รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชากัญชง
ประเทศไทยมีความสามารถพึ่งตนเองด้านยาในระดับที่ “ต่ำมาก” ต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศมารักษาคนไทยด้วยมูลค่าที่สูงมาก นานาชาติก็ประสบปัญหาคล้ายกัน หลายประเทศจึงตื่นตัวในเรื่องนี้กันมาก ปัจจุบันมีมากกว่า 60 ประเทศแล้วที่แก้กฎหมายกัญชา รวมทั้งการมอบสิทธิ์ในการปลูกกัญชา คืนให้แก่ประชาชน
ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศต่างๆทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย
ค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นภาระที่สำคัญของประชาชน รัฐบาล ไปจนถึงภาคธุรกิจ ก็ได้รับผลกระทบเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลให้แก่พนักงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดลง
ประเทศที่มีรายจ่ายด้านสุขภาพสูงสุด คือ สหรัฐอเมริกา มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็น ร้อยละ 17 ของรายได้ประชาชาติ [1]
แม้จะจ่ายไปมากที่สุดกลับพบว่า ดัชนีชี้วัดสถานะสุขภาพของประชาชนสหรัฐกลับ “แย่” กว่าหลายประเทศ
คนอเมริกัน จำนวน 30 ล้านคน ไม่มีประกันสุขภาพใดๆ เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะค่าใช้จ่ายแพงมาก ถึงขั้นล้มละลายได้ [2]
แม้คนที่มีประกันสุขภาพเข้าถึงบริการได้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะอยู่รอดปลอดภัย มีการศึกษาพบว่า คนอเมริกันเสียชีวิต เพราะความผิดพลาดทางการแพทย์สูงถึงปีละ 250,000 – 440,000 คน คิดเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับสาม รองจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง [3]
ตอนนี้คนอเมริกันกำลังก่อตัวเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างขนานใหญ่ เพื่อสร้างระบบการดูแลสุขภาพแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม
เป็นระบบสุขภาพที่เน้นการเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น พึ่งตนเอง และพึ่งกันเองมากขึ้น
หนึ่งในนั้น คือ การใช้ “กัญชา” ดูแลสุขภาพ เพราะกัญชามีสรรพคุณในการรักษา บรรเทา และป้องกันโรค ได้หลายโรค “กัญชา” เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงทางยาของประชาชนที่สำคัญมาก
จากการสำรวจล่าสุดในปี พ.ศ. 2565 คนอเมริกันจำนวน ร้อยละ 90 เห็นด้วยว่า “กัญชา” ควรถูกกฎหมาย [4]
คราวนี้ลองหันมาพิจารณาดูข้อมูลของประเทศไทยกันบ้าง
ประเทศไทยมีความสามารถพึ่งตนเองด้านยาในระดับที่ “ต่ำมาก” ต้องนำเข้ายาและผลิตภัณฑ์การแพทย์จากต่างประเทศด้วยมูลค่าที่สูงมาก และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติปี พ.ศ. 2564 มีมูลค่าสูงถึง 136,950 ล้านบาท [5] เพิ่มขึ้นร้อยละ 190 เมื่อเปรียบเทียบกับ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2555)
นอกจากนี้ ค่ายารักษาโรคมะเร็งก็มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีอัตราเพิ่มสูงถึงร้อยละ 16 ต่อปี คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่าการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจะสูงถึง 140,000 ล้านบาท [6] อันนี้ยังไม่นับราคาขายปลีกที่จะสูงกว่านี้ไม่ต่ำกว่า 3-20 เท่าของราคานำเข้า เมื่อค่ายาแพง ระบบประกันก็ไม่มีสตังค์พอที่จะคุ้มครองดูแล
คนไทยเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับหนึ่งมามากกว่า 20 ปี เสียชีวิตปีละ 125,000 คน [7] จะมีกี่คนที่มีรายได้เพียงพอสำหรับค่ายารักษามะเร็ง ที่สูงถึง 1,500,000 บาทต่อปี บางคนจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย เมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง เป็นเรื่องที่น่าอนาจใจยิ่งนัก
นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า กัญชามีสรรพคุณในการรักษาโรคมะเร็งได้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 หรือตั้งแต่เมื่อ 47 ปีมาแล้ว [8] แต่งานวิจัยนี้ถูกระงับการให้ทุนต่อและเก็บเข้าลิ้นชักปิดบังไม่ให้ประชาชนทราบ
เมื่อประเทศไทยแก้กฎหมายให้นำกัญชามาใช้รักษาโรคได้ จึงเกิดประสบการณ์ตรงในการใช้กัญชารักษาโรคมะเร็งจำนวนมาก พบว่า “กัญชา” ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดอาการปวดทรมาน และบางรายถึงขั้นรอดชีวิต หายจากโรคมะเร็งที่แพทย์บอกว่าหมดหนทางรักษาแล้ว [9]
นอกจากผู้ป่วยมะเร็งคนไทยจะได้ประโยชน์จากกัญชาแล้ว ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวต่างชาติก็น่าจะสนใจมารับการรักษาในเมืองไทยกันมาก ถ้ามีการเผยแพร่ข่าวสารดีๆออกไป
คนทั่วโลกป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ ปีละประมาณ 19 ล้านคน [10] ในนี้เป็นคนจีน ประมาณ 4.8 ล้านคน [11] ซึ่งอยู่ไม่ไกลและชอบมาเมืองไทย
นโยบาย Health for Wealth จึงเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้สูงมาก
“กัญชา” เป็นพืชที่มีวิวัฒนาการควบคู่มากับอารยธรรมของมวลมนุษยชาติมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนบางอารยธรรมถือว่า “กัญชา” คือพืชที่พระเจ้ามอบมาให้รับใช้ผู้คนบนโลก
การคืนสิทธิ์ในการปลูกกัญชาที่เคยมีมามากกว่า 5,000 ปี คืนให้แก่ประชาชน จึงเป็นเครื่องมือที่จะประกันความมั่นคงทางยาของประชาชน อย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ
เอกสารอ้างอิง:
[1] https://data.worldbank.org/indicator/SH.XPD.CHEX.GD.ZS?locations=US
[2] https://www.commonwealthfund.org/publications/issue-briefs/2022/sep/state-us-health-insurance-2022-biennial-survey
[3] https://www.maloneylawgroup.com/blog/2022/january/how-many-medical-malpractice-deaths-occur-per-ye/
[4] https://www.pewresearch.org/fact-tank/2022/11/22/americans-overwhelmingly-say-marijuana-should-be-legal-for-medical-or-recreational-use/
[5] https://www.statista.com/statistics/1196460/thailand-drug-and-medical-supply-imports/
[6] ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์. ผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีต่อเด็กและเยาวชน:บทเรียนจากนานาชาติ. เอกสารวิชาการหลักในงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ. ประจำปี 2565. วันที่ 14 กันยายน 2565. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. https://www.dcy.go.th/content/1636517892439/1663055417715
[7] International Agency for Research on Cancer, World Health Organization https://gco.iarc.fr/today/data/factsheets/populations/764-thailand-fact-sheets.pdf
[8] PMID: 943561
[9] https://www.sawasdeeclinic.com/
[10] https://www.iarc.who.int/biennial-report-2020-2021web/
[11] PMID: 35143424