ในที่สุด 2 ลุงก็แยกทางกัน แม้จะยังไม่คอนเฟิร์ม 100% แต่แนวโน้มน่าจะเป็นเช่นนั้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดอย่างไรจึงตัดสินใจเช่นนั้น ในสถานการณ์ที่โพลบอกว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และเสียงข่มขู่ของทักษิณว่าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์
หรือว่าพล.อ.ประยุทธ์ยังเชื่อมั่นว่าตัวเองยังมีความนิยมอยู่หลังเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วกว่า 8 ปี หรือพล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่ามวลชนที่ชื่นชมตัวเองนั้นยังซุ่มซ่อนเป็นพยัคฆ์หมอบอยู่มิได้สำแดงพลังผ่านโพล แต่จะออกมาแสดงพลังในหีบเลือกตั้ง
ต้องยอมรับความจริงนะครับว่า การเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้นยังมีกระแสของพล.อ.ประยุทธ์อยู่ แต่ฐานจริงๆ ก็อยู่ใน กทม.และภาคใต้ที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้รับเลือกตั้งมาหลายเขต ส่วนในพื้นที่อื่นนั้นเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่พรรคกวาดต้อนมาจากพรรคการเมืองอื่นด้วยอำนาจของ คสช.ไม่ใช่เพราะกระแสของพล.อ.ประยุทธ์
แล้วถามว่าวันนี้กระแสของพล.อ.ประยุทธ์ยังหลงเหลืออยู่ไหม คำตอบที่เรามองเห็นจากโพลก็คือ วันนี้คนกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งหันไปเลือกพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล รูปธรรมที่ปรากฏชัดก็คือการเลือกตั้ง ส.ก.ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกส่วนใหญ่มาจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล
คนกรุงเทพฯ ที่คิดว่าจะเป็นฐานของฝ่ายอนุรักษนิยมวันนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แม้พวกเขาจะอยู่ใกล้ใจกลางของอำนาจสดับรับรู้ข่าวสารของม็อบและพรรคการเมืองที่ท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในเขตใจกลางเมืองที่เป็นศูนย์รวมที่เราคิดว่าเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงอย่างเขตสาทร วัฒนา ยานนาวา ราชเทวี พญาไท บางซื่อ พระนคร ก็เลือก ส.ก.พรรคก้าวไกลทั้งนั้น
ไม่ต้องพูดถึงในภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ที่คนส่วนใหญ่บอกว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งสะท้อนถึงนัยการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายต่อสภาพของสังคมไทย
พล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะรู้ตัวนะว่า ตัวเองอาจเป็นปราการด่านสำคัญที่จะปกป้องการเปลี่ยนแปลงที่จะท้าทายต่อสถาบันหลักของประเทศ ที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความคิดต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ คนรุ่นใหม่จำนวนมากศรัทธาต่อผู้นำของพวกเขาที่ไม่เอาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พวกเขาคิดว่า พวกเขาเป็นพลเมืองของโลกไม่ใช่ชาติไหน พวกเขาไม่ศรัทธาในศาสนาใดๆ ไม่ไหว้พระเจ้าองค์ไหน และแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างท้าทายชัดแจ้งบนท้องถนน และเรียกร้องคนเท่ากันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
พล.อ.ประยุทธ์มีอะไรถึงมั่นใจว่า เขาจะนำพาพรรคใหม่ให้กลับมาชนะได้อีก และคิดว่าจะรับมือกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นได้ ในขณะที่กระแสลมของฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังจะอ่อนแรง ทำไมถึงได้เลือกทางออกที่จะมาอยู่พรรคการเมืองใหม่และแยกทางกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่จะแย่งชิงมวลชนในฝั่งเดียวกันเอง
คนส่วนหนึ่งอาจจะบอกว่าเป็นการแยกกันเดินรวมกันตีเพื่อปลอบขวัญฝ่ายตัวเองว่ายังมีความหวังที่จะชนะเลือกตั้งได้ แต่ก็น่าจะย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในกติกาที่ได้เปรียบมากก็ยังชนะมาแค่ฉิวเฉียดและแพ้เสียงของพรรคเพื่อไทยที่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ด้วยซ้ำไป แล้วครั้งนี้ใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ในกติกาที่พรรคยิ่งได้รับการเลือกตั้งเขตมากจะยิ่งได้บัญชีรายชื่อมาก ลองประเมินดูสิว่าจะชนะพรรคเพื่อไทยได้ไหม
