xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงไพโรจน์” ร่วม “ยืนหยุดขัง” เสียชีวิต “เจ๊จุก คลองสาม” ถามความรับผิดชอบแกนนำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ “ลุงไพโรจน์” เสียชีวิต จากการร่วมกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากเพจเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา
“อานนท์” แจ้ง “ลุงไพโรจน์” เสียชีวิต ขณะร่วม “ยืนหยุดขัง” “เจ๊จุก คลองสาม” ถามความรับผิดชอบแกนนำ “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” เตือน อดข้าวประท้วงยึดทางสายกลาง อย่าสุดโต่ง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (29 ม.ค. 66) นายอานนท์ นำภา ผู้ต้องหาคดี 112 โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

“ลุงไพโรจน์ ออกมาเดินปล่อยนักโทษการเมือง จากรัชโยธิน-ศาลอาญา วันนี้ ระหว่างที่ทนายเข้าไปยื่นประกัน ลุงหมดสติ ล้มลง และเสียชีวิตแล้ว”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า “ลุงไพโรจน์” หรือ นายไพโรจน์ โชติศรีพันธ์พร ร่วมขบวนเดินเท้าจากรัชโยธินถึงศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้นักโทษการเมือง โดยแกนนำผู้ชุมนุม คือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า เกิดอาการเป็นลม หมดสติ ล้มศีรษะฟาดพื้นหน้าศาลอาญา โดยมีความพยายามปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนเร่งส่งโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ผู้เห็นเหตุการณ์อีกรายเล่าว่า หลังจบกิจกรรมนายไพโรจน์มานั่งพักที่ป้ายรถเมล์ หน้าศาลอาญา โดยสังเกตเห็นว่า ค่อยๆ ก้มศีรษะลงและทิ้งตัวลงกับพื้น จึงคิดว่านั่งหลับ อย่างไรก็ตาม จากนั้นนายไพโรจน์ไม่รู้สึกตัว ซึ่งได้มีการทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่รู้สึกตัวอีก จึงพาขึ้นรถไปส่งที่ รพ.ราชวิถี ก่อนพบว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยทาง รพ.ได้ติดต่อทางญาติแล้ว

ด้านทวิตเตอร์ เจ๊จุก คลองสาม ได้ทวีตข้อความถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ว่า ถ้าแกนนำม็อบพาคนไปตาย คิดว่ามันจะรับผิดชอบไหมคะ? ขอแสดงความเสียใจด้วยนะคะ

ภาพ นายนันทิวัฒน์ สามารถ จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรอง ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กเรื่อง “ใจอย่ามืดบอด” ระบุว่า

“เห็นข่าวน้องอดข้าวประท้วงแล้วไม่สบายใจ อยากเตือนสติ อย่าอดข้าวเลย กองเชียร์ก็อย่ายืนหยุดขัง เสียเวลา ยืนให้ตายก็ปล่อยตัวไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมมีช่องทางมีกลไกในการทำงาน ศาลของไทยใจดี ยึดมั่นในเรื่องการปล่อยตัวคนผิดสิบคนดีกว่าลงโทษคนถูกหนึ่งคน จนชาวบ้านบ่นกันเซ็งแซ่ ว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยอ่อนแอ ศาลไม่ได้ห้ามการประกันตัว ใช้สิทธิประกันตัวก็จบเรื่อง แต่ต้องทำตามเงื่อนไขของศาล อย่าขอถอนประกันตัวเองอย่างที่เกิดขึ้น

“ทุกปัญหามีทางออก อย่าประชดชีวิตและสังคมด้วย การเอาหัวไปชนฝา มีแต่เจ็บตัวและเดือดร้อน ยึดทางสายกลางอย่าสุดโต่ง ความสุดโต่งไม่ใช่หนทางแห่งความสำเร็จ ใจมืดบอดเสียแล้ว แสงสว่างใดๆ ก็ไม่เห็น”

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การเสียชีวิตของ “ลุงไพโรจน์” จะถูกนำมาขยายผลเคลื่อนไหวทางการเมือง ผสมโรงกรณี “ตะวัน-แบม” อดอาหาร-น้ำ ประท้วง ปล่อยนักโทษการเมือง ยุติการดำเนินคดีกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง และพรรคการเมืองทุกพรรคต้องมีนโยบายยกเลิก ม.112 และ 116 หรือไม่

โดยเฉพาะประเด็น ต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้คนออกมาประท้วงจนเสียชีวิต!

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เริ่มเห็นชัด ก็คือ การรุกคืบทางการเมืองของบางพรรค ที่เดินเกม “คู่ขนาน” กับการประท้วงของ “ตะวัน-แบม” ซึ่งมีนโยบายแก้ไข ม.112 รองรับเอาไว้แล้ว

โดยเฉพาะแนวทางแก้ไข ม.112 ที่แง้มออกมา เห็นได้ชัดว่า ไม่เพียงทำให้ผู้ละเมิดกฎหมายไม่เกรงกลัว (โทษเบา) ยังอาจทำให้การละเมิด ที่มีเหตุผลโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ รอดพ้นความผิดอีกด้วย

จึงถือว่า สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือ “3 นิ้ว” แม้ว่า ยังไม่สามารถตอบสนองได้ถึงขั้นยกเลิกก็ตาม

คำถาม คือ การเสียชีวิตของ “ลุงไพโรจน์” และการประท้วงของ “ตะวัน-แบม” ถ้าถูกนำมาขยายผลทางการเมือง ใครได้ประโยชน์ และเข้าทางใครมากที่สุด นี่คือประเด็น


กำลังโหลดความคิดเห็น