แม้จะเป็นคำขอโทษที่มาช้ามากเป็นร้อยๆ ปี แต่ก็ยังดีกว่า ไม่มีคำขอโทษเลย
เรื่องนี้เกิดขึ้นที่สภาของประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยนายกฯ หนุ่ม มาร์ค รุตต์ (Mark Rutte) แห่งแดนทิวลิป ได้กล่าวว่า “วันนี้ในนามของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ข้าพเจ้าขอกล่าว ขอโทษสำหรับการกระทำต่างๆ ในอดีตของรัฐเนเธอร์แลนด์ ที่กระทำต่อเหล่าทาสของประเทศนี้”
เขากล่าวว่า “อดีตไม่สามารถจะลบให้หายไป, แต่เราต้องเผชิญกับความจริงและยอมรับความโหดร้ายในอดีต” ...ในขณะที่มนุษย์ถูกซื้อขายเป็นแค่สินค้าชนิดหนึ่ง ถูกเหยียดหยามใช้งานอย่างกดขี่ข่มเหง ซึ่งยุคของการใช้ทาสทำให้เกิดความเจ็บปวดแสนสาหัส ซึ่งยังสืบต่อดำรงอยู่ของชีวิตผู้คนในปัจจุบัน
เขาเรียกยุคการค้าทาสว่าเป็น “อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” นั่นเอง
ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติว่าด้วยบทบาทของรัฐเนเธอร์แลนด์กับยุคค้าทาสคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 คือเมื่อเกือบ 500 ปีมาแล้ว (เราอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ขณะนี้) ซึ่งยุคล่าอาณานิคมและการค้าทาสของเนเธอร์แลนด์คือ ช่วงยาวนานถึง 260 ปี และเป็นยุคเฟื่องฟู เป็นยุคทองของฮอลันดา (ชื่อเดิมของเนเธอร์แลนด์) ที่การค้าขายรุ่งเรืองสุดขีด (ตรงกับสมัยปลายอยุธยาของไทย ที่สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงใช้ทหารรับจ้างเป็นพวกฮอลันดาส่วนหนึ่งด้วย)
ซึ่งความรุ่งเรืองของฮอลันดาในช่วงนั้น ก็เพราะได้มีแรงงานฟรีจากทาส ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในไร่อ้อย, ยาสูบ, กาแฟ ในหมู่เกาะในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ รวมทั้งการทำงานในเหมืองใต้ดินขุดแร่ธาตุขึ้นมาสร้างบ้านแปงเมืองฮอลันดา...และบางส่วนเป็นแรงงานรับใช้เจ้านายในครัว, ในสวน (ปลูกทิวลิปด้วย) ที่ประเทศแม่อาณานิคมคือ ฮอลันดา
การละเมิดกดขี่ทาสนี้...รวมถึงการละเมิดทางเพศต่อทาสทั้งชาย, หญิง และเด็กที่ส่วนใหญ่ไปจับตัวมาจากแอฟริกา แล้วไปปล่อยไว้กับอาณานิคมของตนที่เกาะในอเมริกาใต้เช่น ซูรินาม (Suriname), เกาะนักบุญมาร์เตน (St. Martin), เกาะนักบุญเอิสตาซียึส (St. Eustatius), เกาะคูราเซา (Curacao), เกาะซาบา (Saba), เกาะอารูบา (Aruba) และเกาะโบแนร์ (Bonaire)
สำหรับการเคลื่อนไหวของเหล่าบรรดาลูกหลานทาสในประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศอาณานิคมของเขาเกิดขึ้นอย่างคึกคัก ในช่วงหลังจากเกิดขบวนการชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย (Black Lives matter) ที่เกิดจากคนผิวดำนายจอร์จ ฟลอยด์ ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอจนขาดอากาศหายใจที่เมืองมินนิอาโปลิสของสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 และเป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนไปถึงอังกฤษ ตลอดจนเมืองต่างๆ ในยุโรป (ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมและกินเลือดเนื้อของทาสมาด้วยกันทั้งนั้น)