เราอาจจะบอกว่า มวลชนที่เคยเลือกพรรคพลังประชารัฐ เพราะความนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ น่าจะยังติดตามตัวพล.อ.ประยุทธ์ไปเมื่อไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นไม่ได้มีตัวเลือกอื่นให้เลือกมากนัก เพราะไม่มีใครโดดเด่นเลยไม่ว่าจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ทั้งสองคนมีคะแนนอยู่ท้ายๆ ของโพล แต่มั่นใจไหมว่า เสียงของมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมจะมากพอที่จะทำให้พรรคชนะเลือกตั้งได้ คำตอบของผมก็คงต้องบอกว่า ยากมาก
ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้นคนที่เลือกพล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะใช่มวลชนที่คลั่งไคล้และศรัทธาพล.อ.ประยุทธ์เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีคนกลางๆ จำนวนหนึ่งด้วยที่เลือกพล.อ.ประยุทธ์เพราะเชื่อมั่นว่าจะทำให้บ้านเมืองสงบ แต่ความเป็นจริงนั้นสวนทางกันเพราะพอพ้นยุคสมัยที่อยู่ใต้อำนาจปลายกระบอกปืนของ คสช.มาสู่ยุคหลังเลือกตั้งแล้ว สถานการณ์การเมืองก็กลับมาวุ่นวายเหมือนเดิม มิหนำซ้ำความขัดแย้งทางการเมืองยังลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
วันนี้คนกลางๆ ที่เคยเลือกพล.อ.ประยุทธ์ยังจะเลือกอีกไหม เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ผ่านการบริหารบ้านเมืองมาแล้วกว่า 8 ปี ต้องยอมรับนะครับว่า กระแสความต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นเซ็งแซ่ไปทั่ว ถ้าเราสดับตรับฟังเสียงของสังคม ด้านหนึ่งคือ คนเริ่มเบื่อและมองเห็นแล้วว่าศักยภาพของพล.อ.ประยุทธ์นั้นมีเพียงไหน แม้ว่าอาจจะโชคร้ายที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดและสงคราม แต่คนจำนวนหนึ่งก็เห็นแล้วว่า ความสามารถในการนำพาบ้านเมืองของพล.อ.ประยุทธ์นั้นมีความจำกัด และเขาต้องการความเปลี่ยนแปลงใหม่จากผู้นำที่ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ที่เกิดกับโลกทุกวันนี้ ต้องการผู้นำที่มีความรู้ความสามารถและวิสัยทัศน์ที่จะนำพาบ้านเมืองให้รอดพ้นจากวิกฤตไปได้
เสียงของมวลชนฮาร์ดคอทั้งสองฝั่งอาจจะมีปริมาณที่ไม่แตกต่างกันนักและอาจจะไม่สามารถชี้ผลแพ้ชนะได้ แต่คนกลางๆ ที่เขาไม่ยึดติดกับตัวบุคคลและฝักฝ่ายต่างหากที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าฝ่ายไหนจะชนะ ถามว่าวันนี้คนกลางๆ ยังต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์นำพานาวาของบ้านเมืองต่อไปไหม โพลต่างๆ ที่สำรวจความนิยมทางการเมืองของคนในสังคมนั่นแหละน่าจะเป็นคำตอบ
แน่นอนว่ายุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงและท้าทายอาจจะยังไม่เกิดขึ้นทันที แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะแพ้เลือกตั้ง และแม้ประชาชนจะเคยประสบกับการแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อนเมื่อเข้ามาบริหารบ้านเมืองของพรรคเพื่อไทย และมีการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลจนถูกประชาชนออกมาต่อต้าน แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้อันตรายต่อสถาบันหลักของชาติเพราะทักษิณเจ้าของพรรคมีจุดมุ่งหมายว่าเขาจะได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย แม้เราจะยังมองไม่เห็นหนทางนอกจากทักษิณจะยอมกลับมาติดคุกเสียก่อนแล้วหวังว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ
การที่ทักษิณได้กลับมาถืออำนาจรัฐภายใต้พรรคการเมืองของเขาก็อาจจะเพื่อเป็นพลังต่อรองที่จะได้กลับมาแผ่นดินเกิดเท่านั้นเอง
แต่อนาคตข้างหน้าภายใต้การบริหารประเทศมายาวนานกว่า 8 ปีนั้น พล.อ.ประยุทธ์มองเห็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไหม และมั่นใจไหมว่าจะรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถามว่าการอยู่ในอำนาจกว่า 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์นั้นเป็นการรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดหรือเป็นตัวเร่งวิกฤตไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย คำตอบก็คงทราบกันอยู่
แล้ว 2 ปีที่เหลืออยู่จากนี้ของพล.อ.ประยุทธ์จะนำพาบ้านเมืองไปทางไหน จะรับมือกับอนาคตและวิกฤตที่จะเกิดขึ้นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ได้คิดบ้างไหม นอกจากความปรารถนาที่จะรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้เท่านั้น
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan