ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยการเลือกผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส.เป็นรูปแบบเบื้องต้นของการปกครองระบอบนี้ ดังนั้น ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ตามหลักการหรือทฤษฎีแห่งวิชารัฐศาสตร์ จะต้องเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ตนเห็นว่ามีศักยภาพพอที่จะนำพาประเทศ และประชาชนไปสู่อนาคตที่ดีในทุกด้านที่ประชาชนต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยใช้หลักเกณฑ์ในการเลือกพรรคและคนของพรรคดังต่อไปนี้
1. พรรคการเมืองที่ควรจะได้รับเลือก จะต้องมีองค์ประกอบหรือคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1.1 มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งชัดเจน ว่าต้องการเข้ามารับใช้ประเทศและประชาชน
1.2 เมื่อได้รับเลือกเข้ามาแล้วได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านนิติบัญญัติ และด้านบริหาร (ในกรณีที่พรรคได้เป็นรัฐบาล) ว่าได้ทำตามวัตถุประสงค์นั้น
1.3 ในการปราศรัยหาเสียงก่อนการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะต้องมีนโยบายในแต่ละด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนโดยรวม และสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนไปในปัจจุบัน และจะเปลี่ยนไปในอนาคต
1.4 ผลงานในอดีตที่ผ่านมาของพรรคในฐานะเป็นองค์กรทางการเมือง และของบุคลากรทางการเมืองของพรรคในฐานะเป็นปัจเจก โดดเด่นเป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยรวม มิใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มทุนของพรรคหรือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค
1.5 ในอดีตที่ผ่านมา พรรคไม่เคยตกเป็นจำเลยทางสังคม และจำเลยของกระบวนการยุติธรรมในคดีโกงกิน ทุจริต คอร์รัปชัน ทำให้บ้านเมืองเสียหาย
2. ผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ควรจะได้รับเลือก จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
2.1 มีความรอบคอบ รอบรู้ในด้านต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ในการทำหน้าที่ผู้แทนของปวงชน ทั้งจะต้องมีคุณธรรมกำกับการใช้ความรู้ ความสามารถ เพื่อป้องกันมิให้ใช้ความรู้ ความสามารถแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
2.2 ในอดีตที่ผ่านมา มีผลงานในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนหรือในฐานะพลเมืองของประเทศ เป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียในด้านจริยธรรม และเป็นที่หวาดระแวงของผู้คนในสังคม
ส่วนพรรคและบุคลากรทางการเมืองของพรรคที่ควรจะได้รับเลือก จะต้องมีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
จากนี้ไปอีกไม่กี่เดือนประเทศไทยก็จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.อีกครั้ง และในครั้งนี้ก็คงไม่แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาคือ มีพรรคการเมืองหลายพรรค มีทั้งที่เกิดขึ้นใหม่และพรรคการเมืองเก่า แต่เท่าที่มองเห็นว่าพอจะมีศักยภาพในการแข่งขันทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง และมีโอกาสได้รับเลือกเข้ามามากพอที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีอยู่เพียง 3 พรรคคือ
1. พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านอยู่ในขณะนี้
2. พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและเป็นพรรคคู่แข่งของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอีสาน
3. พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ แต่ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ถ้าอนุมานจากปัจจัยภายในพรรคแล้ว เชื่อได้ว่าพรรคนี้คงจะเป็นคู่แข่งของพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งกับพรรคภูมิใจไทยก็คงจะแข่งกันได้ยาก เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีจุดขายทางการเมือง เฉกเช่นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ส่วนพรรคที่เป็นพรรคขนาดกลาง และขนาดค่อนข้างเล็กได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคชาติไทย คงจะได้ ส.ส.ไม่มากพอที่จะเป็นแกนนำ แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนเป็นแกนนำ และจะเชิญใครเข้าร่วมรัฐบาล
พรรคนอกจากกล่าวมาแล้วข้างต้น น่าจะเป็นพรรคต่ำสิบหรือไม่ได้รับเลือกเลย ยกเว้นพรรคก้าวไกลคงจะได้รับเลือกเข้ามาพอสมควร แต่โอกาสได้เป็นรัฐบาลคงจะยาก เนื่องจากนโยบายแก้มาตรา 112 ทำให้ตนเองโดดเดี่ยว
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งออกไปเลือก และให้ดูเงื่อนไขการเลือกและไม่เลือกข้างต้น ก็จะทำให้การเมืองไทยดีขึ้นได้แน่นอน แต่ถ้าเลือกแบบเดิมๆ ก็จะได้การเมืองแบบเดิมไม่มีอะไรดีขึ้น