112

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ส.ส.พรรคก้าวไกล” จับมือ “ม็อบทะลุวัง” ยื่นข้อเรียกร้อง ปธ.ศาลฎีกา ให้ปล่อยตัวนักโทษคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง-ยกเลิกมาตรา 112 ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

วันนี้ (30 ม.ค.) ที่หน้าศาลฎีกา สนามหลวง ม็อบกลุ่มทะลุวัง นำโดย น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายอนุสรณ์ อุณโณ รองศาสตราจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทำกิจกรรมเดินทางจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือและรายชื่อที่มวลชนจำนวน 6,514 รายชื่อ ซึ่งลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org แก่ประธานศาลฎีกา โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม จำเลยที่ถูกคุมขังในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ซึ่งมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2. ปล่อยนักโทษทางการเมืองทุกคน 3. พรรคการเมืองออกนโยบายยกเลิก มาตรา 112 และ 116


โดยมี นายธนากร พรวชิราภา หัวหน้าส่วนกฎหมายและระเบียบ สำนักงานประธานศาลฎีกา เป็นตัวแทนประธานศาลฎีกา

สำหรับแถลงการณ์ของม็อบทะลุวัง ที่ไปยื่นต่อศาลฎีกาพร้อม 6,514 รายชื่อ ระบุว่า

ตามที่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน, อรวรรณ ภู่พงศ์ หรือ แบม ได้ถอนการประกันตัว เนื่องจากเป็นการประกันตัวแบบมีเงื่อนไขที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ศาลอาญา มีคำสั่งคุมขังเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ทั้งสองคนจึงอดอาหารและน้ำ โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทุกคน 2. ปฏิรูปยุติธรรม ศาลเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง 3. ประกันสิทธิเสรีภาพ ยกเลิกมาตรา 112 ทั้งสองคนปฏิเสธการรักษา มีอาการสาหัส เสี่ยงอันตรายต่อการเสียชีวิต ขณะนี้สาธารณชนได้แสดงออกในการสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของตะวันและแบม โดยกลุ่มทะลุวังได้รวบรวมรายชื่อ ประชาชนจํานวน 6,000 คนที่สนับสนุนข้อเรียกร้องสามข้อของตะวันและแบบ ผ่านเว็บไซต์รณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Change.org) จึงขอเรียกร้องต่อศาลฎีกาดังต่อไปนี้


1. ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน จากการที่ราษฎรได้มีการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่รัฐบาลประยุทธ์กลับใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนและใช้มาตรา 112 และ 116 เป็นเครื่องมือในการจับกุมคุมขัง โดยที่ศาลไม่ให้ประกันตัว หรือให้ประกันตัวแต่มีเงื่อนไขหลายประการที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน เป็นเหตุให้ทั้งสองคนอดอาหารและน้ำ ดังนั้น จึงขอให้ศาลฎีกาได้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของราษฎรด้วยการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทุกคน

2. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีความเป็นอิสระ เปิดเผย โปร่งใส เนื่องจากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในกระบวนการพิจารณาคดี ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้บริหารเป็นผู้พิจารณาสั่งการอันเป็นการแสดงถึงการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาที่ทำให้ขาดความโปร่งใส ไม่เป็นที่ยอมรับต่อสังคม จึงขอให้ศาลฎีกาประกาศโดยชัดแจ้งให้กระบวนการพิจารณาคดีปราศจากการแทรกแซงจากผู้บริหาร และผู้มีอำนาจหน้าที่ส่งผลต่อความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของราษฎร

3. ประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร จากการใช้กฎหมายมาตรา 112 และ 116 อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการยุติการดำเนินคดีที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของราษฎร ดำเนินการในการยกเลิกมาตรา 112, มาตรา 116
กำลังโหลดความคิดเห็น