ช่วงปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาทลายเพดานท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเงียบลงไปมาก เพราะพวกเขาต้องต่อสู้กับคดีความกันคนละหลายคดี บางคนยังเดินขึ้นศาลอยู่บางคนหลบหนีไปต่างประเทศแล้ว แม้ว่าบนถนนจะเงียบไป แต่ถ้าเราติดตามในโซเชียลมีเดียจะเห็นว่าพวกเขายังท้าทายอย่างไม่เกรงกฎหมายบ้านเมือง
มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่คอยช่วยเหลือพวกเขาว่า ตอนนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 225 คน ใน 243 คดี
แกนนำตัวหลักๆ โดนไปคนละหลายคดีเช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ 23 คดี อานนท์ นำภา 14 คดี ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี เบนจา อะปัญ 7 คดี ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 7 คดี พรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4 คดี ชูเกียรติ แสงวงค์ 4 คดี วรรณวลี ธรรมสัตยา 4 คดี ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี ฯลฯ
ข้อมูลจากศูนย์ทนายสิทธิบอกว่าจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 111 คดี, คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 11 คดี, คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 9 คดี, คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 47 คดี, คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติกเกอร์ เป็นต้น จำนวน 59 คดี, คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 129 คดี และไม่ทราบสาเหตุ 8 คดี
ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 17 ราย ในจำนวน 20 คดี
วันก่อนก็ยังเห็นมีคนโพสต์ภาพเพนกวิน พริษฐ์เดินโดดเดี่ยวขึ้นศาลในต่างจังหวัด และจากคดีที่โดนกันคนละหลายคดีแบบนี้ก็มีโอกาสมากที่จะติดคุกติดตะราง ถ้าเราติดตามคำพูดที่หมิ่นเหม่และท้าทายของพวกเขาผ่านเวทีชุมนุมต่างๆ เท่าที่ได้ฟังในหลายครั้งหลายหนต้องบอกเลยว่ารอดยาก
และเมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ก็จะทำให้ผู้ต้องคดีเหล่านั้นกลายเป็นผู้โดดเดี่ยวที่หน้าบัลลังก์
คำพูดที่รุ้ง ปนัสยาอ่านที่เวทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตก็ดี คำพูดที่มายด์ ภัสราวลี อ่านที่หน้าสถานทูตเยอรมนีก็ดี ไม่รู้ว่าใครเขียนยัดปากเด็กๆ เหล่านี้ ต้องถือว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นโหดเหี้ยมมาก เพราะถ้อยคำต่างๆ ที่ถ่ายทอดออกมานั้นคนที่เขียนย่อมจะรู้อยู่แล้วว่า เข้าข่ายที่จะมีความผิดตามมาตรา 112 อย่างแน่นอน
อนาคตของคนหนุ่มสาวเหล่านี้จึงจบลงที่เรือนจำหรือไม่ก็หนีคดีไปใช้ชีวิตเป็นพลเมืองชั้นสองในต่างประเทศแบบที่หลายคนเลือกเส้นทางนี้ไปแล้ว
แม้ว่าพวกเขามีกองทุนราษฎร์ประสงค์ที่คอยช่วยเหลือเยียวยาในการประกันตัว แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นที่ต้องเดินทางไปขึ้นศาล บางคนถูกดำเนินคดีในหลายจังหวัด นี่ล้วนแล้วแต่เป็นภาระที่ผู้ออกมาท้าทายจะต้องแบกรับ อาจมีแกนนำหลักบางคนที่ไม่เดือดร้อน เพราะคนรุ่นนี้ส่วนใหญ่กล้าที่จะขอเงินตรงๆ จากผู้สนับสนุนต่างจากนักสู้ในอดีตที่มักจะใช้ความระมัดระวังเรื่องนี้
ในขณะที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้เดินขึ้นศาลพวกผู้ใหญ่ที่อยู่ข้างหลัง อาจช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงินเข้ากองทุน หรือยกยอปอปั้นว่าคนเหล่านี้เป็นผู้กล้าที่กล้าทลายเพดานของสังคมไทย แต่ใครจะชดเชยกับชีวิตของพวกเขาที่จะสูญเสียไปและไม่มีวันกลับคืน ที่ออกมาต่อสู้กับโอกาสและวันเวลาที่ยากจะมาถึง