ที่เนเธอร์แลนด์ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาของฝ่ายบริหารและสภา ในการสอบหาข้อเท็จจริงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนช่วง “ยุคทอง” ของฮอลแลนด์ ช่วงศตวรรษที่ 17 ถึง 19 (260 ปี) จนถึงมีประกาศเลิกทาสเมื่อปี 1863 (จะครบ 160 ปีในปีหน้า ค.ศ. 2033 นี้แหละ)
และยังมีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ถึงการกดขี่และความไม่เท่าเทียมทั้งด้านรายได้ โอกาสทางการศึกษา ความก้าวหน้าในอาชีพการงานของ “พลเมืองชั้นสอง” คือ คนที่ไม่ใช่ผิวขาวที่เนเธอร์แลนด์...โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการที่ยังมีเพดานแก้วสกัดคนผิวสีไม่ให้ไต่เต้าไปมีตำแหน่งความรับผิดชอบที่สูงขึ้น
เพิ่งมีเรื่องผ่านสื่อมวลชนที่กระทรวงการต่างประเทศเร็วๆ นี้คือมีการกีดกันไม่แต่งตั้งข้าราชการผิวดำให้รับงานสำคัญๆ จนทำให้รัฐบาลถูกกดดันสาหัส
นายกฯ รุตต์ ถูกกล่าวหาว่า “รีบ” ออกมาขอโทษ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ประชุมปรึกษากับกลุ่มเอ็นจีโอที่กำลังเคลื่อนไหวเรื่องนี้อยู่
โดยนายกฯ ได้ประกาศตั้งกองทุน 200 ล้านยูโร (ประมาณ 8,000 ล้านบาท) เพื่อใช้ด้านการศึกษาเพื่อยกสถานะเหล่าพลเรือนชั้นสองให้ดีขึ้น พร้อมกองทุนอีก 27 ล้านยูโร (ประมาณ 1 พันล้านบาท) สำหรับการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ช่วงยุคค้าทาส (ซึ่งก็ไม่ใช่จำนวนเงินที่มากมายนัก)
กลุ่ม 6 กลุ่มที่ได้ร่วมกดดันรัฐบาลมาเมื่อ 2-3 ปี ได้ออกมากล่าวตำหนินายกฯ ว่า ยังใช้แนวทางแบบ “เจ้าของทาส” โดยจะเป็นผู้ประกาศ “ขอโทษ” พร้อมกองทุนชดเชยความผิดพลาดในอดีต แทนที่จะเป็นการปรึกษาเจรจากับกลุ่มลูกหลานทาสเพื่อเป็นผลงานร่วมกัน
เพราะถ้ารัฐบาลประกาศก่อน ก็จะเป็นผู้สามารถกำหนดเรื่องจำนวนเงินชดเชยและเงื่อนไขการชดเชย แทนที่จะมีการปรึกษาต่อรองกับผู้ที่จะได้รับผลพวงของการชดเชย
นอกจากนั้น กลุ่มผู้เป็นลูกหลานทาสยังต้องการให้การประกาศขอโทษอย่างเป็นทางการ ควรจะทำในวันที่ 1 กรกฎาปีหน้า ซึ่งจะครบรอบ 160 ปีของการประกาศเลิกทาสที่ซูรินาม แล้วทำไมมารีบประกาศตอนนี้ ตอนที่รัฐบาลกำลังถูกโจมตีว่า มีการกีดกันการแต่งตั้งคนผิวดำเป็นทูตในกระทรวงการต่างประเทศเล่า
และกลุ่มที่กดดันให้มีการขอโทษ ยังต้องการให้เป็นการ “ขอโทษ” จากพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งในอดีตเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารและจอมทัพ ในการออกคำสั่งดำเนินการล่าเมืองขึ้น (ควบคู่ไปกับกลุ่มพ่อค้าเอกชนที่อาศัยใบบุญของพระมหากษัตริย์ในการแผ่อิทธิพลไปยังเมืองขึ้น เพื่อนำทรัพยากรและทาสมาใช้งาน)
ซึ่งขณะปัจจุบัน พระราชาธิบดีเนเธอร์แลนด์ก็ได้ตั้งคณะที่ปรึกษาพิเศษในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลรีบออกมากล่าวขอโทษเสียก่อนเท่านั้น