ถ้าพวกผู้ใหญ่ที่ยกยอปอปั้นอยู่ข้างหลังเห็นว่านี่เป็นความกล้าหาญเป็นความถูกต้องที่จะออกมาต่อสู้ ทำไมผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่ออกมาเอง หรือผลักดันลูกหลานของตัวเองออกมาต่อสู้ด้วยเล่า ที่แท้ก็เพราะพวกเขารู้ว่าตัวเองและลูกหลานหากทำแบบนั้นจะต้องต่อสู้กับคุกและตะรางใช่หรือไม่
แต่แม้ว่าโอกาสและการต่อสู้ของพวกเขายังมาไม่ถึง คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งที่ออกมาเสี่ยงอาจจะต้องเผชิญกับอาญาแผ่นดิน แต่ผู้กุมอำนาจรัฐก็ต้องตระหนักว่า สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นพัดโชยมาท้าทายรุนแรงขึ้นทุกวัน และเราจะรับมือกับสายลมนั้นไปได้นานแค่ไหน เราเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ตของ Blackpink ว่าอารมณ์ที่แสดงออกของคนหนุ่มสาววันนี้เป็นอย่างไร
เราจะต้องคิดหาทางออกและตระหนักว่าเราจะเชื่อมต่อประวัติศาสตร์และความภูมิใจของชาติกับคนรุ่นใหม่อย่างไร เพราะมีแต่คนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และคนรุ่นเก่าที่หวงแหนในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จะค่อยร่วงโรยไปตามวัย
อย่าว่าแต่สถาบันพระมหากษัตริย์เลยวันนี้คนรุ่นใหม่ถูกศาสดาของพวกเขากล่อมเกลาว่า พ่อแม่ก็ไม่ได้เป็นผู้มีพระคุณกับเรา ครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้มีบุญคุณกับเรา ต่างคนต่างทำหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง เราไม่ควรกราบไหว้ศาสดาองค์ไหน ไม่เข้าวัด เข้าโบสถ์ หรือมัสยิดไหน
ถ้าถามผมว่ายากไหมที่เราจะทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักต่อความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ ผมคิดว่ายากนะครับ แต่ก็คิดว่าเรายังไม่สิ้นไร้ทางออกเสียทีเดียว เรามีบทเรียนในอดีตที่คนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งเคยออกมาท้าทายเมื่อปี 2516 และ 2518 แต่ต่อมาคนเหล่านั้นจำนวนมากก็เข้าใจว่า สังคมไทยนั้นจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ และในวันที่เราขัดแย้งกันนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์นี่แหละที่จะเป็นศูนย์กลางที่ทำให้เราหันหน้าเข้าหากัน
วันนี้อาจจะยากที่จะกล่อมเกลาคนรุ่นใหม่บางคนที่ถูกครอบงำความคิดจากผู้ใหญ่ที่แอบอยู่ข้างหลัง แต่การต่อสู้ทางความคิดนั้นมันไม่มีฝ่ายไหนตีบตันจนไร้ทางออกหรอก เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้พวกเขาเข้าใจว่า สังคมไทยนั้นอยู่ได้มาถึงวันนี้เพราะเรามีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่จะร้อยรัดคนไทยเข้าด้วยกัน วันข้างหน้าหากสูญสิ้นแล้วเราจะฝากชีวิตไว้กับนักการเมืองเช่นนั้นหรือ
นี่เป็นภารกิจที่ผู้นำคนต่อไปไม่ว่าใครก็ตามที่ขึ้นมาบริหารประเทศจะต้องตระหนักว่า จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้าใจ เราอาจจะจับกุมขังดำเนินคดีกับคนรุ่นใหม่ได้จำนวนหนึ่งแต่เราขังพวกเขาไม่ได้ทุกคน เราขังความคิดของพวกเขาไม่ได้ แต่เราจะต้องชนะด้วยความชอบธรรมทำให้พวกเขาเห็นได้อย่างไรว่าสังคมไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นความดีงามที่จะต้องช่วยกันให้ดำรงอยู่ต่อไป
วันนี้เรากำลังเดินทางไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่คนรุ่นใหม่อาจสำแดงพลังด้วยการเลือกพรรคการเมืองของพวกเขา แม้ว่าวันนี้พวกเขาอาจจะยังไม่ชนะ หรือช่วยให้พรรคการเมืองของพวกเขาขึ้นมาบริหารบ้านเมืองได้ แต่พวกเขาก็มองเห็นว่าอาจไม่นานเกินไปที่พวกเขาจะประสบชัยชนะ
พรรคการเมืองที่มุ่งหวังจะช่วงชิงอำนาจกันมีใครตระหนักไหมว่า นี่ต่างหากที่จะกลายเป็นวิกฤตของสังคมไทยที่แท้จริง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan